คลังเก็บป้ายกำกับ: การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยลดความเครียดของมารดา

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ ทำไมจึงเพิ่มความรักความผูกพัน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? การที่ทารกได้สัมผัสกับอกของมารดาโดยเนื้อแนบเนื้อจากการโอบกอดจะช่วยเพิ่มความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารก แล้วความรักความผูกพันระหว่างมารดาและทารกเพิ่มขึ้นได้อย่างไร มีคำอธิบายจากการที่ทารกได้สัมผัสผิวกับมารดาเนื้อแนบเนื้อจะกระตุ้นระบบประสาทการรับรู้ และมีผลต่อสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพและฮอร์โมนหลายตัว ได้แก่ โอปิออยด์ (opiod) ที่จะมีผลต่อการหลั่งสารเอนโดรฟิน (endorphin) ที่จะทำให้มารดามีความสุข โปรแลคตินที่จะช่วยในการสร้างน้ำนม และออกซิโทซินที่จะช่วยส่งเสริมความรักและความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ความสัมพันธ์ของการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้ จะเห็นได้จากขณะที่มารดาคิดถึงทารก จะรู้สึกมีความรักความผูกพัน และมีน้ำนมไหล มีการศึกษาถึงผลของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่มีผลต่อความรักความผูกพัน ได้จัดให้มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อในช่วงระยะแรกหลังคลอดตั้งแต่ 15-60 นาที จากนั้นติดตามผลพบว่า มารดาจะจูบและหอมทารก และจ้องหน้าทารกที่ระยะสามเดือนหลังคลอดมากกว่า มารดาจะอุ้ม สัมผัส และพูดเรื่องราวดี ๆ กับทารกที่ระยะหนึ่งปีหลังคลอดมากกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ามารดามาติดตามการนัดหมายมากกว่า และให้ลูกกินนมแม่นานขึ้นด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. Widstrom AM, Wahlberg V, Matthiesen AS, et al. Short-term effects of early suckling and touch of the nipple on maternal behaviour. Early Hum Dev 1990;21:153-63.

 

 

 

 

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว

60

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ? ? การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ (skin-to-skin contact) มีประโยชน์ต่อทารกหลายอย่าง ตั้งแต่ช่วยให้ทารกสงบ อบอุ่น ลดการเกิดทารกตัวเย็น (hypothermia) ช่วยลดจำนวนวันของการนอนโรงพยาบาลของทารกที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต และช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงผลของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่ช่วยในการเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยพบว่า ทารกที่ได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด จะมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวที่สามเดือนหลังคลอดสูงกว่าทารกที่ไม่มีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ1 ดังนั้น การรณรงณ์ช่วยสนับสนุนให้มารดาได้โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด ควรได้รับการส่งเสริมให้เกิดเป็นวัตรปฏิบัติที่ทำกันอย่างเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องดำเนินการในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Vila-Candel R, Duke K, Soriano-Vidal FJ, Castro-Sanchez E. Effect of Early Skin-to-Skin Mother-Infant Contact in the Maintenance of Exclusive Breastfeeding. J Hum Lact 2017:890334416676469.

 

การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อช่วยลดความเครียดของมารดา

56

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?ประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อทันทีหลังการคลอดบุตรมีประโยชน์หลายอย่างต่อทารกที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว คือ การสัมผัสผิวระหว่างมารดากับทารกจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของระบบประสาท ช่วยให้ทารกควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ดีลดปัญหาเรื่องทารกตัวเย็น ลดภาวะเครียดให้กับทารกจากการปรับตัวจากสิ่งแวดล้อมในครรภ์มาเผชิญกับสิ่งแวดล้อมนอกมดลูก ซึ่งการลดภาวะเครียดของทารกจะทำให้ทารกไม่มีการใช้พลังงานสูง ระดับน้ำตาลที่จะใช้สร้างพลังงานจึงไม่ได้ใช้ไปมาก จึงช่วยลดการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในทารกแรกเกิดด้วย นอกจากนี้ การโอบกอดเนื้อแนบเนื้อยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก ทำให้เกิดความรักความผูกผันซึ่งกันและกัน โดยผ่านฮอร์โมนแห่งความรัก ได้แก่ ออกซิโตซิน ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของทารกให้ดีขึ้นจากการแลกเปลี่ยนแบคทีเรียที่ผิวหนังของมารดากับทารก ซึ่งจะเป็นการสร้างแบคทีเรียถิ่นที่ผิวหนังของทารกที่จะช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค สำหรับประโยชน์แก่มารดา มีการศึกษาพบว่า มารดาที่โอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและให้ทารกได้เริ่มกินนมหลังการผ่าตัดคลอดช่วยในลดความเครียดให้กับมารดาได้1 ซึ่งสิ่งนี้แสดงถึงประโยชน์ของการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อที่นอกจากมีประโยชน์แก่ทารกแล้ว ยังให้ประโยชน์กับมารดาด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Yuksel B, Ital I, Balaban O, et al. Immediate breastfeeding and skin-to-skin contact during cesarean section decreases maternal oxidative stress, a prospective randomized case-controlled study. J Matern Fetal Neonatal Med 2016;29:2691-6.