รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในระหว่างที่มารดาให้นมลูก แม้ว่าในช่วงหกเดือนแรก หากมารดาให้นมแม่อย่างเดียว และมารดายังไม่มีประจำเดือนมา การให้นมลูกนั้นก็ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการคุมกำเนิดที่มีความปลอดภัย ดังนั้น หากมีคำถามว่า มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุมกำเนิดได้หรือไม่ คำตอบย่อมแน่นอนว่า “ได้” ประเด็นทีสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ การที่ต้องมีความรู้ในการเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดในช่วงที่มารดามีการให้นมลูกอย่างเหมาะสม ซึ่งแต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้
- การใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนรวม ในระยะแรกหลังคลอดจะมีการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจากการคลอดรก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดหลั่งของน้ำนม ดังนั้นเมื่อมีการใช้ฮอร์โมนในระยะแรกหลังคลอดจึงกระทบต่อกระบวนการนี้ การเริ่มใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโดยใช้ในระยะแรกหลังคลอดโดยเฉพาะในระยะที่มารดายังอยู่ที่โรงพยาบาลก่อนการอนุญาตให้กลับบ้านอาจส่งผลต่อการสร้างปริมาณน้ำนมได้1,2
- การใช้ยาฉีดคุมกำเนิดและยาฝังคุมกำเนิสามารถใช้ได้โดยไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- การใช้ห่วงอนามัยทั้งชนิดที่ไม่มีฮอร์โมนและมีฮอร์โมนสามารถจะใช้ได้ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดหรือในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอดโดยไม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่3
- การให้สามีใช้ถุงยางอนามัย ไม่มีผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
การคุมกำเนิดหลังคลอดมักเริ่มหลังจากการนัดติดตามหลังคลอดในช่วง 4-6 สัปดาห์ แต่ในสภาวะที่มารดามีความเสี่ยงสูงที่จำเป็นต้องรีบให้การคุมกำเนิด และในมารดาที่การนัดติดตามดูแลหลังคลอดทำได้ยากลำบากหรือมารดาอาจไม่ให้ความร่วมมือ การให้การคุมกำเนิดอาจเริ่มตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด โดยการหลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมน ควรเป็นทางเลือกแรก หากไม่สามารถทำได้ ควรการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนหลังจากที่น้ำนมมารดามาดีแล้ว เนื่องจากจะมีผลกระทบน้อยมาก
เอกสารอ้างอิง
- Kapp N, Curtis KM. Combined oral contraceptive use among breastfeeding women: a systematic review. Contraception 2010;82:10-6.
- Kapp N, Curtis K, Nanda K. Progestogen-only contraceptive use among breastfeeding women: a systematic review. Contraception 2010;82:17-37.
- Stanton TA, Blumenthal PD. Postpartum hormonal contraception in breastfeeding women. Curr Opin Obstet Gynecol 2019.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หลังคลอด หากมารดาให้นมลูกอย่างเดียวจะมีฮอร์โมนโปรแลคตินสูง ซึ่งจะยับยั้งการตกไข่ ทำให้ระดับของฮอร์โมนเอสโทรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ ซึ่งมีผลทำให้ความต้องการทางเพศลดลง ช่องคลอดแห้งขาดน้ำหล่อลื่น อาจมีอาการเจ็บหรือแสบขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งจากกลไกนี้ ถ้ามารดาให้ลูกกินนมอย่างเดียวสม่ำเสมอและต่อเนื่องร่วมกับมารดาไม่มีประจำเดือนมา จะถือว่าการให้นมแม่หลังคลอดเป็นวิธีการคุมกำเนิดวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดาหยุดการให้นม ประจำเดือนเริ่มมาเป็นปกติ การทำงานของฮอร์โมนก็จะกลับมาทำงานเป็นปกติ ความรู้สึกทางเพศก็จะกลับมาเป็นปกติด้วย มีการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ของมารดาที่ให้นมบุตรในช่วงหกเดือนแรกพบว่า มารดามีเพศสัมพันธ์ลดลง โดยที่ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การให้ความสำคัญกับเรื่องทางเพศของคู่สามีภรรยา การสื่อสาร คุณภาพชีวิต การได้รับคำปรึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์ และรายได้1 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ควรทำการสอบถามในเรื่องเหล่านี้ในระยะหลังคลอดด้วย เพราะในคนไทย การสื่อสารในเรื่องเหล่านี้มีจำกัด หากเราละเลยก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาหรือความขัดแย้งจากความไม่เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากการคลอดและการให้นมบุตรได้
เอกสารอ้างอิง
- Fuentealba-Torres M, Cartagena-Ramos D, Lara LAS, et al. Determinants of Female Sexual Function in Breastfeeding Women. J Sex Marital Ther 2019:1-12.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในทารกเมื่อเจริญเติบโตเข้าสู่วัยเด็ก การที่ลดหรือป้องกันการเกิดการโรคอ้วนในวัยเด็กจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเมตาบอลิกต่าง ๆ ในอนาคต เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาถึงรายละเอียดของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีผลต่อดัชนีมวลกายของทารกเมื่อเจริญเข้าสู่วัยเด็กพบว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนหรือทารกที่กินอาหารเสริมหลังอายุห้าเดือนจะสัมพันธ์กับการมีดัชนีมวลกายที่ต่ำกว่า1 ซึ่งเป็นผลต่อการป้องกันภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน ดังนั้น จากข้อมูลยิ่งส่งเสริมว่าควรปฏิบัติตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่แนะนำให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียวหกเดือนแล้วหลังจากนั้นควรเสริมอาหารตามวัยร่วมกับการกินนมแม่อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสองปีหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับมารดาและทารก นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่ามารดายังได้ประโยชน์จากการให้ลูกกินนมแม่ในการป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเมื่ออายุเข้าสู่วัยทองด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Sirkka O, Vrijkotte T, Halberstadt J, et al. Prospective associations of age at complementary feeding and exclusive breastfeeding duration with body mass index at 5-6 years within different risk groups. Pediatr Obes 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ขณะที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ และควรต้องรับประทานแร่ธาตุหรือวิตามินที่มารดามักขาดแคลน หากอยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงในการขาด สำหรับแร่ธาตุที่มักพบว่ามีการขาดแคลนในทารกที่กินนมแม่ คือ ธาตุเหล็ก โดยจะพบว่ามีความเสี่ยงในการขาดในช่วง 6 เดือน แต่มีรายงานว่าอาจพบในช่วงทารกอายุ 9 เดือนด้วย1 การที่วางแผนป้องกันความเสี่ยงในการขาดธาตุเหล็กของทารกตั้งแต่ช่วงระหว่างการคลอด โดยการชะลอการตัดสายสะดือ การับประทานธาตุเหล็กของมารดาระหว่างการให้นมบุตร นอกจากนี้ วิตามินดี ยังเป็นสิ่งที่พบว่ามีการขาดในทารกโดยที่สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้เสริมให้แก่ทารกทุกราย สำหรับข้อมูลในประเทศไทย มีการพบว่ามารดามีการขาดวิตามินดีอยู่ในสัดส่วนที่สูงขึ้น ดังนั้น การเสริมวิตามินดีอาจจำเป็นในทารกในประเทศไทยด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Clark KM, Li M, Zhu B, et al. Breastfeeding, Mixed, or Formula Feeding at 9 Months of Age and the Prevalence of Iron Deficiency and Iron Deficiency Anemia in Two Cohorts of Infants in China. J Pediatr 2017;181:56-61.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรับประทานอาหารของมารดาระหว่างการให้นมบุตรในปัจจุบันมีมากขึ้น มารดาส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยหวังว่าคุณค่าของอาหารนั้นจะส่งผ่านไปที่ลูก ซึ่งความจริงก็มักเป็นเช่นนั้น ตัวอย่างเช่น แคลเซียมซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในนมแม่ ในมารดาคนไทยที่ให้นมบุตรมีความต้องการวันละ 800-1000 มิลลิกรัม แคลเซียมที่ได้จากอาหารโดยทั่วไปพบว่าได้รับราว 400 มิลลิกรัมต่อวัน จึงมักมีความจำเป็นต้องสำหรับมารดาที่ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงหรือรับประทานแคลเซียมชนิดเม็ดเพื่อเสริมให้ได้ตามความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน มีการศึกษาพบว่ามารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการรับประทานแคลเซียมสูงกว่ามารดาที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถึง 4 เท่า1 ซึ่งสิ่งนี้น่าจะแสดงถึงความใส่ใจในเรื่องสุขภาพและการรับประทานอาหารของมารดาที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การให้ความรู้ถึงความจำเป็นของสารอาหารต่างๆ ในแต่ละชนิดแก่มารดาให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องและเลือกการรับประทานได้อย่างเหมาะสมยังคงมีความจำเป็น เพื่อให้เข้ากับหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยสร้างภูมิคุ้มกันจากการให้ความรู้มารดาที่ทำให้สามารถเลือกปฏิบัติตัวได้อย่างสมเหตุสมผล
เอกสารอ้างอิง
- Zhao J, Zhao Y, Binns CW, Lee AH. Increased Calcium Supplementation Postpartum Is Associated with Breastfeeding among Chinese Mothers: Finding from Two Prospective Cohort Studies. Nutrients 2016;8.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)