การเจาะเลือดฝากครรภ์นั้น ตรวจอะไรกันบ้าง?

 

? ? ? ? ? การฝากครรภ์ จะเริ่มต้นที่การพูดคุย ซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจหน้าท้อง ตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจปัสสาวะยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจเลือดดู หมู่เลือด (โดยมีหมู่เลือดสองชนิดที่ต้องตรวจคือ หมู่เลือดเอบีโอที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย โดยแบ่งหมู่เลือดเป็นหมู่เอ หมู่บี หมู่เอบีและหมู่โอ ส่วนหมู่เลือดอีกชนิดคือหมู่เลือดอาร์เอช (Rh) ซึ่งจะแบ่งเป็นหมู่เลือดอาร์เอชบวกและอาร์เอชลบ ความจำเป็นในการตรวจเลือดนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่จำเป็นต้องใช้เลือดโดยเร่งด่วน และบอกสาเหตุอาการเหลืองของทารกแรกเกิดจากเลือดของแม่และทารกไม่เข้ากันได้ เลือดหมู่ที่หากยากและจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษได้แก่ หมู่เลือดโอและเป็นหมู่อาร์เอชลบ) ความเข้มข้นของเลือด ขนาดและลักษณะของเม็ดเลือดแดงเพื่อดูโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของสารในเม็ดเลือดแดงคือ ฮีโมโกลบิน และโรคธาลัสซีเมีย โรคเหล่านี้มีผลให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก แตกง่ายและอายุสั้น ทำให้เกิดอาการซีด (ปกติบางแห่งจะทำการตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงของการเกิดโรคของทารกที่มีมารดาที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคโดยการตรวจเลือดของทั้งสามีและภรรยาตั้งแต่การฝากครรภ์ครั้งแรก) ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี เอดส์ และตรวจดูภูมิคุ้มกันของหัดเยอรมันโดยหากพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกัน หลังคลอดแพทย์จะทำการฉีดวัคซีนให้เพื่อป้องกันการติดเชื้อของหัดเยอรมันในระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งหน้า

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

จำเป็นต้องเลือกแพทย์เฉพาะทางทางสูตินรีเวชด้วยหรือไม่?

 

? ? ? ? ? โดยปกติแล้ว การคลอดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่วนใหญ่ พยาบาลเป็นผู้ทำคลอด ในกรณีที่มีความผิดปกติจึงได้รับการดูแลด้วยแพทย์ ยิ่งแพทย์เฉพาะทางทางสูตินรีเวชก็มีเฉพาะตามโรงพยาบาลจังหวัด หรือโรงพยาบาลอำเภอใหญ่ๆ เท่านั้น? ดังนั้น ในการฝากครรภ์ หากตรวจแล้วเป็นครรภ์ปกติไม่มีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนก็สามารถดูแลการคลอดโดยพยาบาลหรือแพทย์ทั่วไปได้ สำหรับความเสี่ยงในปัจจุบันที่พบบ่อยขึ้นเนื่องจากมีการแต่งงานช้าคือ การตั้งครรภ์ในคุณแม่ที่มีอายุมากเกิน 35 ปี ซึ่งต้องมีการแนะนำการเจาะน้ำคร่ำ หากผู้ป่วยตัดสินใจเลือกที่จะตรวจ การเจาะตรวจน้ำคร่ำนั้นจำเป็นต้องตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางทางสูตินรีเวช ซึ่งแพทย์ทั่วไปสามารถแนะนำและส่งมาเจาะตรวจเมื่ออายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ หลังจากตรวจ หากปกติ ก็สามารถฝากครรภ์ต่อที่ที่ฝากครรภ์เดิมได้

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

เลือกหมออย่างไร และจะฝากครรภ์ที่ไหนดี?

 

? ? ? ? ? การฝากครรภ์ ค่านิยมที่มีในปัจจุบัน? คุณแม่มักจะเลือกฝากครรภ์กับคุณหมอที่มีชื่อเสียง ซึ่งบางครั้งต้องเดินทางไกล หมอท่านมีคนไข้มาก ไม่มีเวลาดูแล คุยกันได้เดี๋ยวเดียวหมดเวลา จึงสร้างความลำบากและไม่เหมาะสม หากจะแนะนำการเลือกคุณหมอและสถานพยาบาล แนะนำว่าในกรณีที่มีคุณหมอประจำอยู่แล้ว ให้เรียนปรึกษาขอคำแนะนำจากคุณหมอประจำได้ หากไม่มี แนะนำให้เลือกก่อนว่า จะฝากครรภ์ที่ไหน โรงพยาบาลรัฐบาล หรือเอกชน ซึ่งสามารถเลือกได้แล้วแต่กำลังทรัพย์และความต้องการความสะดวกสบาย โรงพยาบาลรัฐบาล ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และการคลอดราว 3,000-6,000 บาทสำหรับการคลอดทางช่องคลอดปกติ และ 12,000-20,000 บาทสำหรับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง สำหรับโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และการคลอดราว 30,000-60,000 บาท สำหรับการคลอดทางช่องคลอดปกติ และ 40,000-90,000 บาทสำหรับการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง หากเลือกโรงพยาบาลรัฐบาล เมื่อไปฝากครรภ์และพบแพทย์ ก็จะได้รับการดูแลตามปกติซึ่งอาจจะพบกับคุณหมอหลายๆ ท่าน ในแต่ละครั้งของการนัดและการคลอด แต่หากต้องการตรวจและคลอดกับคุณหมอท่านใดท่านหนึ่งเป็นพิเศษ ต้องเรียนปรึกษาคุณหมอท่านนั้น หรือฝากพิเศษซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคุณหมอและผู้ฝากครรภ์นั้นๆ เนื่องจากเป็นความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย ข้อจำกัดของการฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลของรัฐบาลก็คือ ผู้ป่วยมาก รอนาน แม้จะมีการปรับปรุงพัฒนาเรื่องการให้บริการแล้วก็ตาม การตรวจที่คลินิกนอกเวลาราชการก็เป็นทางออกทางหนึ่ง หากเลือกโรงพยาบาลเอกชน ในกรณีที่มีคุณหมอประจำอยู่แล้วจากโรงพยาบาลรัฐบาลหรือเอกชนก็แล้วแต่ ควรปรึกษาหมอเพื่อเลือกสถานพยาบาลที่พร้อม มีการประกันคุณภาพการรักษา สะดวกและใกล้บ้าน ถ้าไม่มีคุณหมอประจำอาจพิจารณาเลือกตรวจกับคุณหมอท่านใดท่านหนึ่งก่อน หากพูดคุยกันรู้เรื่อง สามารถให้คำปรึกษาได้ดีก็ขอฝากเป็นคนไข้ประจำ หากมีปัญหาเรื่องการสื่อสารคุยกันไม่รู้เรื่อง อาจพิจารณาขอเปลี่ยนคุณหมอได้เพราะเป็นสิทธิของผู้ป่วยอยู่แล้ว

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

เมื่อตรวจพบว่าตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์เมื่อไร?

 

? ? ? ? ? เมื่อคุณแม่ตรวจพบว่าตนเองตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ทันที เพราะเมื่อไปฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย เจาะเลือด ตรวจปัสสาวะและแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม เพื่อให้ครรภ์สมบูรณ์แข็งแรง ป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น สำหรับการเลือกสถานพยาบาลที่ฝากครรภ์ ควรเป็นที่ที่สะดวกในการเดินทาง โดยใกล้บ้านหรือใกล้ที่ทำงาน จะทำให้สะดวกในการฝากครรภ์ เนื่องจากจำเป็นต้องตรวจครรภ์เป็นระยะๆ ระหว่างฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาเก้าเดือน

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

การนับลูกดิ้น

การนับลูกดิ้น

 

การดูแลครรภ์ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งครอบครัวและแพทย์ผู้ดูแลการฝากครรภ์ ในระหว่างการฝากครรภ์ แพทย์จะนัดตรวจครรภ์ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งจะทำการตรวจคุณแม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นไปตามระยะปกติของการตั้งครรภ์หรือไม่ ตรวจฟังอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจทารก และสอบถามอาการแทรกซ้อนต่างๆ ในระหว่างที่คุณแม่อยู่ที่บ้านกับครอบครัว ซึ่งเป็นเวลาส่วนใหญ่ของการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรจะทราบว่าจะร่วมดูแลครรภ์อย่างไร การนับลูกดิ้นเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการสังเกตความแข็งแรงของลูก คุณแม่จึงควรมาเรียนรู้ว่าจะนับลูกดิ้นให้ถูกต้องอย่างไร?

การนับลูกดิ้น ควรเริ่มที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์หรือประมาณ 7 เดือนและนับต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงกำหนดคลอด วิธีการนับลูกดิ้น จะนับตั้งแต่เวลา 8.00 นาฬิกา โดยทำการนับแล้วจดลงในสมุดบันทึก เมื่อลูกดิ้นครบ 10 ครั้งให้ลงเวลาที่ลูกดิ้นครบ หากลูกดิ้นครบ 10 ครั้งก่อนเวลา 12.00 นาฬิกา คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องนับลูกดิ้นต่อในวันนั้น เนื่องจากทารกที่แข็งแรงควรดิ้นเกิน 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมง แต่หากทารกดิ้นไม่ครบ 10 ครั้งภายใน 12.00 นาฬิกา แนะนำให้คุณแม่รีบไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจยืนยันความแข็งแรงของทารกในครรภ์ ตัวอย่างการนับลูกดิ้นในตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 ตารางบันทึกการนับลูกดิ้น

คลิกที่ตารางเพื่อดูภาพใหญ่

? ? ? ? ? ? ? ??การดิ้นของทารกนั้น อาจรู้สึกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ในท้องหลังและ 18-20 สัปดาห์ในท้องแรก แต่การนับลูกดิ้นในช่วงอายุครรภ์น้อยนั้น จะแปรผลยาก เนื่องจากการดิ้นของทารกยังไม่สม่ำเสมอ บางวันก็ดิ้นมาก บางวันก็ดิ้นน้อย การแปลผลและตัดสินใจจากผลการนับลูกดิ้นนั้นลำบาก จึงแนะนำให้เริ่มนับลูกดิ้นและจดบันทึกตามข้อแนะนำข้างต้นเมื่อลูกเริ่มมีการดิ้นสม่ำเสมอคือเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งนับจากนี้ไปคุณแม่ก็จะเป็นคนสำคัญที่มีส่วนร่วมในการดูแลความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกในครรภ์

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)