การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับความปลอดภัยของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่าการดำเนินการตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้  แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการในการดูแลความปลอดภัยของมารดาและทารกอย่างเหมาะสมด้วย โดยเฉพาะในระหว่างการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีการรายงานการพบการเสียชีวิตของทารกจากภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงร่างกายแบบเฉียบพลัน (sudden unexpected postnatal collapse) ซึ่งพบน้อย แต่จะส่งผลต่อมารดา ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก รวมถึงในระหว่างการจัดให้มารดาอยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการนอนร่วมเตียงเดียวกันของมารดาและทารก ก็อาจจะพบภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน (sudden unexplained infant death) ได้1 ดังนั้น สถานพยาบาล ควรมีมาตรการในการลดหรือป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ โดยการจัดการให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะหลังคลอด และควรมีการดึงมารดาและครอบครัวให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทารก โดยแจ้งให้มารดาตระหนักว่า หน้าที่ในการดูแลทารกไม่ใช่หน้าที่ของพยาบาลอย่างเดียว มารดาและครอบครัวเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมงจำเป็นต้องร่วมสังเกตอาการผิดปกติของทารก และรายงานให้พยาบาลทราบตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนลงได้

โดยอีกมาตรการหนึ่งในการบริหารจัดการดูแลมารดาและทารก ควรมีการคัดกรองมารดาและทารกตามหลักเกณฑ์ความเสี่ยงในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อจัดการให้คำแนะนำและมีการดูแลที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น หากมารดาเป็นมารดาวัยรุ่น ควรหลีกเลี่ยงการให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดา เพราะอาจเกิดภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน และแนะนำให้มารดาหลีกเลี่ยงการจับทารกนอนคว่ำ จะเห็นว่า หากสถานพยาบาลมีนโยบายเน้นเรื่องความปลอดภัยหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม บุคลากรที่ทำงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยความสบายใจ ลดปัญหาเรื่องการฟ้องร้อง และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของสถานพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

1.        Steinhorn RH. Breastfeeding, Baby-Friendly, and Safety: Getting the Balance Right. J Pediatr 2020;218:7-8.