การจัดการดูแลการเจ็บหัวนมของมารดาหลังคลอด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สิ่งแรกต้องทำคือ “การให้การสนับสนุนให้มารดาคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป” โดยเสริมพลังให้กับมารดาให้เกิดความมั่นใจว่าอาการเจ็บหัวนมสามารถรักษาให้หายได้ และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำได้ในอนาคต ร่วมกับการให้รักษาสาเหตุของการเจ็บเต้านม ได้แก่

การเข้าเต้าและท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม ควรช่วยเหลือให้มารดาเข้าเต้าและจัดท่าให้นมอย่างเหมาะสม9,10 ซึ่งการดูแลจัดการในเรื่องนี้ ควรทำเป็นลำดับแรก เนื่องจากสาเหตุนี้เป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้เกิดการเจ็บหัวนม11 และยังพบเป็นสาเหตุร่วมกับสาเหตุที่ทำให้การเจ็บหัวนมที่มากขึ้นได้ ดังนั้น หลังการสังเกตและประเมินการให้นม หากพบว่ามีการเข้าเต้าหรือจัดท่าที่ไม่เหมาะสม การแก้ไขจะช่วยลดการเจ็บหัวนมของมารดาได้ทันที และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องได้ดี จากนั้นควรฝึกให้มารดามีความมั่นใจที่จะจัดท่าให้นมที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง และสอนมารดาในท่าให้นมท่าอื่น ๆ ที่จะช่วยให้แรงกดของทารกต่อหัวนมหรือเต้านมเปลี่ยนไป สิ่งนี้ทำให้บริเวณหัวนมที่เจ็บดีขึ้น และยังทำให้มารดาสามารถให้นมได้ต่อเนื่องขณะที่หัวนมที่เจ็บกำลังจะหาย

เอกสารอ้างอิง

9.         Morland-Schultz K, Hill PD. Prevention of and therapies for nipple pain: a systematic review. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2005;34:428-37.

10.       The management of nipple pain and/or trauma associated with breastfeeding. Aust Nurs J 2009;17:32-5.

11.       Puapornpong P, Paritakul P, Suksamarnwong M, Srisuwan S, Ketsuwan S. Nipple Pain Incidence, the Predisposing Factors, the Recovery Period After Care Management, and the Exclusive Breastfeeding Outcome. Breastfeed Med 2017;12:169-73.