คลังเก็บป้ายกำกับ: การเสริมไอโอดีนในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร จำเป็นหรือไม่

การเสริมไอโอดีนในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร จำเป็นหรือไม่

IMG_9466

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ?ไอโอดีน ไอโอดีนจำเป็นสำหรับต่อมไทรอยด์ในการสร้างฮอร์โมนและพัฒนาการของทารก หากมารดาขาดไอโอดีนจะมีความเสี่ยงในการเกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย และทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์1 และในระหว่างการให้นมบุตร ปริมาณไอโอดีนในน้ำนมจะขึ้นอยู่ปริมาณของไอโอดีนที่มีอยู่ในมารดา โดยทั่วไปต่อมน้ำนมมีความสามารถที่จะปรับให้ระดับไอโอดีนเข้มข้นขึ้นและทำให้ไอโอดีนเพียงพอสำหรับทารกได้แม้ในมารดาที่มีการขาดไอโอดีน2 อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานไอโอดีนวันละ 150-250 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับหญิงตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตร3-5

? ? ? ? ? ? ในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมอนามัยสตรีตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนถึงร้อยละ 52.56 ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรควรรับประทานไอโอดีนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเมื่อเทียบปริมาณความต้องการไอโอดีนแล้ว สตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรควรบริโภคเกลือประมาณวันละ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชา โดยเกลือเสริมไอโอดีน?5 กรัมจะมีการเติมไอโอดีนในสัดส่วน 30-50 ส่วนในหนึ่งล้านส่วน คิดเป็นปริมาณไอโอดีนเท่ากับ 150 – 250 ไมโครกรัม สำหรับการบริโภคอาหารที่มีไอโอดีน ได้แก่ ปลาทะเล 1 ขีด (100 กรัม) จะมีไอโอดีนประมาณ 50 ไมโครกรัม สาหร่ายทะเล 1 ขีด (100 กรัม) จะมีไอโอดีนประมาณ 200 ไมโครกรัม เกลือทะเล 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชาโดยทั่วไปจะมีไอโอดีนในสัดส่วน 2-5 ส่วนในหนึ่งล้านส่วน คิดเป็นปริมาณไอโอดีนประมาณ 10-25 ไมโครกรัม จะเห็นว่าจากปริมาณไอโอดีนที่มีในตัวอย่างของอาหาร ในการรับประทานอาหารตามปกติของคนไทยมีโอกาสที่จะขาดไอโอดีนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการขาดไอโอดีน ดังนั้น การป้องกันการขาดไอโอดีนในพื้นที่ที่เสี่ยง อาจพิจารณาการเสริมไอโอดีนในน้ำดื่ม โดยใช้สารละลายโปแตสเซียมไอโอเดท หยดในน้ำดื่มของโรงเรียนหรือครัวเรือน โดยคำนวณให้ได้รับสารไอโอดีนประมาณ 150 – 200 ไมโครกรัมเมื่อดื่มน้ำวันละ 1 ลิตร7

เอกสารอ้างอิง

  1. Charoenratana C, Leelapat P, Traisrisilp K, Tongsong T. Maternal iodine insufficiency and adverse pregnancy outcomes. Matern Child Nutr 2015.
  2. Zimmermann MB. The impact of iodised salt or iodine supplements on iodine status during pregnancy, lactation and infancy. Public Health Nutr 2007;10:1584-95.
  3. Azizi F, Smyth P. Breastfeeding and maternal and infant iodine nutrition. Clin Endocrinol (Oxf) 2009;70:803-9.
  4. Andersson M, de Benoist B, Delange F, Zupan J. Prevention and control of iodine deficiency in pregnant and lactating women and in children less than 2-years-old: conclusions and recommendations of the Technical Consultation. Public Health Nutr 2007;10:1606-11.
  5. Konrade I, Kalere I, Strele I, et al. Iodine deficiency during pregnancy: a national cross-sectional survey in Latvia. Public Health Nutr 2015;18:2990-7.
  6. รายงานประจำปี กรมอนามัย 2556. In: กองแผนงาน กรมอนามัย, ed. ประเทศไทย: กรมอนามัย; 2556.
  7. แหล่งอาหารไอโอดีนตามธรรมชาติ. (Accessed November 21, 2014, at http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/iodine/chapter1/food.html.)

?

?

?