กรณีตัวอย่าง กลัวลูกจะไม่ได้กินนม และแนวทางในการดูแล

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สมหญิงรอคุณที่เป็นแพทย์ผู้ดูแลมาตรวจอยู่ที่หอมารดาหลังคลอด เธอคลอดบุตรเมื่อ 24 ชั่วโมงก่อน เธอกังวลเกี่ยวกับลูกของเธอที่ง่วงนอนและเธอเชื่อว่าลูกจะไม่ได้กินนม พยาบาลบอกคุณว่าเธอขอนมผงดัดแปลงสำหรับทารกให้ลูกของเธอ เมื่อคุณเข้าไปในห้องของเธอ คุณจะเห็นทารกถูกห่อในผ้าห่มอย่างอบอุ่นและเริ่มที่จะขยับตัว คุณในฐานะแพทย์ผู้รับผิดชอบดูแลมารดาและทารกหลังคลอดจะมีแนวทางในการดูแลมารดาและทารกในรายนี้อย่างไร?

แนวทางที่เหมาะสมในการดูแลมารดาและทารกรายนี้1  มีดังต่อไปนี้

1. หาข้อมูลก่อนว่ามารดาได้ให้นมลูกไปมากน้อยแค่ไหนแล้วโดยการพูดคุยกับมารดาและเจ้าหน้าที่และดูข้อมูลในเวชระเบียน (โดยตรวจดูปริมาณปัสสาวะและอุจจาระ และน้ำหนักของทารก)

2. ตรวจร่างกายทารก ซึ่งขณะนี้น่าจะเกินช่วงเวลาที่ทารกจะมีอาการง่วงนอนที่พบเป็นปกติหลังคลอดแล้ว การทีสังเกตพบว่าทารกขยับตัวอาจบ่งบอกถึงความต้องการหรือความพร้อมที่จะกินนมแล้ว ซึ่งการตรวจร่างกายของคุณจะเป็นกระตุ้นทารกด้วย

3. เมื่อทารกตื่น ขอให้มารดาให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งควรทำสังเกตทารกขณะกินนมแม่ ดูการเข้าเต้า และดูว่าทารกดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ (โดยฟังเสียงการกลืนนมของทารก) สำหรับการแนะนำการปรับเปลี่ยนท่าที่ให้นมให้มีความเหมาะสมนั้น ควรทำเมื่อมีความจำเป็น

4. ตรวจดูจุดสังเกตต่าง ๆ ที่บ่งชี้ว่าทารกมีการอมหัวนมและลานนมหรือการเข้าเต้าที่ดีไปพร้อมกับมารดา และพยายามมุ่งเน้นในการฟังเสียงการกลืนนมของทารก

5. ตรวจดูลักษณะหรือสัญญาณที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมอย่างเพียงพอไปพร้อมกับมารดา (ทารกจะมีลักษณะอิ่มเอมหรือรู้สึกพึงพอใจหลังการกินนม มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และอาจสังเกตได้จากปริมาณของอุจจาระและปัสสาวะ)

6. ทบทวนพื้นฐานของการสร้างและการคงให้มีน้ำนมอย่างต่อเนื่องไปกับมารดา (การให้ทารกดูดนมแม่บ่อย ๆ และการระบายน้ำนมออกจะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม ควรให้ทารกกินนมจากเต้านมข้างแรกจนกระทั่งเกลี้ยงเต้าแล้วจึงเสนอเต้านมอีกข้าง) การใช้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกจะรบกวนการสร้างน้ำนมหากไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจน

7. หากพบว่ามารดามีปัญหาในการให้นมทารกควรส่งต่อมารดาและทารกไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือทีมงานที่ดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อทำการฝึกทักษะในการให้นมลูกอย่างเป็นระบบ และไม่ควรอนุญาตให้มารดากลับบ้านจนกว่าการให้นมลูกจะทำได้ดี

8. คำแนะนำก่อนที่จะอนุญาตให้มารดากลับบ้าน ควรครอบคลุมถึงสิ่งต่อไปนี้

  • หากอนุญาตให้มารดากลับบ้านเร็วก่อน 48 ชั่วโมงหลังคลอด ควรต้องนัดติดตามมารดาและทารกภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากกลับบ้าน
  • หากอนุญาตให้มารดากลับบ้านหลัง 48 ชั่วโมงหลังคลอด ควรนัดติดตามมารดาและทารก 2-3 วันหลังจากนั้น
  • แนะนำเบอร์โทรศัพท์สายด่วนที่มารดาสามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • ให้ข้อมูลแก่มารดาว่า สถานการณ์ใดที่ควรขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลปฐมภูมิ และสถานการณ์ใดที่ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • แนะนำการบันทึกแบบบันทึกการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประจำวัน เพื่อให้มารดาบันทึกจำนวนครั้งของการให้นมแม่และการเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เปียกแฉะหรือเปื้อนอุจจาระ
  • ให้เอกสารหรือพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในชุมชนและกระตุ้นให้มารดาเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าว

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

การวางแผนอนุญาตให้มารดากลับบ้าน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การวางแผนอนุญาตให้มารดากลับบ้าน1 เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมให้มารดาสามารถจะปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมในกรณีที่พบปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รายละเอียดของการวางแผนอนุญาตให้มารดากลับบ้าน ควรครอบคลุมในหัวข้อต่อไปนี้

  • มารดาควรได้รับสังเกตและประเมินว่ามีการให้นมลูกที่มีประสิทธิภาพก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน รวมทั้งได้รับคำแนะนำอื่น ๆ ที่จำเป็นด้วย
  • จัดให้มีการนัดติดตามมารดาและทารกหลังคลอด 3-5 วัน (หรือภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล) โดยในระหว่างการนัดติดตาม ควรมีการชั่งน้ำหนักทารก สอบถามเรื่องความถี่และลักษณะของการปัสสาวะและอุจจาระของทารก ตรวจร่างกายและสังเกตการดูดนมแม่ของทารก และในการนัดติดตามทุกครั้ง ควรมีการสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ชื่นชมและให้กำลังใจในกรณีที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ควรสอบถามถึงปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้การวินิจฉัยและให้คำปรึกษาแนวทางในการแก้ไขตั้งแต่ในระยะแรก
  • หากปัญหาเกิดขึ้นก่อนการนัดติดตาม มารดาควรได้รับคำแนะนำว่าต้องติดต่อใครและในกรณีที่ฉุกเฉิน มารดาควรทำอย่างไร

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ชุมชนที่เป็นมิตรกับทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

บางคนอาจสงสัยว่า ชุมชนที่เป็นมิตรกับทารก (Baby Friendly Communities) คืออะไร ก็ต้องบอกว่าคือ โครงการต่อเนื่องจากความสำเร็จของบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และโครงการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกในการสนับสนุนมารดาและครอบครัวที่ต้องการให้ทารกและเด็กเล็กได้รับอาหารที่ดีและเหมาะสมที่สุด การขยายแนวคิดเหล่านี้ให้นอกเหนือไปจากการดำเนินงานในโรงพยาบาลเข้าสู่ชุมชนจึงเกิดขึ้น โดยชุมชนเริ่มที่จะนำแนวคิดนี้ไปปรับ “บันไดสิบขั้น” ไปใช้กับสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล ซึ่งได้มีการดำเนินการในกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎระเบียบที่รองรับสำหรับมารดาที่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมในที่ทำงาน โดยมีการสนับสนุนให้มีการนำทารกไปที่ทำงาน และจัดสถานที่รับเลี้ยงทารกรองรับ จับคู่และจัดเวลาของมารดามีช่วงเวลาที่จะให้นมทารกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งมีการจัดสถานที่ที่เหมาะสมในการบีบหรือปั๊มนมขณะที่มารดาอยู่ที่ทำงาน1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในปี ค.ศ.1992 กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกได้จัดทำโครงการระดับนานาชาติเพื่อพัฒนา ประเมิน และรับรองโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกตามความสมัครใจ โดยใช้ “บันไดสิบขั้น” เป็นแกนหลักในการดำเนินงาน  ซึ่งหลักฐานของ “การเป็นแบบอย่างของผู้เรียกร้อง (Code Compliant)” หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้รวมอยู่ในเกณฑ์การประเมิน ทำให้หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นเสมือนบันไดขั้นที่สิบเอ็ด เกณฑ์ของการเป็น“ Code Compliant” คือโรงพยาบาลต้องไม่รับการให้ฟรีหรือรับบริจาคนมผงดัดแปลงสำหรับทารก แต่ต้องทำการจัดซื้อเพื่อใช้ในโรงพยาบาล นอกจากนี้ โรงพยาบาลต้องไม่อนุญาตให้มีการใช้การส่งเสริมทางการตลาดโดยการแจกนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในชุด“ ของขวัญ” ที่มอบให้ฟรีกับคุณแม่คนใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน1

หมายเหตุ  คู่มือโดยละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดชอบเฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่มีการเผยแพร่โดยศูนย์เอกสารข้อกำหนดระหว่างประเทศ (International Code Documentation Center หรือคำย่อคือ ICDC) สำหรับสำเนาเอกสารนี้สามารถติดต่อขอได้จากสำนักงานเครือข่ายปฏิบัติการด้านอาหารทารกระหว่างประเทศ (International Baby Food Action Network หรือคำย่อคือ IBFAN) ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

ข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องสามารถค้นได้จากเว็บไซต์ต่อไปนี้:

International Baby Food Action Network: www.ibfan.org

World Alliance for Breast feeding Action (WABA): www. waba.org.my

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

ประวัติของหลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 มีการใช้กลไกทางด้านการตลาดของอาหารทดแทนนมแม่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะแข่งขันกับการให้นมแม่ในทารกแรกเกิด โดยเริ่มพบในพื้นที่บางส่วนของแอฟริกาและภูมิภาคอื่น ๆ ในช่วงยุคแรกที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในพื้นที่เหล่านี้ได้สังเกตพบว่า ทารกที่ได้รับอาหารทดแทนนมแม่จะสัมพันธ์กับการเพิ่มการพบภาวะทุพโภชนาการ อาการท้องร่วง และการเสียชีวิตของทารกในพื้นที่เฝ้าระวัง มีผลทำให้หน่วยงานที่ดูแลสุขภาพระหว่างประเทศและประชาชนทั่วไปเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก จนกระทั่งในปี ค.ศ.1981 หลังจากที่มีการประชุมระหว่างประเทศหลายครั้งและมีการศึกษาทางข้อกฎหมาย เหล่าประเทศสมาชิกของสมาคมสุขอนามัยโลก (World Health Assembly หรือคำย่อคือ WHA) ยกเว้นสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยมีมติกำหนด หลักเกณฑ์ที่ว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง (The International Code of Marketing of Breastmilk Substitutes หรือใช้คำย่อว่า code นมแม่) ซึ่งหลักเกณฑ์นี้จะได้รับการปรับปรุงทุก 2 ปีผ่านการเห็นชอบของ WHA โดยจะมีการกำหนดแนวทางสำหรับบริษัทที่ผลิตและทำการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ขวดนมและจุกนม และแนวทางสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่จะให้คำแนะนำในการใช้อาหารทดแทนนมแม่สำหรับทารกป่วย และบทบาทของรัฐบาลที่มีหน้าที่รับผิดชอบสุขภาพของประชาชน1

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)