คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

มารดาต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหมหากสงสัยมีการติดเชื้อโควิด 19

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หากมารดามีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 หรือมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด 19 มารดาจะทำการตรวจการติดเชื้อโควิด 19 เพื่อยืนยันผล โดยขณะที่อยู่ในระยะที่สงสัยมีการติดเชื้อโควิด 19 หรือหลังได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด 19  หากมารดาไม่ได้มีอาการรุนแรง ในมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อยู่แล้ว มารดาสามารถจะให้ลูกกินนมแม่ต่อได้  แต่มารดาควรมีการดูแลตนเองเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านไปยังทารก โดยการล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือใช้แอลกอฮอล์ก่อนการสัมผัสทารก ใส่หน้ากากอนามัยและเปลี่ยนหน้ากากอนามัยเมื่อรู้สึกว่าหน้ากากอนามัยชื้น โดยหลังการใช้หน้ากากอนามัยแล้ว ไม่ควรนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ใหม่1

            สำหรับในกรณีที่มารดามีอาการรุนแรง การดูแลมารดาจำเป็นต้องดูแลที่หอผู้ป่วยวิกฤต มารดาจะมีอาการเหนื่อย หอบ และอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ การให้ลูกกินนมแม่จากเต้าหรือการเก็บนมแม่เพื่อนำมาให้กับลูกจะถูกจำกัดโดยอาการของมารดา การให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารกอาจมีความจำเป็น

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

มารดาต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในการให้นมลูกในยุคโควิด 19

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่าในประเทศไทย ตัวเลขการติดเชื้อโควิด 19 จะต่ำ แต่ในหลายประเทศทั่วโลก อัตราการติดเชื้อโควิด 19 ยังสูง โดยในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อในช่วงที่มีการให้นมบุตร ซึ่งในกรณีที่มีการสงสัยหรือมารดามีการติดเชื้อโควิด 19 โดยไม่มีอาการรุนแรง มารดาต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมในการให้ลูกกินนมแม่1 ได้แก่

  • มารดาควรล้างมือบ่อย ๆ ในระหว่างวัน โดยล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์ และควรล้างมือทุกครั้งก่อนการสัมผัสตัวทารก
  • มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยในระหว่างการให้นมลูก โดยที่
    • ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทันทีที่รู้สึกว่าหน้ากากอนามัยชื้น
    • หลังการใช้หน้ากากอนามัยแล้วควรทิ้งทันที และไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสด้านหน้าของหน้ากากอนามัย หากจะถอดหน้ากากอนามัยควรถอดจากบริเวณที่คล้องกับใบหู หรือเป็นแบบสายผูก ให้แก้สายผูกจากทางด้านหลัง
  • หากมารดามีการไอหรือจามใส่กระดาษชำระ ควรทิ้งกระดาษชำระทันที และควรล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์ หลังการไอหรือจาม
  • มารดาควรทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสใกล้ตัวด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้แอลกอฮอล์                  

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาที่สงสัยติดเชื้อโควิด 19

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด 19 สตรีที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในระยะคลอดอาจพบว่ามีมารดาที่มีความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อได้ในประเทศที่ยังมีการติดเชื้อในกลุ่มประชากรทั่วไปสูง การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากมารดาและครอบครัวมีความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโควิด 19 แล้วการตัดสินใจในการที่จะให้ทารกได้กินนมแม่ของมารดา จะมีการตัดสินใจบนความเข้าใจในเรื่องโรคและการติดเชื้อโควิด 19 อย่างเหมาะสม โดยข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกยังมีการแนะนำให้มารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ เนื่องจากประโยชน์หรือข้อดีในการให้ลูกกินนมแม่ยังมีมากหรือสูงกว่าข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อมูลของโควิด 19 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการให้นมแม่ มารดาควรมีการป้องกันการแพร่เชื้อในระหว่างการให้นมลูกด้วย1

เอกสารอ้างอิง

1.        WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.

ปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์ในการเลือกให้ลูกกินนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การตัดสินใจในการให้ลูกกินนมแม่มีมาก่อนการคลอด ซึ่งมักจะมีการตัดสินใจตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ดังนั้น การให้ความรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากการให้ความรู้มารดาและครอบครัวในระหว่างการฝากครรภ์ จึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการเลือกตัดสินใจให้ลูกกินนมแม่1 เนื่องจากหากมารดาและครอบครัวมีความเข้าใจถึงประโยชน์และความสำคัญของการให้ลูกได้กินนมแม่ และในกรณีที่มารดามีข้อสงสัยหรือมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการที่จะให้ลูกกินนมแม่แล้วได้รับการให้คำปรึกษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ จะส่งผลดีต่อการเลือกที่จะให้ลูกกินนมแม่ ซึ่งการเลือกตัดสินใจที่จะให้ลูกกินนมแม่จะมีผลดีโดยเพิ่มโอกาสที่มารดาจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จมากขึ้น ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องนมแม่แก่มารดาในระหว่างการฝากครรภ์จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.            Ragusa R, Giorgianni G, Marranzano M, et al. Breastfeeding in Hospitals: Factors Influencing Maternal Choice in Italy. Int J Environ Res Public Health 2020;17.

การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับความปลอดภัยของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่าการดำเนินการตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้  แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการในการดูแลความปลอดภัยของมารดาและทารกอย่างเหมาะสมด้วย โดยเฉพาะในระหว่างการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีการรายงานการพบการเสียชีวิตของทารกจากภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงร่างกายแบบเฉียบพลัน (sudden unexpected postnatal collapse) ซึ่งพบน้อย แต่จะส่งผลต่อมารดา ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก รวมถึงในระหว่างการจัดให้มารดาอยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการนอนร่วมเตียงเดียวกันของมารดาและทารก ก็อาจจะพบภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน (sudden unexplained infant death) ได้1 ดังนั้น สถานพยาบาล ควรมีมาตรการในการลดหรือป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ โดยการจัดการให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะหลังคลอด และควรมีการดึงมารดาและครอบครัวให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทารก โดยแจ้งให้มารดาตระหนักว่า หน้าที่ในการดูแลทารกไม่ใช่หน้าที่ของพยาบาลอย่างเดียว มารดาและครอบครัวเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมงจำเป็นต้องร่วมสังเกตอาการผิดปกติของทารก และรายงานให้พยาบาลทราบตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนลงได้

โดยอีกมาตรการหนึ่งในการบริหารจัดการดูแลมารดาและทารก ควรมีการคัดกรองมารดาและทารกตามหลักเกณฑ์ความเสี่ยงในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อจัดการให้คำแนะนำและมีการดูแลที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น หากมารดาเป็นมารดาวัยรุ่น ควรหลีกเลี่ยงการให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดา เพราะอาจเกิดภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน และแนะนำให้มารดาหลีกเลี่ยงการจับทารกนอนคว่ำ จะเห็นว่า หากสถานพยาบาลมีนโยบายเน้นเรื่องความปลอดภัยหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม บุคลากรที่ทำงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยความสบายใจ ลดปัญหาเรื่องการฟ้องร้อง และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของสถานพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

1.        Steinhorn RH. Breastfeeding, Baby-Friendly, and Safety: Getting the Balance Right. J Pediatr 2020;218:7-8.