คลังเก็บป้ายกำกับ: การอบรมออนไลน์ช่วยเพิ่มทัศนคติและการปฏิบัติในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การอบรมออนไลน์ช่วยเพิ่มทัศนคติและการปฏิบัติในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีการศึกษาในประเทศอิตาลีที่ศึกษาถึงผลในระยะยาวของการอบรมออนไลน์ที่มีต่อทัศนคติและการปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทำการเก็บข้อมูลจากการออกแบบสอบถามออนไลน์ให้บุคลากรทางการแพทย์ตอบ โดยจะมี 3 ช่วงเวลาของการตอบแบบสอบถามคือ ก่อนการอบรม หลังการอบรมทันที และหลังการอบรม 1 ปี จากการสำรวจในบุคลากรทางการแพทย์จำนวนทั้งหมด 26009 ราย โดยมีผู้ที่ให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 3 ช่วงเวลาจำนวน 4582 ราย ซึ่งผู้ที่ตอบแบบสอบถามอายุเฉลี่ย 37 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 87 และเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์มากที่สุดร้อยละ 62 รองลงมาเป็นแพทย์ร้อยละ 14 เภสัชกรร้อยละ 4 ที่เหลือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่น ๆ

ผลการศึกษาพบว่า การอบรมให้ความรู้ทางออนไลน์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยเพิ่มทัศนคติและการปฏิบัติในการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรทางการแพทย์ได้1 อย่างไรก็ตาม พบว่าทัศนคติและการปฏิบัติในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้นหลังการอบรมจะลดลงตามระยะเวลา ดังนั้น ควรมีการกระตุ้นเตือนเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์คงทัศนคติที่ดีและให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยอาจจัดเป็นการให้ความรู้ทุก 2-3 เดือนในลักษณะที่มีรางวัลตอบแทนจากการตอบแบบทดสอบ (quiz) หรือทำเป็นเกมส์ต่อคำ (crossword) ก็น่าจะช่วยได้ และควรจัดให้มีการฟื้นความรู้สม่ำเสมอทุกปี (refresher course)

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจถึงหัวข้อเรื่องที่ต้องการให้มีการจัดอบรมและรูปแบบที่ต้องการให้จัดอบรม พบว่า เรื่องที่ต้องการให้มีการจัดอบรมมากที่สุด (training need) ได้แก่ การใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรร้อยละ 97 รองลงมา ได้แก่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 90 และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ต้องกลับไปทำงานร้อยละ 86 โดยเกือบทุกหัวข้อบุคลากรทางการแพทย์ต้องการให้จัดอบรมออนไลน์ ยกเว้นหัวข้อการจัดท่าให้นมลูก การเข้าเต้า และการดูดนมที่มีประสิทธิภาพของทารก ที่บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องการให้จัดประชุมในรูปแบบเดิม สิ่งนี้สะท้อนถึง ความจำเป็นที่ควรจะต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนหัวข้อ “การจัดท่าให้นมลูก การเข้าเต้า และการดูดนมที่มีประสิทธิภาพของทารก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีการฝึกทักษะที่การเรียนออนไลน์ไม่ได้ตอบโจทย์การสร้างทักษะเหล่านี้ให้แก่บุคลากร”

เอกสารอ้างอิง

1.        Colaceci S, Zambri F, D’Amore C, et al. Long-Term Effectiveness of an E-Learning Program in Improving Health Care Professionals’ Attitudes and Practices on Breastfeeding: A 1-Year Follow-Up Study. Breastfeed Med 2020;15:254-60.