คลังเก็บป้ายกำกับ: การเตรียมการสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่กลับไปทำงาน

การเตรียมการสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่กลับไปทำงาน

mom

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

????????? มารดาที่ทำงานประจำเป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐ หรือลูกจ้าง เมื่อใกล้ครบกำหนดการลาคลอดบุตรจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวในการที่จะกลับไปทำงาน โดยการเตรียมตัวขึ้นอยู่กับลักษณะการทำงานและการสนับสนุนหรือเอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในหน่วยงานนั้น ได้แก่

ในองค์กรหรือหน่วยงานที่มีสวัสดิการบุคลากรในการจัดการให้มีการดูแลทารกลูกของบุคลากรระหว่างวัน (day care) และเปิดโอกาสให้มารดาสามารถจะมีช่วงเวลาพักสำหรับการให้นมลูกได้ หากมารดาทำงานในหน่วยงานลักษณะนี้ การปรับตัวจะน้อยเนื่องจากมารดาสามารถจะสามารถให้นมลูกได้แม้จะกลับไปทำงานแล้ว

ในองค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่มีสวัสดิการในการจัดให้มีการดูแลลูกบุคลากรระหว่างวัน มารดาจำเป็นต้องวางแผนในการหาที่ที่รับดูแลทารกในช่วงเวลากลางวันหรือในมารดาที่ทำงานใกล้บ้านอาจกลับมาให้นมลูกในช่วงเวลากลางวันได้ แต่หากมีข้อจำกัดในการให้ลูกกินนมแม่จากเต้าระหว่างช่วงกลางวัน มารดากลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับความรู้และการฝึกปฏิบัติในการบีบน้ำนมด้วยมือหรือการปั๊มนมแม่ และรู้วิธีการเก็บรักษา โดยที่หากจำเป็นต้องมีผู้ที่ต้องดูแลให้นมแม่ที่เก็บไว้แทน ผู้ดูแลควรได้รับการให้ความรู้ในเรื่องการใช้นมแม่ที่เก็บรักษาและนำมาป้อนให้กับทารก

ในองค์กรหรือหน่วยงานที่เอื้อให้มีการบีบเก็บนมแม่ อาจมีมุมนมแม่ที่มารดาสามารถบีบเก็บน้ำนมและมีตู้เย็นสำหรับช่วยเก็บรักษานมแม่ที่บีบเก็บได้ มารดาควรเตรียมกระติกหรือกล่องเก็บความเย็นที่จะใช้ใส่น้ำแข็งแช่นมแม่ขณะเดินทางกลับบ้าน เมื่อมารดากลับบ้านแล้ว สามารถจะเลือกเก็บในตู้เย็นในช่องปกติหรือช่องแข็งได้แล้วแต่ระยะเวลาการนำไปใช้ให้นมทารก อย่างไรก็ตามหากไม่มีการสนับสนุนสถานที่บีบเก็บนมแม่หรือตู้เย็นที่ใช้เก็บนมแม่ มารดาอาจบีบเก็บน้ำนมทุก 3 ชั่วโมงในห้องน้ำและนำนมแม่ที่บีบเก็บแช่ในกระติกหรือกล่องเก็บความเย็นที่ใส่น้ำแข็ง โดยการเก็บนมแม่ใส่แช่น้ำแข็งจะเก็บได้ 24 ชั่วโมง1 ซึ่งจะเพียงพอระหว่างวันในการทำงาน หลังจากกลับจากทำงาน มารดาควรให้ลูกดูดนมจากเต้านม และให้ลูกกินนมแม่ต่อในช่วงเวลากลางคืนและเช้าก่อนมารดาไปทำงาน ในช่วงระหว่างวันที่มารดาไปทำงาน สามี ปู่ย่าตายาย บุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่ดูแลสามารถนำนมแม่ที่เก็บรักษาในตู้เย็นมาให้แก่ทารกได้ โดยเลือกใช้นมแม่ที่สดและเก็บใหม่ก่อนเสมอ จากนั้นจึงใช้นมที่เก็บไว้นานกว่าโดยวัตถุประสงค์ของการให้นมในลักษณะนี้ เพื่อให้ทารกได้รับสิ่งที่ดีที่สุดจากนมแม่ อย่างไรก็ตาม แม้ทารกจะได้รับนมแม่ที่เก็บแช่ไว้ในตู้เย็นในช่องปกติหรือช่องแข็ง คุณสมบัติของนมแม่ที่นำมาใช้ก็ยังมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับทารกมากกว่านมผสม เตรียมการฝึกผู้เลี้ยงและทารกให้คุ้นเคยกับการป้อนนมด้วยถ้วยก่อนมารดากลับไปทำงาน 1-2 สัปดาห์ สำหรับวันที่หยุดงาน ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว โดยหากมีน้ำนมเหลือ แช่เก็บในตู้เย็นเพื่อนำไปใช้เมื่อมารดาไปทำงาน

หนังสืออ้างอิง

  1. Eglash A, Montgomery A, Wood J. Breastfeeding. Disease-a-Month 2008;54:343-411.