คลังเก็บป้ายกำกับ: การกินไอโอดีนระหว่างการให้นมแม่จำเป็นหรือไม่

การกินไอโอดีนระหว่างการให้นมแม่จำเป็นหรือไม่

IMG_1683

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ?แร่ธาตุไอโอดีนจำเป็นสำหรับต่อมไทรอยด์ในการสร้างฮอร์โมนและมีผลต่อพัฒนาการ ปริมาณของไอโอดีนในน้ำนมจะขึ้นอยู่ปริมาณของไอโอดีนที่มีอยู่ในมารดา โดยทั่วไปต่อมน้ำนมมีความสามารถที่จะปรับให้ระดับไอโอดีนเข้มข้นขึ้นและทำให้ไอโอดีนเพียงพอสำหรับทารกได้แม้ในมารดาที่มีการขาดไอโอดีน1 อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานไอโอดีนวันละ 250 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับมารดาที่ให้นมบุตร2,3 จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า ระหว่างการที่มารดาให้นมลูกจำเป็นต้องกินไอโอดีนหรือไม่ คำตอบคือ หากมารดาอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการเกิดการขาดไอโอดีน การกินไอโอดีนจะมีความจำเป็น เพื่อลดการขาดไอโอดีนในมารดาและทารกทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับข้อเสียของการกินไอโอดีน หากมารดารับประทานไอโอดีนขนาดเกินกว่า 500 ไมโครกรัมต่อวันเป็นเวลานาน4 อาจพบการเกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำในทารกได้ เมื่อพิจารณาถึงผลดีและผลเสียในการรับประทานไอโอดีนจึงควรมีข้อมูลของการขาดสารไอโอดีนในพื้นที่นั้นๆ

??????????? สำหรับในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมอนามัยสตรีตั้งครรภ์ขาดสารไอโอดีนถึงร้อยละ 52.55 ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรควรรับประทานไอโอดีนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเมื่อเทียบปริมาณความต้องการไอโอดีนแล้ว สตรีตั้งครรภ์และมารดาที่ให้นมบุตรควรบริโภคเกลือประมาณวันละ 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชา โดยเกลือเสริมไอโอดีน?5 กรัมจะมีการเติมไอโอดีนในสัดส่วน 30-50 ส่วนในหนึ่งล้านส่วน คิดเป็นปริมาณไอโอดีนเท่ากับ 150 – 250 ไมโครกรัม สำหรับการบริโภคอาหารที่มีไอโอดีน ได้แก่ ปลาทะเล 1 ขีด (100 กรัม) จะมีไอโอดีนประมาณ 50 ไมโครกรัม สาหร่ายทะเล 1 ขีด (100 กรัม) จะมีไอโอดีนประมาณ 200 ไมโครกรัม เกลือทะเล 5 กรัมหรือ 1 ช้อนชาโดยทั่วไปจะมีไอโอดีนในสัดส่วน 2-5 ส่วนในหนึ่งล้านส่วน คิดเป็นปริมาณไอโอดีนประมาณ 10-25 ไมโครกรัม จะเห็นว่าจากการรับประทานอาหารตามปกติมีโอกาสขาดไอโอดีนได้ ในพื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีนอาจพิจารณาการเสริมไอโอดีนในน้ำดื่ม โดยใช้สารละลายโปแตสเซียมไอโอเดท หยดในน้ำดื่มของโรงเรียนหรือครัวเรือน โดยคำนวณเมื่อดื่มน้ำวันละ 1 ลิตรให้ได้รับสารไอโอดีนประมาณ 150 – 200 ไมโครกรัม6

เอกสารอ้างอิง

  1. Zimmermann MB. The impact of iodised salt or iodine supplements on iodine status during pregnancy, lactation and infancy. Public Health Nutr 2007;10:1584-95.
  2. Azizi F, Smyth P. Breastfeeding and maternal and infant iodine nutrition. Clin Endocrinol (Oxf) 2009;70:803-9.
  3. Andersson M, de Benoist B, Delange F, Zupan J. Prevention and control of iodine deficiency in pregnant and lactating women and in children less than 2-years-old: conclusions and recommendations of the Technical Consultation. Public Health Nutr 2007;10:1606-11.
  4. Eastman CJ. Iodine in breastfeeding. Aust Prescr 2016;39:4.
  5. รายงานประจำปี กรมอนามัย 2556. In: กองแผนงาน กรมอนามัย, ed. ประเทศไทย: กรมอนามัย; 2556.
  6. แหล่งอาหารไอโอดีนตามธรรมชาติ. (Accessed November 21, 2014, at http://www.il.mahidol.ac.th/e-media/iodine/chapter1/food.html.)