จริงหรือไม่จริงที่ว่า การใช้จุกนมหลอกหรือการดูดนมจากขวดนมเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่เข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่ว่า การใช้จุกนมหลอก (pacifier) และการให้ทารกดูดนมจากขวดนม (bottle nipple) เกิดผลเสียต่อการให้ทารกกินนมแม่ เนื่องจากความวิตกกังวลว่าทารกอาจมีอาการสับสนระหว่างกลไกการดูดนมแม่จากเต้าและกลไกการดูดนมจากขวดนม ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยการเริ่มให้ทารกดูดนมจากขวดนมก่อน ทารกจะคุ้นเคยกับความง่ายในการดูดนมจากขวดนม และต้องใช้เวลาปรับตัวในการเปลี่ยนแปลงวิธีการดูดนมเพื่อปรับมาดูดนมจากเต้านมของมารดาในกรณีใช้จุกนมหลอก ทารกจะดูดจุกนมหลอกที่ไม่มีการได้น้ำนมจากการดูด ทารกที่คุ้นเคยกับการดูดเต้านมหลอก อาจไม่ยอมดูดหรือดูดนมน้อยลงเมื่อดูดนมจากเต้า โดยหากร่วมกับการให้ดูดนมจากขวดนมก่อนร่วมด้วยแล้ว ทารกอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัวสำหรับดูดนมแม่มากขึ้น ซึ่งผลที่พบและคำอธิบายเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดในการศึกษาในกลุ่มทารกที่คลอดปกติปราศจากภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากกลไกการดูดนมแม่จากเต้านั้นมีความซับซ้อน ทารกต้องมีความสมบูรณ์ของกลไกระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่รองรับ ได้แก่ ความร่วมมือในการทำงานร่วมกันของเส้นประสาทสมอง 5 เส้น ส่วนประสาทจากส่วนไขสันหลังในหลายส่วน และกล้ามเนื้อ 30 คู่ที่ดูแลเกี่ยวกับทำงานในช่องปาก คอหอย กล่องเสียง และการหายใจ1 ดังนั้น ข้อสรุปที่ดูว่าจะเกิดผลเสียอาจไม่สามารถเหมารวมในทารกทุกกลุ่ม เช่น การใช้จุกนมหลอกอาจใช้เพื่อฝึกทารกให้ระบบการทำงานของทารกในการดูดนมยังไม่มีความพร้อม โดยให้ทารกดูดจุกนมหลอกที่ยังไม่ได้เริ่มให้สารอาหาร (nonnutritive sucking) ก่อนการดูดนมจากเต้าจริง1 เป็นต้น การศึกษาถึงประโยชน์ของจุกนมหลอกหรือการดูดนมจากขวดนมในเฉพาะกลุ่มทารกที่ยังขาดความพร้อมหรือมีความผิดปกติของระบบประสาทและกล้ามเนื้อในด้านต่าง ๆ จึงยังมีความต้องการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Zimmerman E. Pacifier and bottle nipples: the targets for poor breastfeeding outcomes. J Pediatr (Rio J) 2018;94:571-3.