รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? หลังคลอดมารดาและมักกังวลเรื่องการให้ลูกกินนมแม่จะทำให้แม่ไม่ได้นอน ซึ่งจะทำให้แม่อ่อนเพลีย ในมารดาที่มีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวมารดาจะนอนหลับได้ดีขึ้น อธิบายได้จากการที่มารดาให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว มารดาจะปรับตัวและรู้จังหวะการกินนมของทารกได้ดีกว่า ทำให้เลือกจังหวะที่จะพักผ่อนได้ดีกว่า นอกจากนี้ การให้นมลูกในท่านอนยังช่วยให้มารดานอนหลับได้ดีขึ้น1 เพราะสามารถให้นมลูกไปพร้อมกับการพักผ่อนไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้น การให้คำปรึกษาและสอนให้มารดาสามารถให้นมลูกในท่านอนได้น่าจะช่วยลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการพักผ่อนของมารดาในช่วงให้นมลูกได้
เอกสารอ้างอิง
Honda T. [Breastfeeding Affects the Sleep of Mothers in Postpartum Period]. J UOEH 2018;40:191-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แนะนำให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือน หลังจากนั้นให้ลูกกินนมแม่ร่วมกับการให้อาหารเสริมตามวัยจนกระทั่งครบสองปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของมารดาและทารก การให้ลูกกินนมแม่ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิดลงได้ และยังมีประโยชน์ต่อทั้งมารดาและทารก โดยพบว่าปัจจัยที่มีผลที่ทำให้มารดาไม่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า และแนวทางการปฏิบัติหรือดูแลทารกที่ไม่สอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก 1 โดยการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้ามักสัมพันธ์กับการผ่าตัดคลอด มารดาน้ำหนักเกิน? อ้วนหรือเป็นเบาหวาน การลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้าจะมีส่วนช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตทารกแรกเกิดไปพร้อม ๆ กัน
เอกสารอ้างอิง
Hoche S, Meshesha B, Wakgari N. Sub-Optimal Breastfeeding and Its Associated Factors in Rural Communities of Hula District, Southern Ethiopia: A Cross-Sectional Study. Ethiop J Health Sci 2018;28:49-62.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ทัศนคติของพ่อมีทั้งผลดีและผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นมุมมองในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของพ่อจึงมีความสำคัญ มีการศึกษาเรื่องมุมมองของพ่อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งพบว่า มุมมองของพ่อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความคิดว่า นมแม่เป็นเรื่องธรรมชาติและมีผลดีต่อสุขภาพทารก 1 ซึ่งเป็นมุมมองของพ่อจากการศึกษาในต่างประเทศ สำหรับในประเทศไทยยังขาดข้อมูลการศึกษา อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ควรมีการให้ความรู้เรื่องประโยชน์ ความสำคัญ และความจำเป็นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่พ่อในระหว่างการฝากครรภ์และหลังคลอดโดยให้พร้อมกับมารดา และควรให้ความรู้กับบุคคลในครอบครัวของมารดาที่มีบทบาทในการดูแลหรือช่วยมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การให้ความสำคัญและใส่ใจกับบุคคลเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Hansen E, Tesch L, Ayton J. ‘They’re born to get breastfed’- how fathers view breastfeeding: a mixed method study. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:238.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การใช้ยากระตุ้นน้ำนม (domperidone) มักมีความเข้าใจผิดโดยมีการเริ่มการให้ในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด ทั้ง ๆ ที่กลไกของการช่วยกระตุ้นน้ำนมของยานั้นเกิดจากการเพิ่มของฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งค่าของโปรแลคตินในช่วงสัปดาห์หลังคลอดของสตรีที่ให้นมบุตรยังไม่ต่ำ การใช้ยากระตุ้นน้ำนมในสัปดาห์แรกหลังคลอดจึงเป็นการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ผลในระยะยาวของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ยังไม่แตกต่างกันระหว่างผู้ที่ใช้และไม่ใช้ยากระตุ้นน้ำนม 1 ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้ยากระตุ้นน้ำนมมีที่ใช้จำกัดเฉพาะในมารดาที่หยุดให้นมไปนานและน้ำนมมาน้อยหรือมารดาที่ต้องการกู้น้ำนม บุคลากรทางการแพทย์จึงควรศึกษาและทำความเข้าใจกับเรื่องการใช้ยากระตุ้นน้ำนม เพื่อที่จะสามารถดูแลและเลือกใช้ยาได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
Grzeskowiak LE, Amir LH, Smithers LG. Longer-term breastfeeding outcomes associated with domperidone use for lactation differs according to maternal weight. Eur J Clin Pharmacol 2018.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? การดูแลระหว่างการคลอดมีความสำคัญต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่รวมทั้งวิธีการคลอด โดยทั่วไประหว่างการเจ็บครรภ์คลอดและคลอดบุตร จะมีการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนและใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีดที่ฝีเย็บหากมีการตัดฝีเย็บช่วยในระหว่างการคลอดบุตร ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีนอาจมีผลต่อมารดาและทารกหลังคลอดโดยทำให้มารดาและทารกง่วงซึม ซึ่งมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกรณีที่มีการใช้ยาแก้ปวดในช่วงใกล้กับระยะของการคลอดมาก ทางเลือกของการลดความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดวิธีหนึ่งคือ การฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง (epidural anesthesia) ซึ่งลดการเจ็บปวดระหว่างการเจ็บครรภ์คลอดได้ดี ทำให้มีผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 แต่ต้องอาศัยการดูแลอย่างใกล้ชิดของวิสัญญีแพทย์ จึงต้องพิจารณาการเลือกใช้ในสถานพยาบาลที่มีความเหมาะสม ดังนั้น สถานพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรวางแนวทางในการดูแลการคลอดให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง เพื่อให้ดำเนินงานสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างมีความสุข
เอกสารอ้างอิง
Grant GJ, Agoliati AP, Echevarria GC, Lax J. Epidural Analgesia to Facilitate Breastfeeding in a Grand Multipara. J Hum Lact 2018:890334418784269.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)