รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ในสตรีที่ตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สามจะมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ในขณะที่สตรีที่ให้นมบุตรมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรีต่อวัน ซึ่งความต้องการพลังงานในระหว่างการให้นมบุตรจะสูงกว่าในระหว่างการตั้งครรภ์และในภาวะปกติ ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากสตรีที่ให้นมบุตรมีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตน้ำนมที่จะเป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทารก ดังนั้น ในการรับประทานอาหารของสตรีที่ให้นมบุตรจำเป็นต้องมีการรับประทานอาหารที่เพิ่มขึ้นทั้งในปริมาณและต้องมีความหลากหลายของสารอาหารให้ครอบคลุมตามความต้องการในระหว่างการให้นมบุตร ในกรณีที่มารดารับประทานอาหารได้ไม่เพียงพอหรือมีภาวะทุพโภชนาการ จะต้องผลต่อคุณค่าของน้ำนมได้ โดยมีการศึกษาพบว่า ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในนมแม่จะลดระดับลงในมารดาที่มีภาวะทุพโภชนาการ 1 ดังนั้น เพื่อป้องกันภาวะทุพโภชนาการในมารดา มารดาควรศึกษาถึงความต้องการสารอาหารหรือพลังงานในแต่ละวันของตนเอง เอาใจใส่ และเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมทั้งปริมาณและชนิดของสารอาหาร เพื่อให้นมแม่มีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับทารกที่เป็นที่รักที่สุด
เอกสารอ้างอิง
Miranda R, Saravia NG, Ackerman R, Murphy N, Berman S, McMurray DN. Effect of maternal nutritional status on immunological substances in human colostrum and milk. Am J Clin Nutr 1983;37:632-40.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ในขณะที่สตรีให้นมบุตร อาหารที่เป็นแหล่งสำคัญในการบำรุงน้ำนม นอกจากนี้ ภาวะโภชนาการของมารดาที่มีมาก่อนหน้าในระยะที่ให้นมบุตรก็มีความสำคัญด้วย เนื่องจากสารอาหารบางตัวในน้ำนมมารดา ปริมาณของสารอาหารไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณสารอาหารที่มารดาได้รับในแต่ละวันแต่ได้รับจากสารอาหารที่สะสมในร่างกายของมารดา ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำโดยทั่วไปสำหรับอาหารในสตรีที่ให้นมบุตรดังนี้1
ควรรับประทานอาหารให้ครบตามความต้องการพลังงานของร่างกาย คือ คำนวณจากค่าพลังงานที่ร่างกายต้องการบวกเพิ่มอีก 500 กิโลแคลอรีในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ผลไม้ ธัญพืช และผลิตภัณฑ์จากนม
ควรรับประทานนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้วในช่วงเช้าและเย็นหลังมื้ออาหาร
ควรจัดอาหารว่างในระหว่างมื้อในช่วงสายและในช่วงบ่าย โดยจัดเป็นอาหารที่ย่อยง่ายหรือผลไม้
ควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอสูง ได้แก่ แครอท มะละกอ และฟักทอง
ไม่ควรจำกัดอาหารหรือกินยาลดน้ำหนักในระหว่างการให้นมบุตร
หากมารดากระหายน้ำ ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เนื่องจากระหว่างการให้นมบุตรมารดาต้องการการดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา หรือกาแฟ เนื่องจากคาเฟอีนจะผ่านน้ำนมไปที่ทารก ทำให้ทารกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่ยอมนอน (หากเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรดื่มเกินวันละสองถ้วย เพราะอาจมีอันตรายต่อทารกได้)
เอกสารอ้างอิง
ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ? ความต้องการของหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการโครเมียม (chromium) วันละ 45 ไมโครกรัม ความต้องการของโครเมียมจะเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติ 20 ไมโครกรัม โครเมียมพบในอาหารจำพวกยีสต์ และเมล็ดธัญพืช โครเมียมจะช่วยในระบบการเผาพลาญน้ำตาลโดยทำงานร่วมกับอินซูลิน และช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกายด้วย ซึ่งการขาดโครเมียมจะส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ปริมาณของโครเมียมในน้ำนมไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของโครเมียมในอาหารของมารดา1 ดังนั้น การดูแลในเรื่องอาหารของมารดาให้มารดาไม่มีภาวะขาดโครเมียมในเบื้องต้นก่อน จะทำให้ปริมาณโครเมียมในน้ำนมมีพอเพียงสำหรับความต้องการของทารก
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ?ความต้องการซีลีเนียม (selenium) ในหญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการวันละ 70 ไมโครกรัม ความต้องการซีลีเนียมเพิ่มจากภาวะปกติ 15 ไมโครกรัมต่อวัน ซีลีเนียมพบในอาหารทะเล เครื่องในสัตว์ ปลาทูน่า และธัญพืช ซีลีเนียมจะช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หากขาดอาจก่อให้เกิดโรคคีชาน (Keshan disease) ที่มีอาการอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง และการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจที่ผิดปกติ และโรคคาชีน-เบค (Kashin-Beck disease) ที่ทำให้เกิดความผิดปกติของกระดูกและข้อ โดยมีอาการปวดข้อเรื้อรัง ข้อแข็ง งอลำบาก ปริมาณซีลีเนียมในน้ำนมสัมพันธ์กับปริมาณซีลีเนียมในอาหารของมารดา 1 ดังนั้น จึงควรใส่ใจกับการเลือกรับประทานอาหารที่มีซีลีเนียมให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกายระหว่างการให้นมบุตร
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? หญิงไทยที่ให้นมบุตรต้องการธาตุสังกะสีวันละ 8 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งความต้องการจะเพิ่มขึ้นจากในภาวะปกติ 1 มิลลิกรัมต่อวัน ธาตุสังกะสีนั้นจะช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันและเชื่อว่าอาจจะมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนโปรแลคติน เนื่องจากฮอร์โมนโปรแลคตินจับกับธาตุสังกะสี แต่ความสัมพันธ์ที่ชัดเจนยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป ธาตุสังกะสีพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลโดยเฉพาะ หอยนางรม และไข่ โดยหอยนางรมจะพบธาตุสังกะสี 75 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื้อสัตว์จะพบธาตุสังกะสี 1.5-4 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ไข่แดงจะพบธาตุสังกะสี 1.5 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม ดังนั้น ในมารดาที่รับประทานอาหารจำพวกมังสวิรัติ นอกจากจะมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบีแล้ว ยังมีความเสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสีด้วย ซึ่งหากมารดาขาดธาตุสังกะสีจะส่งผลทำให้ทารกเกิดการขาดธาตุสังกะสีได้ แม้ว่าการรับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสีเพิ่มขึ้น ไม่ได้เพิ่มปริมาณธาตุสังกะสีในน้ำนม1 อย่างไรก็ตาม ควรแนะนำให้มารดารับประทานอาหารที่มีสังกะสีสูงเพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดธาตุสังกะสีของมารดา และแนะนำการเสริมธาตุสังกะสีในมารดาที่มีความเสี่ยงในการขาดธาตุสังกะสีทั้งในระหว่างช่วงของการตั้งครรภ์และช่วงที่ให้นมบุตร
เอกสารอ้างอิง
Abe SK, Balogun OO, Ota E, Takahashi K, Mori R. Supplementation with multiple micronutrients for breastfeeding women for improving outcomes for the mother and baby. Cochrane Database Syst Rev 2016;2:CD010647.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)