ปัจจัยที่ส่งเสริมการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า หากมารดาเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอดจะช่วยส่งเสริมให้มารดาประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวมได้ มีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า มารดาที่พักอยู๋ในเขตชุมชนเมือง มารดาครรภ์หลัง มารดาที่มีการฝากครรภ์ มารดาที่คลอดในสถานพยาบาล และมารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด จะส่งผลดีต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้นในมารดาที่พักอยู่ในชนบท มารดาครรถ์แรก มารดาที่ไม่ได้มีการฝากครรภ์มาก่อน มารดาที่คลอดบุตรที่บ้าน และมารดาที่ผ่าตัดคลอดล้วนมีความเสี่ยงที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า โดยเฉพาะหากเริ่มต้นช้ากว่า 6 ชั่วโมงหลังคลอด จะส่งผลเสียทำให้มารดามีโอกาสที่หยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร การเอาใจใส่และให้คำปรึกษาในมารดากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ จะลดปัญหาและเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Mekonen L, Seifu W, Shiferaw Z. Timely initiation of breastfeeding and associated factors among mothers of infants under 12 months in South Gondar zone, Amhara regional state, Ethiopia; 2013. Int Breastfeed J 2018;13:17.