คลังเก็บป้ายกำกับ: การตัดฝีเย็บ จำเป็นหรือไม่

การตัดฝีเย็บ จำเป็นหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในสมัยก่อน การคลอดมักคลอดที่บ้าน การดูแลการคลอดจะใช้หมอตำแย ซึ่งจะดูแลให้การเบ่งคลอดและการคลอดเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งจะไม่มีการตัดฝีเย็บ หมอตำแยจะพยายามช่วยให้ทารกคลอดออกมาตามกลไกการคลอด แต่หากการคลอดติดขัดหรือการคลอดเนิ่นนาน หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดเกิดการฉีกขาดของฝีเย็บที่รุนแรง ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้มารดาตกเลือดมากและอาจมีการเสียชีวิตได้ ในกรณีที่มีการฉีกขาดของฝีเย็บที่รุนแรง หากสามารถดูแลการตกเลือดได้ มารดาอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการควบคุมการเบ่งถ่ายอุจจาระ ทำให้กลั้นอุจจาระไม่ได้ เนื่องจากมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามา เริ่มมีการแนะนำให้มีการตัดฝีเย็บเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก ทำให้แพทย์แผนปัจจุบันทำการตัดฝีเย็บให้แก่ผู้คลอดทุกราย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเมื่อมีการรวบรวมเก็บข้อมูลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์พบว่า ควรพิจารณาการตัดฝีเย็บเมื่อมีความจำเป็น การตัดฝีเย็บทุกรายจะเสี่ยงต่อการเกิดการฉีกขาดของแผลที่ฝีเย็บที่มีความรุนแรงมากกว่า1,2 ทำให้มารดาปวดแผลและนั่งลำบากในช่วงแรกหลังคลอด ซึ่งส่งผลต่อการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อของมารดา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความผูกพันของมารดากับทารก หากมารดาปวดแผลมาก การให้มารดานอนลง กอดและให้นมลูกอาจจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Sulaiman AS, Ahmad S, Ismail NA, Rahman RA, Jamil MA, Mohd Dali AZ. A randomized control trial evaluating the prevalence of obstetrical anal sphincter injuries in primigravida in routine versus selective mediolateral episiotomy. Saudi Med J 2013;34:819-23.
  2. Rodriguez A, Arenas EA, Osorio AL, Mendez O, Zuleta JJ. Selective vs routine midline episiotomy for the prevention of third- or fourth-degree lacerations in nulliparous women. Am J Obstet Gynecol 2008;198:285 e1-4.