คลังเก็บป้ายกำกับ: การปรับเปลี่ยนอาหารของมารดาอาจช่วยลดอาการโคลิกของทารก

การปรับเปลี่ยนอาหารของมารดาอาจช่วยลดอาการโคลิกของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  อาการโคลิกของทารก คือ อาการที่ทารกมีอาการร้องกวนมาก มักจะพบในช่วงทารกอายุราว 3 เดือน แต่สาเหตุของโคลิกนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เนื่องจากมีข้อมูลว่าการรับประทานอาหารที่มี FODMAPs ต่ำจะช่วยลดอาการในผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome) จึงมีผู้สนในนำมาใช้ในการลดอาการโคลิก ก่อนอื่น ๆ มาทำความรู้จักกับอาหารที่อยู่ในกลุ่ม FODMAPs โดยที่ FODMAPs คือกลุ่มอาหารที่มีองค์ประกอบเป็นคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่รวมหลายชนิด FODMAPs เป็นคำย่อมาจาก Fermentable Oligosaccharides, Disaccharides, Monosaccharides and Polyols โดยอาหารกลุ่มที่เป็น oligosaccharide คือกลุ่มที่มีน้ำตาล Fructans หรือ Galactans ได้แก่ ข้าวสาลี ขนมปัง หัวหอม กระเทียมและอาหารจำพวกถั่วชนิดต่าง ๆ  อาหารกลุ่มที่เป็น disaccharide คือกลุ่มอาหารที่มีน้ำตาลแลคโตส ได้แก่ โยเกิร์ตและผลิตภัณฑ์จากนม กลุ่มอาหารที่เป็น monosaccharides กลุ่มอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตส ได้แก่ แตงโม ไซรัปจากข้าวโพด และกลุ่มอาหารที่เป็น polyols คือกลุ่มอาหารที่มีสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น Sorbitol, Xylitol และผลไม้ที่มีเมล็ดแข็งตรงกลาง เช่น พีช พลัม เนคทารีน อะโวคาโด เชอร์รี่ มีการศึกษาเปรียบเทียบการร้องกวนของทารกในมารดาที่กินอาหารกลุ่มที่มี FODMAPs ต่ำเทียบกับกลุ่มอาหารปกติ พบว่ามารดาในกลุ่มที่กินอาหารที่มี FODMAPs ต่ำจะพบการร้องกวนของทารกสั้นกว่า อย่างไรก็ตาม กลไกการอธิบายผลลัพธ์ของการศึกษายังไม่ชัดเจน อาจต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป1                            

เอกสารอ้างอิง

  1. Iacovou M, Craig SS, Yelland GW, Barrett JS, Gibson PR, Muir JG. Randomised clinical trial: reducing the intake of dietary FODMAPs of breastfeeding mothers is associated with a greater improvement of the symptoms of infantile colic than for a typical diet. Aliment Pharmacol Ther 2018;48:1061-73.