รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?วิตามินซีช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ และช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันโรค โดยหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวิตามินซีต้องการวันละ 110 มิลลิกรัมต่อวัน วิตามินซีมักพบในผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ แคนตาลูป มันฝรั่ง มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ พริกไทย?และผักใบเขียว การที่มารดามีภาวะขาดวิตามินซีจะทำให้ระดับของวิตามินซีในกระแสเลือดต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อระดับของวิตามินซีในน้ำนมต่ำ และอาจทำให้เกิดการขาดวิตามินซีในทารกด้วย การเสริมวิตามินซีในมารดาจะช่วยให้ระดับวิตามินซีในน้ำนมสูงขึ้นได้1 อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป หากมารดาที่ไม่ได้มีภาวะเสี่ยงในการขาดวิตามินซี แนะนำให้มารดารับประทานอาหารให้ครบหมู่ร่วมกับการกินผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง น่าจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินซีในทารกได้ สำหรับในประเทศไทยมีการศึกษาถึงปริมาณวิตามินซีในน้ำนมมารดา พบว่ามีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของทารก ซึ่งน่าจะเกิดจากการรับประทานผลไม้ที่มีตลอดทั้งปีของมารดา2
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
Chatranon W, Siddhikol C, Chavalittamrong B. Ascorbic acid and dehydroascorbic acid in breast milk of Thai mothers. J Med Assoc Thai 1979;62:315-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีว่า การรับประทานโฟเลตเสริมในระหว่างการตั้งครรภ์จะช่วยป้องกันความผิดปกติของระบบประสาทในทารกได้โดยเฉพาะภาวะความผิดปกติของระบบหลอดประสาทที่ไม่ปิดหรือทารกที่ไม่มีการปิดของกะโหลกศีรษะ ซึ่งควรรับประทานโฟเลตเสริมวันละ 400 ไมโครกรัมก่อนการตั้งครรภ์ 1-3 เดือนและรับประทานต่อเนื่องอย่างน้อยใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ แต่ในสตรีให้นมบุตรนั้น การเสริมโฟเลตมีความจำเป็นหรือไม่ ก่อนอื่น ต้องดูความต้องการพื้นฐานในหญิงไทยที่ให้นมบุตร โดยหญิงให้นมบุตรต้องการโฟเลตหรือวิตามินบีเก้าต้องการวันละ 500 ไมโครกรัมต่อวัน โฟเลตมักพบในอาหารที่เป็นธัญพืช ผักใบเขียว กะหล่ำปลี ตับ เนื้อสัตว์ และถั่วลันเตา ในอาหารไทย ข้าวกล้องหอมมะลิมีโฟเลต 263 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม ข้าวเหนียวมีโฟเลต 169 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม ข้าวหอมมะลิมีโฟเลต 158 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม ผักโขมมีโฟเลต 160 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม ผักคะน้ามีโฟเลต 80 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม สับประรดศรีราชามีโฟเลต 301 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม ส้มโชกุนมีโฟเลต 292 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม และมะละกอแขกดำมีโฟเลต 256 ไมโครกรัมต่อ 100 กรัม จะเห็นว่า ควรแนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูงในสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการให้นมบุตรจะช่วยป้องกันการขาดโฟเลตในทารกได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโฟเลตมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนและสารพันธุกรรม ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการขาดโฟเลต อาจพิจารณาการเสริมโฟเลตเพิ่มเติมจากอาหารที่รับประทาน โดยการเสริมโฟเลตในระหว่างการให้นมบุตรในมารดาที่ขาดจะเพิ่มระดับของโฟเลตในน้ำนมแม่ได้1
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ? ?ในสตรีไทยที่ให้นมบุตร ความต้องการวิตามินบีสิบสองต้องการวันละ 2.8 ไมโครกรัมต่อวัน การขาดวิตามินบีสิบสองจะทำให้เกิดอาการซีดจากเม็ดเลือดแดงแตกง่ายและมีขนาดใหญ่กว่าปกติ (Megaloblastic anemia) ความผิดปกติของระบบประสาท ชาปลายมือปลายเท้า หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้าและความจำเสื่อม การขาดวิตามินบีสิบสองมักพบในผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติและกินอาหารจำพวกธัญพืชน้อย เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินบีสิบสองมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่ว และผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางเพอร์นิเชียส (Pernicious anemia) หรือผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตัดส่วนของกระเพาะอาหารออกไป ที่ทำให้ร่างกายไม่สามารถจะมีการดูดซึมวิตามินบีสิบสองที่กระเพาะอาหารได้ ?การขาดวิตามินบีสิบสองของมารดาจะส่งผลต่อระดับของวิตามินบีสิบสองในน้ำนมลดลงและจะทำให้เกิดการขาดวิตามินบีสิบสองในทารกด้วย โดยทารกที่ขาดวิตามินบีสิบสองจะมีความผิดปกติของระบบเลือด ระบบประสาท และการเผาพลาญอาหารของร่างกาย การเสริมวิตามินบีสิบสองในระหว่างการให้นมบุตรในมารดาที่ขาดจะเพิ่มระดับของวิตามินบีหกในน้ำนมแม่ได้อย่างรวดเร็ว 1 โดยทั่วไป แนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีวิตามินบีสิบสองสูงในสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการให้นมบุตรจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินบีสิบสองในทารกได้
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?ในสตรีไทยที่ให้นมบุตร ความต้องการวิตามินบีหกต้องการวันละ 2 มิลลิกรัมต่อวัน การขาดวิตามินบีหกจะทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาท มือเท้าชา หงุดหงิด และมีผื่นขึ้นตามผิวหนังได้ การขาดวิตามินบีหกอาจพบควบคู่กันกับการขาดวิตามินบีหนึ่งและบีสาม เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินบีหกมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ปลา ไข่ ผักใบเขียว ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่ว ซึ่งจะเป็นอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่งและบีสามสูง ขณะเดียวกันการขาดวิตามินบีหกของมารดาจะส่งผลต่อระดับของวิตามินบีหกในน้ำนมลดลงและจะทำให้เกิดการขาดวิตามินบีหกในทารกด้วย โดยทารกที่ขาดวิตามินบีหกจะแสดงพฤติกรรมที่ผิดปกติ หงุดหงิดและอารมณ์แปรปรวนง่าย การเสริมวิตามินบีหกในระหว่างการให้นมบุตรในมารดาที่ขาดจะเพิ่มระดับของวิตามินบีหกในน้ำนมแม่ได้ 1 โดยทั่วไป แนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีวิตามินบีหกสูงในสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการให้นมบุตรจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินบีหกในทารกได้
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ?ในสตรีไทยที่ให้นมบุตร ความต้องการวิตามินบีสามหรือไนอะซิน (Niacin) ต้องการวันละ 17 มิลลิกรัมต่อวัน การขาดวิตามินบีสามจะทำให้เกิดโรคเพลลากร้า (Pellagra) ซึ่งจะมีสมองเสื่อม ผิวหนังอักเสบ และท้องเสีย อาจพบควบคู่กันกับการขาดวิตามินบีหนึ่งและบีหก เนื่องจากอาหารที่มีวิตามินบีสามมีอยู่ในเนื้อสัตว์ ไข่ ผักใบเขียว ผลิตภัณฑ์จากนมและถั่ว ซึ่งจะเป็นอาหารที่มีวิตามินบีหนึ่งและบีหกสูงอยู่ด้วย เช่นเดียวกันการขาดวิตามินบีสามของมารดาจะส่งผลต่อระดับของวิตามินบีสามในน้ำนมลดลงและจะทำให้เกิดการขาดวิตามินบีสามในทารกด้วย การเสริมวิตามินบีสามในระหว่างการให้นมบุตรในมารดาที่ขาดจะเพิ่มระดับของวิตามินบีสามในน้ำนมแม่ได้1 โดยทั่วไป แนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีวิตามินบีสามสูงในสัดส่วนที่พอเหมาะระหว่างการให้นมบุตรน่าจะช่วยป้องกันการขาดวิตามินบีสามในทารกได้
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)