การจัดการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การมีน้ำนมมากหรือการตึงคัดเต้านม การสอนให้มารดาบีบน้ำนมด้วยมือออกก่อนการให้ทารกกินนม จะช่วยทำให้ลานนมที่ตึง นุ่มขึ้น ทำให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ลึกและเหมาะสม และช่วยลดน้ำนมที่พุ่งแรง ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเจ็บหัวนมจากทารกออกแรงงับหัวนมและลานนมรุนแรงเพื่อลดการไหลของน้ำนมที่เร็วและแรงจนเกินไป

การจัดการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สิ่งแรกต้องทำคือ “การให้การสนับสนุนให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป” โดยเสริมพลังให้กับมารดาให้เกิดความมั่นใจว่าอาการเจ็บหัวนมสามารถรักษาให้หายได้ และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้ในอนาคต ร่วมกับการให้รักษาสาเหตุของการเจ็บเต้านม ได้แก่

การเข้าเต้าและท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม ควรช่วยเหลือให้มารดาเข้าเต้าและจัดท่าให้นมอย่างเหมาะสม9,10 ซึ่งการดูแลจัดการในเรื่องนี้ ควรทำเป็นลำดับแรก เนื่องจากสาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดการเจ็บหัวนม11 และยังพบเป็นสาเหตุร่วมกับสาเหตุที่ทำให้การเจ็บหัวนมที่มากขึ้นได้ ดังนั้น หลังการสังเกตและประเมินการให้นม หากพบว่ามีการเข้าเต้าหรือจัดท่าที่ไม่เหมาะสม การแก้ไขจะช่วยลดการเจ็บหัวนมของมารดาได้ทันที และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องได้ดี จากนั้นควรฝึกให้มารดามีความมั่นใจที่จะจัดท่าให้นมที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง และสอนมารดาในท่าให้นมท่าอื่น ๆ ที่จะช่วยให้แรงกดของทารกต่อหัวนมหรือเต้านมเปลี่ยนไป สิ่งนี้ทำให้บริเวณหัวนมที่เจ็บดีขึ้น และยังทำให้มารดาสามารถให้นมได้ต่อเนื่องขณะที่หัวนมที่เจ็บกำลังจะหาย

เอกสารอ้างอิง

9.         Morland-Schultz K, Hill PD. Prevention of and therapies for nipple pain: a systematic review. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2005;34:428-37.

10.       The management of nipple pain and/or trauma associated with breastfeeding. Aust Nurs J 2009;17:32-5.

11.       Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 5

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในกรณีที่มารดามีการใช้เครื่องปั๊มนม ควรมีการตรวจสอบดูขนาดของอุปกรณ์ที่ใช้ประกบเต้านม และขนาดของท่อที่ใช้ดูดบริเวณหัวนมว่ามีความพอเหมาะหรือไม่ เนื่องจากหากอุปกรณ์ที่ใช้ไม่เหมาะสม หัวนมที่ถูกดูดจะเสียดสีกับท่อที่ดูด ทำให้เกิดอาการเจ็บและเกิดการบาดแผลที่หัวนม ร่วมกับควรมีการสอบถามและประเมินถึงระดับของการปรับแรงดูดที่เลือกใช้ในการปั๊มนม เนื่องจากการใช้แรงดูดที่มากเกินไป สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บของหัวนมได้เช่นกัน

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 4

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจสังเกตมารดาขณะให้นม การที่ทารกอมหัวนมและลานนมได้ไม่ลึกพอหรือไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดอาการเจ็บหัวนมได้ โดยอาจพบในมารดาที่มีหัวนมใหญ่ ทารกอมหัวนมได้ไม่ลึก หรือมารดามีอาการตึงคัดเต้านมมาก ทำให้ลานนมตึงและแข็ง ทำให้ทารกอ้าปากอมหัวนมและลานนมได้ไม่เหมาะสม ในกรณีที่พบว่าทารกถูกดึงออกจากเต้านมเพื่อหยุดการให้นม โดยมารดาไม่มีการช่วยให้เกิดการแยกอย่างเหมาะสมเพื่อลดแรงดูดของทารกระหว่างปากกับเต้านม อาจทำให้มารดาบาดเจ็บหัวนมและเกิดการเจ็บหัวนมได้  นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่พบได้น้อยของการเกิดการเจ็บหัวนมอีกมาก เช่น การที่ทารกดูดหัวนมโดยใช้แรงดูดมากเกินไป7 การมีการติดเชื้อในท่อน้ำนม8 ซึ่งถ้าหากจำเป็นอาจต้องให้ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย

เอกสารอ้างอิง

7.         McClellan H, Geddes D, Kent J, Garbin C, Mitoulas L, Hartmann P. Infants of mothers with persistent nipple pain exert strong sucking vacuums. Acta Paediatr 2008;97:1205-9.

8.         Eglash A, Plane MB, Mundt M. History, physical and laboratory findings, and clinical outcomes of lactating women treated with antibiotics for chronic breast and/or nipple pain. J Hum Lact 2006;22:429-33.

การให้การวินิจฉัยการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตรวจริมฝีปาก ปาก และช่องปากของทารก การตรวจพบปากแหว่งเพดานโหว่ การมีเพดานปากสูง ลิ้นใหญ่คับปาก และการมีภาวะลิ้นติด ทำให้ทารกเข้าเต้ายากและทำให้เกิดการเข้าเต้าที่ไม่เหมาะสมได้ โดยในทารกมีภาวะลิ้นติด ทารกจะยื่นลิ้นออกไปได้น้อย เหงือกด้านล่างจึงกดและเสียดสีกับหัวนมมากกว่า จึงทำให้มารดาเจ็บหัวนม3-6 นอกจากนี้ การที่ทารกมีคอเอียงจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อยังพบว่าทำให้การจัดท่าที่เหมาะสมในการให้นม จะทำได้ยากขึ้น สำหรับการพบทารกมีฝ้าขาวที่ลิ้นจะสัมพันธ์กับการติดเชื้อราที่หัวนมมารดา

เอกสารอ้างอิง

3.         Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Mahasitthiwat V, Ketsuwan S. Comparisons of the latching on between newborns with tongue-tie and normal newborns. J Med Assoc Thai 2014;97:255-9.

4.         Lalakea ML, Messner AH. Ankyloglossia: does it matter? Pediatric Clinics of North America 2003;50:381-97.

5.         Chaubal TV, Dixit MB. Ankyloglossia and its management. J Indian Soc Periodontol 2011;15:270-2.

6.         Srinivasan A, Dobrich C, Mitnick H, Feldman P. Ankyloglossia in breastfeeding infants: the effect of frenotomy on maternal nipple pain and latch. Breastfeed Med 2006;1:216-24.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)