คลังเก็บป้ายกำกับ: ปัสสาวะของทารก

การเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังคลอด

breastfeeding3

เขียนโดย รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกระบวนการหลังคลอด จะเริ่มตั้งแต่การให้ผิวสัมผัสของทารกสัมผัสหน้าอกมารดาในระยะแรกคลอด ในกระบวนการนี้มีผลต่อการปรับตัวทางสรีรวิทยาของทารกแรกเกิด เพิ่มความสำเร็จในการดูดนมแม่ครั้งแรกและมีโอกาสที่ทารกจะได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานถึงอายุ 1-4 เดือนสูงกว่า1 มีการศึกษาในทารกที่คลอดก่อนกำหนดพบว่าการให้ผิวทารกสัมผัสกับมารดาในระยะแรกคลอดทำให้การดูดนมของทารกที่คลอดก่อนกำหนดดีขึ้น2

การดูดนมแม่ครั้งแรกมีผลต่อการเพิ่มปริมาณน้ำนมในวันแรกมากขึ้น การถ่ายขี้เทาของทารกดีขึ้นและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยาวนานขึ้น2 แต่หากเริ่มให้นมลูกช้ากว่า 6 ชั่วโมงแรกหลังคลอดมีผลลบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยมีโอกาสหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น3

หลังการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาต้องพยายามนำทารกเข้าเต้าด้วยตนเองให้ได้ โดยในช่วงแรกอาจทำโดยความช่วยเหลือของบุคลากรทางการแพทย์ ในกระบวนการเข้าเต้าเริ่มตั้งแต่ สังเกตลักษณะความพร้อมของทารกในการดูดนม ได้แก่ การจ้องมอง การตื่นตัว การตอบสนองต่อการกระตุ้น การดูด การนำมือหรือนิ้วเข้าปาก ลักษณะการส่งเสียงและการร้อง การตอบสนองต่อการกระตุ้นจากเต้านมของทารกโดยการอ้าปากกว้าง ลิ้นอยู่ในลักษณะรูปถ้วย และวางอยู่บริเวณเหงือกด้านล่าง ทารกจะอมหัวนมและส่วนของลานนมยาว 2 เซนติเมตรเข้าไปในปาก จากนั้นดูด ซึ่งจะดูดและหยุดสลับเป็นจังหวะต่อเนื่องกัน ได้ยินเสียงการกลืน สังเกตเห็นนมในปากทารก ทารกอาจจะปลิ้นน้ำนมออกมาขณะเรอ มีการเปลี่ยนแปลงจังหวะการดูดจาก 2 ครั้งต่อวินาทีเป็น 1 ครั้งต่อวินาที เมื่อทารกกินนมอิ่มแล้วจะปล่อยเต้านมออกมาเอง ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น หน้า แขนและมือผ่อนคลาย โดยอาจจะหลับ การจัดท่าทารกและแนวการวางตัวของทารกขณะเข้าเต้า ศีรษะทารกและลำตัวอยู่ระดับเต้านม และอยู่แนวเดียวกับลำตัว ไม่หันไปทางด้านข้าง ก้มหรือเงยจนเกินไป แนวการวางตัวของทารกที่ถูกต้องจะอยู่ในแนวของเส้นสมมุติจากหู ไปไหล่และขอบกระดูกอุ้งเชิงกราน (iliac crest) เมื่อเข้าเต้าได้เหมาะสม ควรดำเนินการให้นมตามปริมาณหรือความถี่ในแต่ละวัน4-9 ดังนี้

ปริมาณน้ำนมในวันแรกหลังคลอดบุตร ปกติเท่ากับ 3-17 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นปริมาณน้ำนมในการป้อนนมแต่ละครั้งสำหรับทารกหนัก 3 กิโลกรัมเท่ากับ 2-10 มิลลิลิตร โดยจำนวนครั้งต่อวันคือ 4-5 ครั้งต่อวัน สังเกตการขับถ่ายพบว่าปัสสาวะ 1 ครั้ง อุจจาระ 1 ครั้ง ในวันแรกหลังคลอดหลัง 1-2 ชั่วโมงแรกส่วนใหญ่ทารกจะหลับนาน10 น้ำนมแม่ยังมาน้อย จำนวนครั้งของการกินนมยังห่าง

ปริมาณน้ำนมในวันที่สองหลังคลอดบุตร ปกติเท่ากับ 10-50 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นปริมาณน้ำนมในการป้อนนมแต่ละครั้งสำหรับทารกหนัก 3 กิโลกรัมเท่ากับ 5-15 มิลลิลิตร โดยจำนวนครั้งต่อวันคือ 6-10 ครั้งต่อวัน สังเกตการขับถ่ายพบว่าปัสสาวะ 2 ครั้ง อุจจาระ 2 ครั้ง ในช่วงแรกหลังคลอดทารกจะมีน้ำหนักลดลงหากน้ำหนักลดน้อยกว่าร้อยละ 7 โดยไม่มีปัญหาเรื่องการกินนมแม่แล้วไม่จำเป็นต้องเสริมนมผสมหรืออาหารอื่น11

ปริมาณน้ำนมในวันที่สามหลังคลอดบุตร ปกติเท่ากับ 40-120 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นปริมาณน้ำนมในการป้อนนมแต่ละครั้งสำหรับทารกหนัก 3 กิโลกรัมเท่ากับ 15-30 มิลลิลิตร โดยจำนวนครั้งต่อวันคือ 8-12 ครั้งต่อวัน สังเกตการขับถ่ายพบว่าปัสสาวะ 3 ครั้ง อุจจาระ 3 ครั้ง

ปริมาณน้ำนมในวันที่สี่ถึงวันที่เจ็ดหลังคลอดบุตร ปกติเท่ากับ 80-170 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัมต่อวัน คิดเป็นปริมาณน้ำนมในการป้อนนมแต่ละครั้งสำหรับทารกหนัก 3 กิโลกรัมเท่ากับ 30-65 มิลลิลิตร โดยจำนวนครั้งต่อวันคือ 8-12 ครั้งต่อวัน สังเกตการขับถ่ายพบว่าปัสสาวะ 4-8 ครั้ง อุจจาระ 4-8 ครั้ง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงของน้ำนมจากหัวน้ำนม (colostrum) จะเปลี่ยนเป็นน้ำนมปกติภายในวันที่ห้าหลังคลอดและมีปริมาณน้ำนมเพิ่มขึ้น

การพักนอนโรงพยาบาลหลังคลอด ปัจจุบันมารดาจะพักอยู่ในโรงพยาบาลหลังคลอดประมาณ 2 วัน โดยหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนของมารดาและทารกจะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ฉะนั้นในระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล มารดาควรได้รับการดูแลให้เข้าเต้าได้อย่างถูกต้องและควรทำได้ด้วยตนเอง เพื่อจะสามารถดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขณะกลับไปอยู่ที่บ้านได้ การติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แนะนำให้ติดตามในช่วง 5-7 วันหลังคลอดเพื่อสอบถามถึงปัญหา12 ให้การสนับสนุนและกำลังใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยการติดตามอาจใช้โทรศัพท์ การนัดติดตามที่คลินิกนมแม่หรือการเยี่ยมบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่13,14

 

หนังสืออ้างอิง

1.??????????? Moore ER, Anderson GC, Bergman N, Dowswell T. Early skin-to-skin contact for mothers and their healthy newborn infants. Cochrane Database Syst Rev 2012;5:CD003519.

2.??????????? Raimbault C, Saliba E, Porter RH. The effect of the odour of mother’s milk on breastfeeding behaviour of premature neonates. Acta Paediatr 2007;96:368-71.

3.??????????? Chaves RG, Lamounier JA, Cesar CC. Factors associated with duration of breastfeeding. J Pediatr (Rio J) 2007;83:241-6.

4.??????????? Saint L, Smith M, Hartmann PE. The yield and nutrient content of colostrum and milk of women from giving birth to 1 month post-partum. Br J Nutr 1984;52:87-95.

5.??????????? Casey CE, Neifert MR, Seacat JM, Neville MC. Nutrient intake by breast-fed infants during the first five days after birth. Am J Dis Child 1986;140:933-6.

6.??????????? Yamauchi Y, Yamanouchi I. Breast-feeding frequency during the first 24 hours after birth in full-term neonates. Pediatrics 1990;86:171-5.

7.??????????? Dollberg S, Lahav S, Mimouni FB. A comparison of intakes of breast-fed and bottle-fed infants during the first two days of life. J Am Coll Nutr 2001;20:209-11.

8.??????????? Tunc VT, Camurdan AD, Ilhan MN, Sahin F, Beyazova U. Factors associated with defecation patterns in 0-24-month-old children. Eur J Pediatr 2008;167:1357-62.

9.??????????? McNeilly AS, Robinson IC, Houston MJ, Howie PW. Release of oxytocin and prolactin in response to suckling. Br Med J (Clin Res Ed) 1983;286:257-9.

10.????????? Stern E, Parmelee AH, Akiyama Y, Schultz MA, Wenner WH. Sleep cycle characteristics in infants. Pediatrics 1969;43:65-70.

11.????????? Miracle DJ, Szucs KA, Torke AM, Helft PR. Contemporary ethical issues in human milk-banking in the United States. Pediatrics 2011;128:1186-91.

12.????????? Hospital stay for healthy term newborns. Pediatrics 2010;125:405-9.

13.????????? Tahir NM, Al-Sadat N. Does telephone lactation counselling improve breastfeeding practices?: A randomised controlled trial. Int J Nurs Stud 2013;50:16-25.

14.????????? Feldens CA, Ardenghi TM, Cruz LN, Cunha Scalco GP, Vitolo MR. Advising mothers about breastfeeding and weaning reduced pacifier use in the first year of life: a randomized trial. Community Dent Oral Epidemiol 2012.