สิทธิในการรักษาพยาบาลมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในประเทศไทย คนไทยทุกคนจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างน้อยคือ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นสิทธิพื้นฐานที่กำหนดให้บุคคลใด ๆ สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลพื้นฐานได้โดยปราศจากข้อจำกัดในด้านค่าใช้จ่าย แต่ยังมีสิทธิการรักษาพยาบาลอื่น ๆ ที่ยังมีความเลื่อมล้ำในสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกันในด้านการรักษาพยาบาล ได้แก่ สิทธิประกันสังคม สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งกองทุนหรือแหล่งกำเนิดของกองทุนแต่ละกองทุนยังมีความแตกต่างกัน และข้อกำหนดหรือหลักคิดในการจัดสวัสดิการการรักษาพยาบาลอยู่บนรากฐานที่แตกต่างกัน สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้สิทธิการฝากครรภ์และการคลอดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่สิทธิประกันสังคมได้สิทธิเหมาจ่ายในการคลอด 13000 บาทไม่ว่าจะคลอดที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน คลอดปกติหรือผ่าตัดคลอด ซึ่งปัจจุบันอัตราการผ่าตัดคลอดสูง และค่าใช้จ่ายก็สูงโดยอาจจะเกินวงเงินที่เหมาจ่ายในการดูแลการคลอดของสิทธิประกันสังคมได้ เมื่อมีความแตกต่างกันในเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการดูแลการคลอด ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย ดังตัวอย่างการศึกษาเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกา1 ดังนั้น แพทย์ผู้ดูแลควรใส่ใจเกี่ยวกับสิทธิการรักษาพยาบาลของมารดา เพื่อให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างเหมาะสมกับสิทธิการรักษาพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

  1. Mercier RJ, Adeliyi Burcher T, Horowitz R, Wolf A. Differences in Breastfeeding Among Medicaid and Commercially Insured Patients: A Retrospective Cohort Study. Breastfeed Med 2018.

 

การทำงานเป็นทีมสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            แม้ว่าแพทย์จะมีบทบาทเป็นผู้นำในการส่งเสริมสุขภาพในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยแพทย์ที่มีบทบาทที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก ได้แก่ สูติแพทย์ กุมารแพทย์ และในกรณีที่ไม่มีแพทย์เฉพาะทาง ก็อาจเป็นแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปที่เป็นแพทย์ที่ให้การดูแลมารดาและทารกตั้งแต่ระยะฝากครรภ์จนถึงหลังคลอดและดูแลทารกต่อเนื่องไปจนกระทั่งทารกเจริญวัยขึ้นไปเข้าสู่วัยเด็ก แพทย์จะมีอิทธิพลในการให้คำปรึกษาทั้งในในระยะฝากครรภ์ การคลอด และหลังคลอด อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ที่ร่วมดูแลมารดาและทารกก็เป็นบุคคลที่มีความสำคัญ และสามารถช่วยสนับสนุนและดูแลมารดาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความสมบูรณ์และความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น การวางแผนการปฏิบัติงานเป็นทีม เพื่อให้การดูแลมารดาและทารกเป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นและบุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญกับสิ่งนี้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Melin A, Bjorklund P, Zwedberg S. Pediatricians’ experiences of working with breastfeeding: An interview study. Sex Reprod Healthc 2018;16:218-23.

 

ปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า หากมารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยส่งเสริมให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้ มีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่พักอยู๋ในเขตชุมชนเมือง มารดาครรภ์หลัง มารดาที่มีการฝากครรภ์ มารดาที่คลอดในสถานพยาบาล และมารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด จะส่งผลดีต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้นในมารดาที่พักอยู่ในชนบท มารดาครรถ์แรก มารดาที่ไม่ได้มีการฝากครรภ์มาก่อน มารดาที่คลอดบุตรที่บ้าน และมารดาที่ผ่าตัดคลอดล้วนมีความเสี่ยงที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า โดยเฉพาะหากเริ่มต้นช้ากว่า 6 ชั่วโมงหลังคลอด จะส่งผลเสียทำให้มารดามีโอกาสที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร การเอาใจใส่และให้คำปรึกษาในมารดากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ จะลดปัญหาและเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mekonen L, Seifu W, Shiferaw Z. Timely initiation of breastfeeding and associated factors among mothers of infants under 12 months in South Gondar zone, Amhara regional state, Ethiopia; 2013. Int Breastfeed J 2018;13:17.

มารดาที่รักษาโรคลำไส้อักเสบสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease) มีความจำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของมารดา ได้แก่ infliximab, adalimumab, certolizumab, natalizumab และ ustekinumab ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความกังวลในกรณีที่มารดาให้นมลูกว่า การให้นมลูกจะเกิดผลเสียจากการได้รับยาด้วยหรือไม่ มีการศึกษาพบว่า ยาที่มารดาได้รับผ่านน้ำนมในปริมาณที่ต่ำและไม่มีผลเสียทางคลินิกเมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่1 ดังนั้น ในมารดาที่รักษาโรคลำไส้อักเสบด้วยยาเหล่านี้ ยังคงสามารถให้นมแม่ได้หากมารดาต้องการโดยไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในทารกจากการได้รับยา

เอกสารอ้างอิง

  1. Matro R, Martin CF, Wolf D, Shah SA, Mahadevan U. Exposure Concentrations of Infants Breastfed by Women Receiving Biologic Therapies for Inflammatory Bowel Diseases and Effects of Breastfeeding on Infections and Development. Gastroenterology 2018.

การใช้สื่อดีวีดีในการเพิ่มความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ในการให้ความรู้และฝึกทักษะในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดานั้น บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และความมั่นใจในการให้คำปรึกษา ให้ความรู้ และทักษะในการดูแลหรือจัดการให้ทารกสามารถกินนมแม่ได้ การใช้สื่อที่มีการเตรียมอย่างเหมาะสมสำหรับการเพิ่มความรู้และทักษะในการสอนมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะสามารถที่จะเพิ่มความรุ้และความมั่นใจของบุคลากรที่ต้องสอนมารดาในการให้นมลูกได้ โดยสื่อที่ใช้ที่มีการศึกษาได้แก่ ดีวีดี1 ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์สามารถเปิดดูและศึกษาก่อนการสอนหรือให้ความรู้แก่มารดา โดยการที่ได้ดูดีวีดีก่อนการสอนจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่บุคลาการทางการแพทย์ที่เป็นผู้สอนด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ma YY, Wallace LL, Qiu LQ, Kosmala-Anderson J, Bartle N. A randomised controlled trial of the effectiveness of a breastfeeding training DVD on improving breastfeeding knowledge and confidence among healthcare professionals in China. BMC Pregnancy Childbirth 2018;18:80.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)