คลังเก็บป้ายกำกับ: คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด

คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

กระเพาะลูกน้อยยังเล็กเมื่อแรกเกิด

ลูกน้อยเมื่อขณะอยู่ในครรภ์ของมารดาได้รับสารอาหารผ่านทางสายสะดือ ดังนั้น การพัฒนาเพื่อขยายตัวของกระเพาะอาหารจึงเกิดขึ้นเมื่อทารกเริ่มกินนมแม่ ซึ่งในระยะแรกเกิดใหม่ ๆ นั้นขนาดของกระเพาะของทารกจะรับอาหารได้ราว 5-10 มิลลิลิตร หรือขนาดเท่ากับลูกแก้วเท่านั้น จากนั้นจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นขนาดลูกปิงปองเมื่ออายุได้ราว 1 สัปดาห์ การเปรียบเทียบขนาดกระเพาะของทารกนี้ก็เพื่อให้มารดาได้เข้าใจถึงความสอดคล้องของปริมาณน้ำนมที่ผลิตในระยะแรกที่เป็นหัวน้ำนม แม้จะมีปริมาณน้อยแต่ก็มักพอดีกับการขยายตัวของกระเพาะของทารก และเมื่อน้ำนมผลิตมากขึ้นก็จะพอดีกับระยะที่กระเพาะได้มีการขยายตัวเพื่อรองรับน้ำนมแล้ว อีกสิ่งที่สะท้อนให้ทราบถึงขนาดของกระเพาะทารกที่เล็กก็คือ หากให้ทารกกินนมแล้วไม่จับเรอ ทารกก็จะแหวะนมได้ง่าย เพราะลมจะเข้าไปในกระเพาะทารกขณะกินนม ร่วมกับการที่หูรูดที่หลอดอาหารยังทำงานไม่ได้ดี เมื่อมีแรงดันที่เพิ่มขึ้นในกระเพาะทารก ทารกจึงแหวะนม ดังนั้นการกินนมที่มีปริมาณมากไปจนทารกแหวะนม จึงได้รับประโยชน์น้อยและอาจเกิดอันตรายจากการสำลักได้

คำแนะนำสำหรับการดูแลทารกหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ลูกเกิดมาเพื่อการกินนมแม่

หลังคลอดการที่มารดามีการสร้างน้ำนมก็เพื่อที่จะให้แก่ทารก ดังนั้นลูกที่เกิดมาก็เพื่อกินนมแม่ที่แม่สร้าง กลไกการกินนมของทารกนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หากให้เวลาทารกในการปรับตัว เรียนรู้ และรับรู้จากการสัมผัสบนหน้าอกของมารดา กลิ่นของลานนมและน้ำนม สีของหัวนมที่เข้มขึ้นช่วยส่งเสริมในการมองเห็นของทารกที่ดีขึ้น แต่การให้เวลาแก่ทารกควรปราศจากการรบกวน การให้สิ่งเร้าอื่น ๆ หรือการจับทารกแยกจากอกของมารดา หากมารดาสามารถเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ตั้งแต่ในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด โดยการเริ่มจากให้มารดาโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและทารกอยู่บนอกมารดานานหนึ่งชั่วโมง การได้เริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว จะส่งผลดีต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่