ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ท้องแล้วยังทำได้หรือไม่?

 

 

? ? ? ? ? การออกกำล้งกายเป็นสิ่งที่ดี หากคุณแม่เป็นคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมออยู่แล้ว สามารถออกกำลังการได้ต่อเนื่องเหมือนกับก่อนตั้งครรภ์ หากแต่การออกกำลังกายควรลดกีฬาที่ต้องประทะ หรือต้องเสี่ยงต่อการกระแทกรุนแรงหรือล้ม ควรเลือกวิ่งเหยาะๆ หรือเดินออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิคที่ไม่มีท่าที่ต้องกระโดดมาก การเลือกออกกำลังกายอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ทารกตัวไม่ใหญ่เกินไป คลอดง่ายและคุณแม่ฟื้นตัวเร็ว

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

ต้องกินยาบำรุงอะไร ทำให้ลูกฉลาดและแข็งแรง?

 

 

? ? ? ? ? ระหว่างตั้งครรภ์ การรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่นั้นมีความสำคัญ สำหรับยาบำรุงเสริมที่แนะนำได้แก่ ยาบำรุงเลือดซึ่งแพทย์จะให้เมื่อไปฝากครรภ์ รับประทานครั้งละเม็ดวันละครั้งก็เพียงพอในแม่ปกติทั่วไปโดยเริ่มมีความจำเป็นตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณสี่ถึงห้าเดือนขึ้นไปเพื่อไปช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นระหว่างครรภ์ที่ใหญ่ขึ้น สำหรับการเสริมธาตุอาหารอื่นๆ ไม่ได้มีข้อแนะนำชัดเจน ในสตรีที่ตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียมเท่ากับสตรีก่อนการตั้งครรภ์คือ 1200 มิลลิกรัม ในคนไทยส่วนใหญ่ จะรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมน้อย และมักไม่พอเพียงโดยปริมาณแคลเซียมในอาหารไทยเฉลี่ยประมาณ 350-400 มิลลิกรัม ดังนั้นการเสริมแคลเซียมด้วยจึงอาจมีความจำเป็นในคุณแม่ที่รับประทานนมเสริมได้น้อยหรือไม่รับประทานเลย สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอาจขาดวิตามินบีสิบสองได้ แนะนำให้ให้เสริมในระหว่างตั้งครรภ์ด้วย อาหารเสริมบำรุงสุขภาพที่มีโฆษณาอย่างมากในท้องตลาดและระบบการขายตรงไม่มีความจำเป็นและยังสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

นับกำหนดคลอด เขานับกันอย่างไร?

 

 

 

? ? ? ? ? การนับกำหนดคลอด มีความสับสนกันเพราะหลักในการนับของชาวบ้านกับทางการแพทย์มีความแตกต่างกัน ปกติโดยทั่วไป ชาวบ้านทราบกันว่า การตั้งครรภ์ครบกำหนดเวลาประมาณเก้าเดือน นับตั้งแต่ประจำเดือนขาด ซึ่งก็มีความถูกต้องแต่ไม่แม่นยำ เนื่องจากในบางตนจำไม่ได้ว่าประจำเดือนขาดไปตั้งแต่วันไหน และการนับจำนวนเดือนเก้าเดือนในแต่ละช่วงของปีก็ไม่เท่ากัน เนื่องจากบางเดือนมี 31 วัน บางเดือนมี 30 วันและเดือนกุมภาพันธ์มี 28 หรือ 29 วัน ดังนั้นเพื่อความสะดวกและแม่นยำยิ่งขึ้น การนับจึงเริ่มนับตั้งแต่วันแรกประจำเดือนครั้งสุดท้ายเพราะจะจำง่ายกว่า และนับไปทั้งสิ้น 40 สัปดาห์เพราะการนับเป็นสัปดาห์จะแม่นยำกว่า โดยที่เมื่อคลอดอายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไปก็ถือว่าครบกำหนดแล้ว ในครรภ์แรกมักคลอดใกล้กับกำหนดคลอด แต่ในครรภ์หลังมักคลอดก่อนกำหนดคลอดหนึ่งถึงสองสัปดาห์ สำหรับสูตรในการคำนวณที่ทางการแพทย์มักใช้ ได้แก่ วันแรกของประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายบวกเจ็ดวันแล้วลบไปสามเดือนจะเป็นวันกำหนดคลอด

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

การนัดติดตามตรวจครรภ์ แพทย์นัดอย่างไร?

 

 

? ? ? ? ? การตรวจติดตรวจในการฝากครรภ์ ส่วนใหญ่ หลังการตรวจครั้งแรก แพทย์จะนัดมาฟังผลภายในหนึ่งหรือสองสัปดาห์ เพราะหากพบผลการตรวจผิดปกติจะได้เริ่มการรักษาได้เร็ว หลังจากนั้น หากไม่มีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนแพทย์จะนัดตรวจทุก 4-6 สัปดาห์ จากนั้นเมื่ออายุครรภ์ 7-8 เดือนจะนัดตรวจทุก 2-4 สัปดาห์ จนกระทั่งเข้าสู่เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์จะนัดทุกสัปดาห์ การนัดตรวจฝากครรภ์มีความยืดหยุ่นได้ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ของสตรีนั้นๆ

บทความโดย รศ.นายแพทย์ภาวิน พัวพรพงษ์

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)