รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ยาฝังคุมกำเนิดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงน้อย ซึ่งจะแนะนำให้ใช้ในมารดาที่ต้องการคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน หรือมารดาที่วัยรุ่นที่อายุยังน้อย มีการศึกษาถึงผลของการใช้ยาฝังคุมกำเนิดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า การที่มารดาใช้ยาฝังคุมกำเนิดหลังคลอดทันที หรือเว้นระยะ 4-6 สัปดาห์หลังคลอดไม่ได้มีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกด้วย1 ดังนั้น ในมารดาที่ต้องการการคุมกำเนิดในระยะยาวที่มีประสิทธิภาพสูง การใช้ยาฝังคุมกำเนิดอาจเป็นทางเลือกหนึ่งของมารดาที่ต้องการการวางแผนคุมกำเนิดที่บุคลากรควรให้คำแนะนำในเรื่องเหล่านี้ เมื่อมารดามาขอคำปรึกษาเรื่องผลของการคุมกำเนิดกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Averbach S, Kakaire O, McDiehl R, Dehlendorf C, Lester F, Steinauer J. The effect of immediate postpartum levonorgestrel contraceptive implant use on breastfeeding and infant growth: a randomized controlled trial. Contraception 2019;99:87-93.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
พื้นฐานของเชื้อชาติในแต่ละประเทศจะมีผลต่อค่านิยมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นอกจากนี้การย้ายถิ่นทิ่อยู่ของเชื้อชาติหนึ่งไปตั้งรกรากยังประเทศอื่นยังส่งผลต่อทัศนคติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย มีการศึกษาในประเทศสเปน โดยเปรียบเทียบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวของมารดาเชื้อชาติสเปนกับมารดาเชื้อชาติจีนที่เกิดในประเทศจีนที่ย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศสเปนพบว่ามีความแตกต่างของอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาสองกลุ่มนี้ คือมารดาเชื้อชาติจีนที่ย้ายมาอยู่ในสเปนมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเมื่อมารดาได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลต่ำกว่ามารดาเชื้อชาติสเปนอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 80 เทียบกับร้อยละ 36)1 จากผลการศึกษานี้ ผู้วิจัยอธิบายว่า นอกจากปัจจัยเรื่องเชื้อชาติแล้ว การย้ายถิ่นฐานของมารดาอาจส่งผลต่อการปรับตัวในด้านการงานและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อทัศนคติในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรเอาใจใส่กับปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ที่จำเป็นต้องมีการให้คำปรึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยดูแลและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
Aguilar-Ortega JM, Gonzalez-Pascual JL, Cardenete-Reyes C, Perez-de-Algaba-Cuenca C, Perez-Garcia S, Esteban-Gonzalo L. Adherence to initial exclusive breastfeeding among Chinese born and native Spanish mothers. BMC Pregnancy Childbirth 2019;19:44.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันมีค่านิยมในการใช้เครื่องปั๊มนมกันเป็นอย่างมาก ซึ่งการใช้เครื่องปั๊มนมอาจจะดูว่าเป็นส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่โดยหลักทั่วไปหากมารดาไม่ได้มีการแยกจากทารก การให้ทารกดูดนมจากเต้ามารดาโดยตรง จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ในกรณีที่มารดาเลือกที่จะใช้เครื่องปั๊มนม มีการศึกษาถึงผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่า การปั๊มนมไม่ได้มีผลต่อการดูแลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ทำอยู่แล้วและไม่มีผลต่อเป้าหมายของระยะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรให้ความรู้ถึงหลักของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากเต้าก่อน และหากมีความจำเป็นที่มารดาต้องทำงานหรือแยกจากทารก การปั๊มนมจึงจะมีบทบาท โดยไม่ควรมีค่านิยมในการปั๊มหรือเก็บนมแม่แข่งขันหรือเปรียบเทียบกัน
เอกสารอ้างอิง
Fewtrell MS, Kennedy K, Lukoyanova O, et al. Short-term efficacy of two breast pumps and impact on breastfeeding outcomes at 6 months in exclusively breastfeeding mothers: a randomised trial. Matern Child Nutr 2019:e12779.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การดูแลการคลอดในปัจจุบันจะดูแลมารดาที่ตั้งครรภ์และคลอดตามความเสี่ยงและจะมีการวางแผนการคลอด ซึ่งส่วนใหญ่มักให้คลอดไม่เกินกำหนดของการคลอด ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีการกระตุ้นการคลอดด้วยยา ซึ่งยาที่ใช้กระตุ้นหรือเร่งการคลอดที่ใช้บ่อย ได้แก่ ออกซิโทซิน โดยที่ออกซิโทซินที่ใช้กระตุ้นการคลอดจะเป็นออกซิโทซินสังเคราะห์ แม้ว่าในร่างกายของมารดาจะมีฮอร์โมนออกซิโทซินอยู่แล้ว ซึ่งออกซิโทซินในร่างกายของมารดาจะมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการคลอดและการดูดนมแม่ของทารก ดังนั้น อาจจะมีข้อคำถามหรือความสงสัยว่าการให้ออกซิโทซินสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการคลอดหรือเร่งคลอดมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ มีการศึกษาเพื่อตอบคำถามนี้พบว่า การให้ออกซิโทซินสังเคราะห์เพื่อกระตุ้นการคลอดไม่มีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 แต่หากมารดาจำเป็นต้องผ่าตัดคลอด ปัจจัยเรื่องการผ่าตัดคลอดจะส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาจะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็วกว่ามารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอด จากข้อมูลนี้ ในมารดาที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรจะได้การให้ข้อมูลถึงผลของการใช้ยากระตุ้นคลอดต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หากมารดามีข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องกระตุ้นคลอด เพื่อเป็นการลดความวิตกกังวลหรือความเครียดของมารดาและครอบครัวที่อาจไปมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Fernandez-Canadas Morillo A, Duran Duque M, Hernandez Lopez AB, et al. Cessation of breastfeeding in association with oxytocin administration and type of birth. A prospective cohort study. Women Birth 2019;32:e43-e8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า การคลอดในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะส่งเสริมและสนับสนุนให้มารดามีโอกาสมากกว่าที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ แต่กระบวนการที่จะสนับสนุนให้เกิดโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกนั้นมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจที่จะรณรงณ์ให้เกิดการขับเคลื่อนของการสนับสนุนให้มีระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกควรทำความเข้าใจ1 ได้แก่
ปัจจัยเกี่ยวกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ที่สำคัญอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด
ปัจจัยความท้าทายเชิงระบบ การเดินทาง และการเข้าถึงข้อมูลที่จะสนับสนุนให้เกิดกระบวนการของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก
ปัจจัยในการวางตำแหน่งผู้นำนโยบายอย่างเหมาะสมที่จะเอื้อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติทำได้ดีและสะดวก
ปัจจัยเรื่องความโปร่งใสและตรวจสอบได้ของคณะทำงาน
ปัจจัยในการเชื่อมโยงนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม
การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในสถานที่จริงที่ต้องการนำระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมาใช้โดยตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้สามารถสร้างแนวทางการรณรงค์ที่ส่งเสริมความสำเร็จของการสร้างระบบโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกได้
เอกสารอ้างอิง
Carroll G, Atuobi-Yeboah A, Hromi-Fiedler A, Aryeetey R, Safon C, Perez-Escamilla R. Factors influencing the implementation of the becoming breastfeeding friendly initiative in Ghana. Matern Child Nutr 2019:e12787.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)