เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การสังเกตมารดาให้นมทารกในการประเมินการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ผู้ที่ฝึกอบรมไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตรหรือที่ปรึกษา หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์อื่น จำเป็นต้องมีการเฝ้าดูเพื่อประเมินท่าในการให้นม การเข้าเต้า และประสิทธิภาพในการดูดนมของทารกแรกเกิด โดยสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลหลักของมารดาและครอบครัวส่วนใหญ่ก็คือ คำถามที่ว่า “ทารกได้รับนมเพียงพอหรือไม่” ซึ่งหากมารดาได้รับการสอนให้เฝ้าดูสัญญาณ หรือลักษณะที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมที่เพียงพอ มารดาจะรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากขึ้นเมื่อพบทารกแสดงอาการว่าได้รับนมที่เพียงพอ ในทางกลับกันหากทารกไม่มีลักษณะอาการที่แสดงว่าได้รับนมที่เพียงพอ ทารกอาจต้องได้รับการประเมินเพิ่มเติม

สำหรับสัญญาณหรือลักษณะที่บ่งบอกว่าทารกได้รับนมที่เพียงพอ1 ได้แก่   

  • ได้ยินเสียงการเคลื่อนไหวของลำไส้ทารกบ่อย ๆ (3-4 ครั้งหรือมากกว่าใน 24 ชั่วโมง) ในวันที่สามหลังคลอด และจะพบทารกมีอุจจาระสีเหลืองในวันที่สี่หลังคลอด แต่หลังจาก 5-6 สัปดาห์หลังคลอด ทารกปกติบางคนที่กินนมแม่อาจพบว่าไม่อุจจาระเป็นเวลาหลายวันได้
  • ทารกปัสสาวะ 6 ครั้งหรือมากกว่าใน 24 ชั่วโมงในวันที่สาม หรือพบว่ามีการเปลี่ยนผ้าอ้อมเปียกในจำนวนเดียวกัน (หากมีการเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ทุกครั้งที่ทารกปัสสาวะ) อย่างไรก็ตาม การนับจำนวนผ้าอ้อมอาจไม่แม่นยำถ้าหากไม่ได้มีการเปลี่ยนผ้าอ้อมใหม่ทุกครั้ง แต่ทารกปกติควรจะต้องมีการปัสสาวะอย่างน้อย 6 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
  • ได้ยินเสียงกลืนนมระหว่างที่ทารกกินนม
  • ทารกรู้สึกพึงพอใจหรืออิ่มเอมหลังการกินนม
  • ทารกควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20 – 30 กรัม (¾ – 1 ออนซ์) ต่อวันหรือ 100 – 200 กรัม (5-7 ออนซ์) ต่อสัปดาห์ โดยที่ความเร็วของการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักจะแตกต่างกันไปตามน้ำหนักขณะแรกเกิดของทารก ทารกที่ตัวเล็กจะเติบโตช้ากว่าทารกที่ตัวใหญ่ ทารกแรกเกิดที่คลอดครบกำหนดควรเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นในวันที่ 3-5 ของชีวิต โดยใน 1-2 วันแรกจะพบทารกมีน้ำหนักลดลง ซึ่งทารกส่วนใหญ่จะกลับไปมีน้ำหนักเท่ากับในช่วงแรกเกิดในราว 7-10 วันหลังคลอด  ในกรณีที่พบว่าทารกมีน้ำหนักลดลงตั้งแต่ร้อยละ 7-8 ขึ้นไปของน้ำหนักทารกแรกเกิด จำเป็นต้องได้รับการประเมินและติดตามอย่างเหมาะสมด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้แน่ใจว่า ทารกไม่มีปัญหาจริง ๆ  สำหรับทารกที่เริ่มกินนมแม่เร็ว จะกลับมามีน้ำหนักเท่ากับตอนแรกเกิดได้เร็วเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

รูปแบบของการจัดการให้นมแม่สำหรับทารกแรกเกิด ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

เมื่อการให้นมแม่ได้เริ่มต้นขึ้น โดยปกติมักพบว่าจะมีรูปแบบของความถี่ในการให้นมอย่างน้อย 8 ครั้งใน 24 ชั่วโมง (รวมทั้งกลางวันและกลางคืน) ต่อมาเมื่อทารกอายุมากขึ้นราวหลัง 6 สัปดาห์หลังคลอด จะพบทารกมีช่วงเวลาที่นอนนานขึ้นในตอนกลางคืน แต่หากพบทารกที่นอนหลับตลอดคืนในตั้งแต่ในช่วงแรก ลักษณะเช่นนี้อาจมีผลให้ทารกได้รับนมหรือพลังงานไม่เพียงพอ เนื่องจากระดับโปรแลกตินในตอนกลางคืนจะมีระดับที่สูงที่สุด การให้ทารกดูดนมในตอนกลางคืน จึงช่วยสร้างความมั่นใจว่าจะกระตุ้นให้ระดับโปรแลกตินสูงเพียงพอสำหรับการสร้างน้ำนม และการยับยั้งการตกไข่

ทารกบางคนจะมีรูปแบบของการกินนมที่ “กระจุกตัวเป็นช่วง” ซึ่งทารกจะกินนมบ่อยมากในช่วงแรก หลังจากนั้นจะเว้นระยะของการกินนมนานขึ้นสลับกัน  หากทารกมีน้ำหนักขึ้นดี สิ่งที่พบนี้ถือว่าเป็นความปกติที่พบได้จากลักษณะของความหลากหลายที่พบในทารกแต่ละคน1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

รูปแบบของการจัดการให้นมแม่สำหรับทารกแรกเกิด ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ทารกแรกเกิดมักจะส่งสัญญาณว่าต้องการกินนมทุก 1-3 ชั่วโมง (นับตั้งแต่เริ่มให้นมครั้งแรกจนถึงเริ่มให้นมถัดไป) การกินนมของทารกแรกเกิดมักบ่อยที่สุดในช่วง 2-7 วันแรก โดยจะเกิดขึ้นพร้อมน้ำนมเริ่มมามากขึ้น (อยู่ในการสร้างน้ำนมระยะที่ 2) ซึ่งความถี่ของการกินนมที่พอเหมาะจะราว 8-12 ครั้งต่อวัน โดยในช่วง 7-10 วันแรก จะพบทารกกินนมในตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน

            ในช่วง 2-7 วันแรกบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้บริการส่วนมากมักเชื่อว่า ช่วงเวลาที่เว้นระยะของการให้นมที่นานกว่า 3 ชั่วโมงจะไม่เหมาะสม จึงแนะนำให้มารดาปลุกและให้นมทารก หากทารกนอนนานเกิน 3 ชั่วโมงหรือหากคุณแม่รู้สึกตึงคัดเต้านมมาก อย่างไรก็ตาม “หากทารกไม่ต้องการกินนมก็ไม่ควรบังคับหรือให้อาหารเสริม”1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

รูปแบบของการจัดการให้นมแม่สำหรับทารกแรกเกิด ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ทารกแรกเกิดปกติควรได้รับโอกาสที่จะกินนมแม่ทันทีหลังคลอด ซึ่งโดยทั่วไปทารกปกติที่ไม่ได้รับยาที่จะมีผลกระทบต่อทารกในระหว่างการคลอดจะตื่นตัวมากที่สุดในช่วงหลังคลอดใหม่ ๆ  การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยที่ในระยะแรกหลังคลอดจะมีช่วงเวลาที่ทารกตื่นตัว ซึ่งจะตามมาด้วยช่วงเวลาของที่ทารกง่วงหลับ แม้ว่าทารกแรกเกิดจำนวนมากจะเริ่มกินนมแม่ได้ภายใน 60 นาทีแรกของการคลอด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทารกปกติทุกคนจะสามารถทำได้เช่นนั้น ทารกบางคนอาจเพียงแค่เคล้าเคลียบริเวณหัวนม แต่ยังไม่มีการอมหัวนมและลานนมเพื่อที่จะดูดนมจนกระทั่งต้องใช้เวลาอีกพักหนึ่งหลังจากนั้น  ซึ่งตามที่ได้บรรยายไว้ก่อนหน้านี้มีหลายการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเปิดโอกาสให้ทารกได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อที่มีต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

การให้ทารกคายหัวนมออกจากปากในระหว่างที่ให้นม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดาต้องการให้ทารกคายหัวนมออกจากปากในระหว่างที่ให้นม มารดาสามารถหยุดแรงดูดของทารกที่สร้างขึ้นโดยการดูดนม โดยใช้นิ้วกดที่เต้านมที่รอยต่อของริมฝีปากของทารก หรือโดยการใช้นิ้วที่สะอาดสอดเข้าไปที่มุมของปากของทารก ทารกก็จะคายหัวนมและลานนมออกจากปากอย่างนุ่มนวลโดยวิธีนี้สามารถช่วยป้องกันอาการเจ็บหัวนมได้ และลักษณะของหัวนมที่ทารกคายออกมาควรจะเหมือนกับก่อนการให้นมคือ มีลักษณะกลมไม่เปลี่ยนรูปหรือแบน1  

เอกสารอ้างอิง

1.            Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study modules, level 1, fourth edition. In: International W, ed.2014.

แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)