รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การประเมินการให้นมลูกโดยใช้กราฟการเจริญเติบโตของทารก กราฟการเจริญเติบโตของทารก จะมีอยู่ในสมุดประจำตัวทารกที่โรงพยาบาลแจกให้แก่มารดาและครอบครัวก่อนการที่มารดาและทารกจะได้รับการอนุญาตให้กลับบ้าน ซึ่งอาจต้องมีการสอนหรือการแนะนำการใช้กราฟการเจริญเติบโตสำหรับการประเมินการให้นมลูก โดยที่ก่อนการใช้กราฟประเมินการให้นมลูก มารดาควรสังเกตว่ากราฟที่มีอยู่ในสมุดประจำตัวของทารกนั้นเป็นกราฟการเจริญเติบโตมาตรฐานของทารกขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization Growth Curve Standards) ที่ใช้สำหรับทารกที่กินนมแม่หรือไม่ เพราะหากใช้กราฟที่ใช้ข้อมูลของทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก อาจมีความผิดพลาดในการประเมินทารกที่กินนมแม่ นอกจากนี้ วิธีการใช้กราฟการเจริญเติบโตเพื่อการประเมินการกินนมแม่ที่เพียงพอมีข้อจำกัดที่ต้องใช้ช่วงเวลาที่ห่างกันพอควรในการติดตามดูน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงไปของทารกว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่1
เอกสารอ้างอิง
- Breastfeeding and the use of human milk. Pediatrics 2012;129:e827-41.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การประเมินการให้นมลูกโดยการชั่งน้ำหนักทารก วิธีการทำโดยการใช้การชั่งน้ำหนักทารกก่อนและหลังการกินนมแม่ (test weighing)1 โดยเครื่องชั่งจำเป็นต้องมีความละเอียดในการอ่านค่าน้ำหนัก ซึ่งมักต้องอ่านค่าน้ำหนักหน่วยเป็นกรัมพร้อมจุดทศนิยม 2 ตำแหน่ง ดังนั้น การชั่งน้ำหนักเพื่อประเมินการให้นมลูกที่บ้าน อาจมีข้อจำกัดเรื่องไม่มีเครื่องชั่งน้ำหนักที่มีความละเอียดมากพอ วิธีนี้จึงมักใช้ที่โรงพยาบาล ในหอผู้ป่วยทารกวิกฤต โดยในทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักตัวน้อย
เอกสารอ้างอิง
- Funkquist EL, Tuvemo T, Jonsson B, Serenius F, Nyqvist KH. Influence of test weighing before/after nursing on breastfeeding in preterm infants. Adv Neonatal Care 2010;10:33-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การประเมินการให้นมลูกโดยการสังเกตอาการแสดงของการให้นมลูกที่มีประสิทธิภาพของมารดาและทารก1 สังเกตได้จาก
- อาการแสดงของมารดา ได้แก่ การเริ่มมีน้ำนมมามากในวันที่ 3-4 หลังคลอด มารดารู้สึกมีแรงดูดดึงหัวนมขณะลูกดูดนมแต่ไม่เจ็บ มารดารู้สึกมีมดลูกเกร็งหรือหดรัดตัวร่วมกับมีน้ำคาวปลาไหลออกเพิ่มขึ้นขณะลูกดูดนมซึ่งจะพบได้ในสัปดาห์หลังคลอด มารดารู้สึกง่วงนอนหรือผ่อนคลายขณะให้นมลูก มารดาหิวกระหายน้ำ มารดารู้สึกเต้านมเบาหรือนุ่มขึ้นหลังการให้นม มารดาอาจรู้สึกเสียวหรือร้อนวูบบริเวณเต้านม และขณะที่ทารกดูดนมจากเต้านมข้างหนึ่งมีน้ำนมไหลจากเต้านมอีกข้างหนึ่ง
- อาการแสดงของทารก ได้แก่ ทารกเข้าเต้าได้ไม่ยาก ทารกดูดนมถี่โดยอาจพร้อมกับมีการกลืนน้ำนม ได้ยินเสียงทารกกลืนน้ำนม สามารถนำทารกออกจากเต้าได้ง่ายหลังกินนม โดยหลังกินนมทารกรู้สึกอิ่ม ทารกมีการขับถ่ายอย่างน้อย 3 ครั้งและมีการปัสสาวะ 6-8 ครั้งใน 24 ชั่วโมงหลังจากวันที่สี่หลังคลอด
เอกสารอ้างอิง
- Morton J, Hall JY, Pessl M. Five steps to improve bedside breastfeeding care. Nurs Womens Health 2013;17:478-88.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การประเมินการให้นมลูกโดยใช้การจดบันทึกการให้นมลูก ซึ่งจะมีการจดบันทึกเวลาการกินนมในแต่ละครั้ง จำนวนครั้งของการกินนมต่อวัน จำนวนครั้งของการปัสสาวะและอุจจาระ เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามความเพียงพอในการให้นมแม่ โดยมีการศึกษาในประเทศไทยที่พบว่า การนับจำนวนครั้งของการให้นมทารกอย่างง่ายมีประโยชน์ใกล้เคียงกับการจดบันทึกระยะเวลาของการดูดนมของทารกในแต่ละครั้งในการประเมินการกินนมแม่ของทารก1
เอกสารอ้างอิง
- Drewett RF, Woolridge MW, Jackson DA, et al. Relationships between nursing patterns, supplementary food intake and breast-milk intake in a rural Thai population. Early Hum Dev 1989;20:13-23.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
วิธีที่ใช้ประเมินการให้นมลูกอย่างง่าย หรือใช้ประเมินเบื้องต้นข้างเตียง อาจใช้การประเมินโดยใช้หลักคำย่อ ABC1 ซึ่งได้แก่
- A คือ attachment หมายถึงการอ้าปากอมหัวนมและลานนมซึ่งก็คือ การเข้าเต้า
- B คือ breast milk production หมายถึงการสร้างน้ำนม
- C คือ calorie หมายถึงพลังงานที่ทารกได้รับ
ซึ่งการประเมินนี้ใช้หลักคิดที่ว่า หากทารกเข้าเต้าได้ดี มารดามีการสร้างน้ำนมดี และทารกกินนมแม่ได้ตามความต้องการ ทารกจะได้รับพลังงานที่เพียงพอ จะส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตและมีพัฒนาการตามเกณฑ์ นั่นคือแสดงถึงผลการประเมินการเลี้ยงลูกนมแม่น่าจะดี
เอกสารอ้างอิง
- Morton J, Hall JY, Pessl M. Five steps to improve bedside breastfeeding care. Nurs Womens Health 2013;17:478-88.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)