รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
อาการโคลิกของทารก คือ อาการที่ทารกมีอาการร้องกวนมาก มักจะพบในช่วงทารกอายุราว 3 เดือน แต่สาเหตุของโคลิกนั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เนื่องจากมีข้อมูลว่าการรับประทานอาหารที่มี FODMAPs ต่ำจะช่วยลดอาการในผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome) จึงมีผู้สนในนำมาใช้ในการลดอาการโคลิก ก่อนอื่น ๆ มาทำความรู้จักกับอาหารที่อยู่ในกลุ่ม FODMAPs โดยที่ FODMAPs คือกลุ่มอาหารที่มีองค์ประกอบเป็นคาร์โบไฮเดรต น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวและโมเลกุลคู่รวมหลายชนิด FODMAPs เป็นคำย่อมาจาก Fermentable Oligosaccharides, Disaccharides, Monosaccharides and Polyols โดยอาหารกลุ่มที่เป็น oligosaccharide คือกลุ่มที่มีน้ำตาล Fructans หรือ Galactans ได้แก่ ข้าวสาลี ขนมปัง หัวหอม กระเทียมและอาหารจำพวกถั่วชนิดต่าง ๆ อาหารกลุ่มที่เป็น disaccharide คือกลุ่มอาหารที่มีน้ำตาลแลคโตส ได้แก่ โยเกิร์ตและผลิตภัณฑ์จากนม กลุ่มอาหารที่เป็น monosaccharides กลุ่มอาหารที่มีน้ำตาลฟรุกโตส ได้แก่ แตงโม ไซรัปจากข้าวโพด และกลุ่มอาหารที่เป็น polyols คือกลุ่มอาหารที่มีสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล เช่น Sorbitol, Xylitol และผลไม้ที่มีเมล็ดแข็งตรงกลาง เช่น พีช พลัม เนคทารีน อะโวคาโด เชอร์รี่ มีการศึกษาเปรียบเทียบการร้องกวนของทารกในมารดาที่กินอาหารกลุ่มที่มี FODMAPs ต่ำเทียบกับกลุ่มอาหารปกติ พบว่ามารดาในกลุ่มที่กินอาหารที่มี FODMAPs ต่ำจะพบการร้องกวนของทารกสั้นกว่า อย่างไรก็ตาม กลไกการอธิบายผลลัพธ์ของการศึกษายังไม่ชัดเจน อาจต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป1
เอกสารอ้างอิง
Iacovou M, Craig SS, Yelland GW, Barrett JS, Gibson PR, Muir JG. Randomised clinical trial: reducing the intake of dietary FODMAPs of breastfeeding mothers is associated with a greater improvement of the symptoms of infantile colic than for a typical diet. Aliment Pharmacol Ther 2018;48:1061-73.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
คนในครอบครัวมีความสำคัญต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาโดยเฉพาะสามีหรือบิดาของทารก เนื่องจากสามีหรือบิดาของทารกจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และมีบทบาทในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา ซึ่งจะทำให้มารดาสามารถคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บิดาของทารกจะมีส่วนช่วยการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และการคงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องของมารดาได้ 1 โดยการศึกษานี้ศึกษาในกลุ่มที่มีเศรษฐานะต่ำถึง นอกจากนี้ สมาชิกในครอบครัวอื่น ๆ ที่อยู่ในบ้านเดียวกันที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมารดาในสังคมไทย ได้แก่ ปู่ย่าตายาย ยังมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย บุคลากรทางการแพทย์ควรสอบถามถึงบิดาและสมาชิกในครอบครัวที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อที่จะวางแผนการให้ความรู้ที่ถูกต้องและเหมาะสมแก่คนเหล่านี้ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้แก่มารดาขณะที่อยู่ที่บ้าน
เอกสารอ้างอิง
Tadesse K, Zelenko O, Mulugeta A, Gallegos D. Effectiveness of breastfeeding interventions delivered to fathers in low- and middle-income countries: A systematic review. Matern Child Nutr 2018:e12612.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามว่า “ยาอะไรที่มารดาสามารถกินได้ในระหว่างการให้นมแม่” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ ยาส่วนใหญ่ที่เป็นยาที่ใช้บ่อย ๆ ในการรักษาโรคทั่ว ๆ ไป โดยปกติสามารถใช้ได้ในระหว่างที่มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแ ม่ 1 เช่น ยาแก้ปวด acetaminophen หรือชื่อที่รู้จักกันมากกว่าคือ paracetamol ยาต้านการอักเสบ Ibuprofen และยาปฏิชีวนะที่ใช้กันบ่อย ๆ คือ Amoxicillin และ Cloxacillin เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากมารดาจำเป็นต้องมีการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูก ควรมีการแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรเสมอให้ทราบว่ามารดาอยู่ในระหว่างช่วงที่ให้นมลูก เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้แนะนำยาที่มีความปลอดภัยในการใช้ในขณะที่มารดามีการให้นมลูก สำหรับอีกช่องทางหนึ่งในมารดาที่สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์จากอินเตอร์เน็ต จะสามารถค้นคว้าหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตรได้จาก การเข้าสู่ browser และ search หา Lactmed ซึ่งจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาในระหว่างการให้นมลูกโดยละเอียด โดยมีข้อมูลประกอบกับรายงานการศึกษาที่มีความน่าเชื่อถือทางการแพทย์
เอกสารอ้างอิง
Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมีคำถามว่า “มารดาควรเสริมวิตามินใดระหว่างให้นมแม่” คำตอบสำหรับคำถามนี้คือ ควรเสริมวิตามินที่เสี่ยงในการขาดขณะให้นมแม่ แล้วจะทราบว่าวิตามินใดที่เสี่ยงในการขาดขณะให้นมแม่ พบว่ามีสองลักษณะได้แก่ วิตามินที่ปกติพบในน้ำนมน้อย ได้แก่ วิตามินเค ซึ่งแนะนำให้ฉีดให้แก่ทารกแรกเกิดทุกรายหลังคลอด และวิตามินหรือแร่ธาตุที่พบในน้ำนมน้อยจากมารดาได้รับวิตามินหรือแร่ธาตุนั้นน้อย โดยมารดาอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินหรือแร่ธาตุนั้น ในต่างประเทศที่มีแสงแดดระหว่างวันน้อย มารดาจึงมีโอกาสขาดวิตามินดีสูง จึงแนะนำให้เสริมวิตามินดี 400 ยูนิตต่อวัน1 สำหรับในประเทศไทยในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการขาดไอโอดีน การให้ไอโอดีนเสริมแก่มารดาระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะมีความจำเป็น ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุเหล็ก การเสริมธาตุเหล็กให้แก่มารดาในระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะมีความจำเป็น นอกจากนี้ ควรเสริมธาตุเหล็กให้แก่ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวช่วงที่ทารกอายุ 4-6 เดือนเนื่องจากความต้องการธาตุเหล็กในทารกเพิ่มขึ้นเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้นขณะที่ธาตุเหล็กในน้ำนมแม่ไม่เพิ่มขึ้น สำหรับวิตามินดี แม้ในประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีแสงแดดจัดระหว่างวัน แต่ค่านิยมที่หลีกเลี่ยงการออกแดดในสังคมเมืองมากขึ้น และมีรายงานพบในสตรีตั้งครรภ์มีความเสี่ยงในการขาดวิตามินดีสูง แนวโน้มจึงมีโอกาสที่มารดาระหว่างให้นมบุตรจะมีการขาดวิตามินดีเช่นกัน ซึ่งหากมีการขาดในมารดาก็ควรเสริมวิตามินดีในทารกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
หากมารดาตั้งคำถามว่า “การให้นมแม่สามารถให้ในที่สาธารณะได้หรือไม่” คำตอบสำหรับคำถามนี้ คือ การให้นมแม่โดยทั่วไปได้รับการยอมรับว่าสามารถให้ในที่สาธารณะได้ 1 อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยในสมัยก่อนยังมีความเชื่อเรื่องการให้นมลูกเป็นเรื่องส่วนตัว ควรกระทำเฉพาะในที่รโหฐาน ดังนั้นจึงมีการใส่ความเชื่อต่าง ๆ ไว้ในแนวทางการปฏิบัติสำหรับมารดาหลังคลอด เช่น หลังคลอดมารดาไม่ควรออกมาโดนลม ก็คือแนะนำให้อยู่เฉพาะในบ้าน หรือการอยู่เดือน ที่แนะนำให้มารดาห้ามออกนอกบ้านจนกว่าจะครบหนึ่งเดือน ความเชื่อและแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้ หากมองอย่างวิเคราะห์ก็อาจเห็นประโยชน์ที่ว่าในมารดาหลังคลอดมีการเสียเลือด อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ การติดเชื้อง่าย เช่นเดียวกับทารกแรกเกิดที่ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ และเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน การที่มารดาและทารกออกนอกบ้านไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนแออัด เช่น ในรถประจำทาง ในโรงหนัง อาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคซึ่งจะเกิดอันตรายแก่มารดาและทารกได้ แต่หากเมื่อเวลาผ่านไปนาน และทารกอายุมากขึ้น การที่มารดาและทารกจะออกไปนอกบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่อย่างไรก็ดี การหลีกเลี่ยงสถานที่มีคนแออัด อากาศไม่ถ่ายเทก็ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของมารดาและทารกได้ นอกจากนี้ ในสถานที่สาธารณะในปัจจุบัน ยังมีการช่วยเหลือโดยจัดเป็นมุมนมแม่ที่จะเอื้อให้มารดาให้นมทารกในมุมนมแม่ในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือสวนสาธารณะบางแห่ง ซึ่งจะลดการเขอะเขินหรือการถูกมองในขณะที่ให้นมในที่สาธารณะได้
เอกสารอ้างอิง
Helpful Tips for Breastfeeding. Am Fam Physician 2018;98:Online.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)