คลังเก็บป้ายกำกับ: การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์ในการอบรมหลักสูตรผู้ดูแลนมแม่ 20 ชั่วโมง

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีความเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวก่อนเวลาอันควรหรือมีโอกาสที่ทารกจะไม่ได้กินนมแม่สูง การดูแลและติดตามให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย แต่ในปัจจุบันยังคงมีการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษา ติดตาม ดูแลและช่วยให้ทารกได้มีโอกาสกินนมแม่มากขึ้น โดยมีการศึกษาพบว่า หากมีความขาดแคลนบุคลากรผู้ที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่คลอดก่อนกำหนด ผลของการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะขึ้นอยู่กับความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติของบุคลากรที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา1 ซึ่งผลอาจจะช่วยในกรณีที่มีการให้คำปรึกษาได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ช่วยในการสนับสนุนให้ทารกได้กินนมแม่หากการให้คำปรึกษานั้นขาดความรู้ที่ทันสมัย ดังนั้น การสนับสนุนให้บุคลากรมีความรู้ที่จะให้คำปรึกษาในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม การมีสถานที่ที่ฝึกอบรมมาตรฐานการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงมีความจำเป็น ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานที่เปิดอบรมพยาบาลเฉพาะทางด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช สถาบันสุพภาพเด็กมหาราชินี และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ จำนวนที่อบรมบุคลากรได้รายปียังไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้รับบริการที่ต้องการการให้คำปรึกษา การสนับสนุนเชิงนโยบายต่อการเปิดสถานที่ฝึกอบรมของภาครัฐและองค์กรวิชาชีพของแพทย์และพยาบาลน่าจะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ericson J, Palmer L. Mothers of preterm infants’ experiences of breastfeeding support in the first 12 months after birth: A qualitative study. Birth 2019;46:129-36.

 

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์ 

                  การที่บุคลากรทางการแพทย์จะสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้แก่ วิธีการคลอด เศรษฐานะ การกลับไปทำงานของมารดา การให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รูปแบบการดูแลโดยใช้ครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ระบบพี่เลี้ยงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการใช้สื่อเทคโนโลยีช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่(1) ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ช่วยปัจจัยที่ส่งเสริมและให้คำปรึกษาเพื่อแก้ไขปัจจัยที่เป็นอุปสรรค โดยหากสถานพยาบาลมีนโยบายและสนับสนุนบุคลากรให้ปฏิบัติตามแนวทางในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกหลายปัจจัย ซึ่งการทำการทบทวนและศึกษาเพื่อให้ได้หลักฐานเชิงประจักษ์ จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่การรณรงค์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

เอกสารอ้างอิง 

1.Sayres S, Visentin L. Breastfeeding: uncovering barriers and offering solutions. Curr Opin Pediatr 2018;30:591-6. 

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในยุคสื่อมือถือ

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ในยุคที่มือถือมีบทบาทอย่างมากจนเหมือนกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในชีวิตของคนในยุคนี้ การใช้สื่อมือถือเพื่อช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อาจเป็นสิ่งที่ตรงกับจริตในยุคของคนในปัจจุบัน มีการศึกษาถึงการใช้สื่อมือถือช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า สื่อที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีจำนวนมากที่เข้าถึงได้จากโทรศัพท์มือถือ แต่มีสื่อจำนวนน้อยที่จำเพาะเจาะจงที่เหมาะสมสำหรับรายคน นอกจากนี้ การสื่อสารผ่านมือถือผ่านระบบข้อความที่สนับสนุนทั้งการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสนับสนุนระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ตั้งครรภ์และมารดาหลังคลอด จะเป็นการสื่อสารสองทางที่มีความจำเพาะเจาะจงสำหรับรายคนมากกว่า1 ดังนั้น หากบุคลากรทางการแพทย์ มารดาและครอบครัวเลือกใช้รูปแบบการเข้าถึงข้อมูลที่เหมาะสม จะได้ประโยชน์จากการใช้สื่อมือถือในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Schindler-Ruwisch JM, Roess A, Robert RC, Napolitano MA, Chiang S. Social Support for Breastfeeding in the Era of mHealth: A Content Analysis. J Hum Lact 2018:890334418773302.

รูปแบบการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? วิธีการหรือรูปแบบในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่มีการนำมาใช้บ่อย ๆ และได้มีการนำมาศึกษาถึงผลลัพธ์ของแต่ละรูปแบบของการสนับสนุน ได้แก่ การจัดการให้ความรู้และให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะฝากครรภ์ การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลังคลอดขณะอยู่ที่โรงพยาบาล การให้สมุดพกที่มีข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญและการดูแลให้ลูกได้กินนมแม่ การจัดตารางความร่วมมือของบิดามารดาในการที่จะช่วยให้ลูกได้กินนมแม่ การจัดเผยแพร่ให้ข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่พ่อและแม่ผ่านเว็บไซด์ การจัดทำ DVD เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่พ่อและแม่ การส่งอีเมล์สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่พ่อและแม่ในสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สามหลังคลอด และการโทรศัพท์ติดตามการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่สัปดาห์ที่สองหลังคลอด พบว่าการให้คำปรึกษาในระยะหลังคลอดขณะอยู่ในโรงพยาบาลทั้งพ่อและแม่เห็นว่ามีประโยชน์มากที่สุด และการแจกสมุดพกที่มีข้อมูลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีการนำมาใช้มากที่สุด1 จากกรณีนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่า การให้ข้อมูลคำปรึกษาจะได้รับความสนใจและเห็นประโยชน์มากก็ต่อเมื่อผู้รับการให้คำปรึกษาอยู่ในช่วงระยะที่ต้องพบเจออุปสรรคนั้น นอกจากนี้ การแจกสมุดพกที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดานำมาใช้ประโยชน์ได้มากเนื่องจากสมุดพกเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมารดาที่สุด เมื่อต้องการใช้ข้อมูลก็สามารถนำมาใช้ได้โดยง่าย ทำให้การเข้าถึงข้อมูลทำได้โดยง่าย ดังนั้นควรมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพของรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์แก่มารดาและครอบครัวในประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมสามารถเลือกใช้รูปแบบการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสมและคุ้มค่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Abbass-Dick J, Dennis CL. Maternal and paternal experiences and satisfaction with a co-parenting breastfeeding support intervention in Canada. Midwifery 2018;56:135-41.

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ธรรมเนียมปฏิบัติรวมทั้งการนับศาสนาเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากความเข้าใจในแก่นแท้ของศาสนาและการยึดติดกับธรรมเนียมปฏิบัติบางอย่าง หากไม่มีการชี้แจงให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์หรือความต้องการหลักของข้อปฏิบัติต่าง ๆ อาจทำให้การปฏิบัติบางอย่างอาจมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากบุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลมารดาที่นับถือศาสนาที่แตกต่างกันในชุมชน การทำความเข้าใจกับข้อปฏิบัติของศาสนาต่าง ๆ เพื่อการให้คำปรึกษาและแนะนำการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จะเป็นสิ่งที่มารดาและครอบครัวปฏิบัติได้โดยไม่ขัดกับข้อปฏิบัติทางศาสนา ในประเทศไทยมีมารดาที่นับถือศาสนาพุทธมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ศาสนาอิสลาม และศาสนาคริสต์ เมื่อมีมารดาที่นับถืออิสลามฝากครรภ์และคลอด ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แม้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ควรให้ความสำคัญกับโต๊ะอิหม่ามหรือผู้นำทางศาสนาในชุมชน1 เพราะหากผู้นำทางศาสนาในชุมชนมีความเข้าใจถึงความจำเป็นและความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว การอธิบายการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยสอดคล้องกับข้อปฏิบัติทางศาสนาจะทำได้ดี เข้าใจง่าย และสื่อได้ถึงใจมารดาและครอบครัวมากเสียยิ่งกว่าการอธิบายหรือแนะนำโดยบุคลากรทางการแพทย์ ดังนั้น การขอความช่วยเหลือจากโต๊ะอิหม่ามในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จะแก้ไขหรือลดข้อแนะนำที่อาจมีความขัดแย้งกับข้อปฏิบัติในทางศาสนา ซึ่งจะเป็นทั้งผลดีต่อมารดาและทารกรวมทั้งช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ในกรณีที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลมารดาที่นับถือศาสนาคริสต์ ก็อาจใช้หลักในการที่จะช่วยสื่อความเข้าใจในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทำนองเดียวกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Kamoun C, Spatz D. Influence of Islamic Traditions on Breastfeeding Beliefs and Practices Among African American Muslims in West Philadelphia: A Mixed-Methods Study. J Hum Lact 2018;34:164-75.