รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้ยาระงับความเจ็บปวดระหว่างการคลอดจะมีผลเสียต่อการให้นมแม่ในระยะหลังคลอดโดยมีผลต่อมารดาและทารก ซึ่งยากลุ่มที่ใช้ระงับความเจ็บปวดระหว่างการคลอดที่ใช้บ่อย ได้แก่ ยากลุ่มมอร์ฟีนที่จะมีฤทธิ์ทำให้มารดาง่วงซึม อ่อนเพลีย และคลื่นไส้อาเจียนได้ และยังมีผลต่อทารกโดยทำอาจกดการหายใจของทารกหากให้ในระยะใกล้คลอดมากหรืออาจพบมีการง่วงซึมของทารกได้ ซึ่งผลเหล่านี้จะทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดนั้นเกิดขึ้นด้วยความลำบาก หรือทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวม อย่างไรก็ตาม มีความพยายามจะศึกษาถึงยาระงับความรู้สึกหรือยาลดความเจ็บปวดที่ไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาการใช้แก๊สดมสลบ (Nitrous oxide) เพื่อระงับความสึกและลดความเจ็บปวดในระหว่างการคลอด ผลการศึกษาการใช้แก๊สดมสลบและลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดสามารถช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการคลอดได้ดี ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพของจิดใจของมารดา และเมื่อติดตามผลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลังการใช้พบว่า มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี 1 การใช้แก๊สดมสลบและระงับความรู้สึกจึงอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ใช้ลดความเจ็บปวดในระหว่างการคลอดในมารดาที่มีความรู้สึกเจ็บปวดมากในระหว่างการคลอด ซึ่งการศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดจะช่วยสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสมต่อไปในอนาคต
เอกสารอ้างอิง
Zanardo V, Volpe F, Parotto M, Giiberti L, Selmin A, Straface G. Nitrous oxide labor analgesia and pain relief memory in breastfeeding women. J Matern Fetal Neonatal Med 2018;31:3243-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าในภาวะที่มีการขาดแคลนหรือวิกฤตภัย การให้ทารกได้กินนมแม่จะมีประโยชน์ ปลอดภัย และป้องกันการเสียชีวิตของทารกได้ ซึ่งหากวิกฤตภัยเกิดขึ้นไม่นานจนทำให้มารดาเกิดการขาดสารอาหารเรื้อรัง จะไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนมของมารดา อย่างไรก็ตาม คุณค่าและคุณภาพของน้ำนมแม่ยังมีส่วนที่ขึ้นอยู่กับโภชนาการหรืออาหารของมารดาว่ามีการรับประทานอย่างสมดุลย์หรือเหมาะสมหรือไม่ มีการศึกษาถึงการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยการจัดรูปแบบการอบรมให้ความรู้เรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสมสำหรับมารดาในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอด พบว่าส่งผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว และเมื่อติดตามดูพัฒนาการของทารกที่มารดาได้รับการแนะนำในเรื่องการรับประทานอาหารที่เหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด พบว่า ทารกที่มารดาได้รับคำแนะนำในการดูแลให้ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสมในระหว่างการตั้งครรภ์และหลังคลอด เมื่อมีการประเมินผลด้านพัฒนาการที่อายุสองปีครึ่ง ทารกจะมีพัฒนาการของระบบประสาทที่ดีมากกว่า 1 ดั งนั้น การให้ความรู้และแนวทางในการดูแลเรื่องอาหารที่เหมาะสมแก่มารดาในระยะตั้งครรภ์และหลังคลอดจึงมีความสำคัญที่บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจและส่งเสริมให้มีการจัดเนื้อหาในเรื่องเหล่านี้ในการดูแลมารดา เพื่อให้มารดามีความสมบูรณ์พร้อมที่จะให้น้ำนมที่ดี มีสารอาหารที่ครบถ้วนที่ส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของทารก และเพื่อช่วยสร้างต้นทุนของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ดีให้กับประเทศชาติ
เอกสารอ้างอิง
Zhang Z, Tran NT, Nguyen TS, et al. Impact of maternal nutritional supplementation in conjunction with a breastfeeding support program during the last trimester to 12 weeks postpartum on breastfeeding practices and child development at 30 months old. PLoS One 2018;13:e0200519.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
เป็นที่เข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่ว่า การใช้จุกนมหลอก (pacifier) และการให้ทารกดูดนมจากขวดนม (bottle nipple) เกิดผลเสียต่อการให้ทารกกินนมแม่ เนื่องจากความวิตกกังวลว่าทารกอาจมีอาการสับสนระหว่างกลไกการดูดนมแม่จากเต้าและกลไกการดูดนมจากขวดนม ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยการเริ่มให้ทารกดูดนมจากขวดนมก่อน ทารกจะคุ้นเคยกับความง่ายในการดูดนมจากขวดนม และต้องใช้เวลาปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูดนมเพื่อปรับมาดูดนมจากเต้านมของมารดาในกรณีใช้จุกนมหลอก ทารกจะดูดจุกนมหลอกที่ไม่มีการได้น้ำนมจากการดูด ทารกที่คุ้นเคยกับการดูดเต้านมหลอก อาจไม่ยอมดูดหรือดูดนมน้อยลงเมื่อดูดนมจากเต้า โดยหากร่วมกับการให้ดูดนมจากขวดนมก่อนร่วมด้วยแล้ว ทารกอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวสำหรับดูดนมแม่มากขึ้น ซึ่งผลที่พบและคำอธิบายเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดในการศึกษาในกลุ่มทารกที่คลอดปกติปราศจากภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากกลไกการดูดนมแม่จากเต้านั้นมีความซับซ้อน ทารกต้องมีความสมบูรณ์ของกลไกระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่รองรับ ได้แก่ ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของเส้นประสาทสมอง 5 เส้น ส่วนประสาทจากส่วนไขสันหลังในหลายส่วน และกล้ามเนื้อ 30 คู่ที่ดูแลเกี่ยวกับทำงานในช่องปาก คอหอย กล่องเสียง และการหายใจ 1 ดังนั้น ข้อสรุปที่ดูว่าจะเกิดผลเสียอาจไม่สามารถเหมารวมในทารกทุกกลุ่ม เช่น การใช้จุกนมหลอกอาจใช้เพื่อฝึกทารกให้ระบบการทำงานของทารกในการดูดนมยังไม่มีความพร้อม โดยให้ทารกดูดจุกนมหลอกที่ยังไม่ได้เริ่มให้สารอาหาร (nonnutritive sucking) ก่อนการดูดนมจากเต้าจริง1 เป็นต้น การศึกษาถึงประโยชน์ของจุกนมหลอกหรือการดูดนมจากขวดนมในเฉพาะกลุ่มทารกที่ยังขาดความพร้อมหรือมีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อในด้านต่าง ๆ จึงยังมีความต้องการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป
เอกสารอ้างอิง
Zimmerman E. Pacifier and bottle nipples: the targets for poor breastfeeding outcomes. J Pediatr (Rio J) 2018;94:571-3.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้จะทราบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีปัจจัยที่ส่งผลต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตของมารดาและทารก ภาวะทางสังคม ความเชื่อ ค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ และชาติพันธุ์ แต่การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรมีความเข้าใจว่า การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จำเป็นต้องมีการดูแลแบบองค์รวม ซึ่งจะมีมุมมองของทั้งทางด้านสุขภาพกาย จิตใจ ภาวะทางสังคม และจิตวิญญาณ การดูแลแบบองค์รวมนี้จะช่วยในการให้คำปรึกษาที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของมารดาและครอบครัว นอกจากนี้ สิ่งที่จะสนับสนุนให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน คือความต่อเนื่องของการให้การดูแลสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จนเกิดเป็นวัฒนธรรมของการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 ซึ่งไม่จำเป็นต้องพึ่งโชคชะตาเพื่อเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากเหตุบังเอิญ
เอกสารอ้างอิง
McKellar L, Fleet J, Dove S. It’s more than just luck: A qualitative exploration of breastfeeding in rural Australia. Women Birth 2018;31:177-83.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
จากการวิจัยที่ผ่านมา พบว่านมแม่อาจช่วยลดความเสี่ยงของสายตาสั้นในทารก อย่างไรก็ตาม คำอธิบายกลไกต่าง ๆ ที่มีผลการการพัฒนาการของตาในทารกที่กินนมแม่ยังไม่คำตอบ จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการศึกษาเกี่ยวกับการแสดงออกของยีนที่สัมพันธ์กับ carotenoid ทารกที่กินนมแม่มีโคเลสเตอรอลชนิด HDL และโคเลสเตอรอลรวม รวมทั้ง apolipoprotein สูงกว่าทารกที่กินนมผงดัดแปลงสำหรับทารก1 ซึ่งการที่มีรพกับ lipoprotein สูงจะมีผลต่อการลำเลียง lutein เพิ่มขึ้นที่จอประสาทตา ที่อาจจะเป็นการอธิบายกลไกหนึ่งของนมแม่ที่มีผลต่อการพัฒนาของตาของทารก โดยที่การศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจะช่วยสร้างชัดเจนในคำอธิบายยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
Jeon S, Neuringer M, Kuchan MJ, Erdman JW, Jr. Relationships of carotenoid-related gene expression and serum cholesterol and lipoprotein levels to retina and brain lutein deposition in infant rhesus macaques following 6 months of breastfeeding or formula feeding. Arch Biochem Biophys 2018;654:97-104.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)