คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ระยะห่างในการนอนของแม่ลูกส่งผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระยะหลังคลอด จะมีการแนะนำให้มารดาอยู่กับทารกตลอด 24 ชั่วโมง โดยทารกควรนอนใกล้ชิดกับมารดาในระยะที่สังเกตได้ เพื่อที่มารดาจะได้ดูแล สังเกตอาการต่าง ๆ ของทารก รวมทั้งลักษณะของทารกที่จะบ่งบอกถึงอาการหิวและความต้องการในการกินนมแม่ ซึ่งหากมารดาอยู่กับทารกตลอด 24 ชั่วโมง มารดาจะสังเกตลักษณะการแสดงออกถึงความต้องการของทารกได้ ทำให้มารดาสามารถจะให้นมแม่ได้ตามความต้องการของทารก เข้าใจทารกและดูแลเรื่องการขับถ่ายของทารกได้อย่างเหมาะสม มีการศึกษาพบว่าการที่ทารกนอนใกล้กับมารดาโดยนอนร่วมเตียงเดียวกับมารดาพบว่าจะเพิ่มโอกาสที่มารดาจะมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่นานขึ้น1 อย่างไรก็ตาม การนอนร่วมเตียงเดียวกับมารดาจำเป็นต้องมีการดูแลเรื่องความปลอดภัยของทารกจากการตกไปขอบหรือข้างเตียงหรือมีการเบียดทับจากมารดา ซึ่งความเสี่ยงนี้จะเพิ่มขึ้นในมารดาวัยรุ่น มารดาที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือติดยาเสพติด ดังนั้น การแนะนำให้ทารกมีความใกล้ชิดกับมารดาควรมีการแนะนำอย่างเหมาะสมตามข้อมูลที่มีความแตกต่างกันของมารดาและทารกในแต่ละคู่

เอกสารอ้างอิง

1.        Bailey C, Tawia S, McGuire E. Breastfeeding Duration and Infant Sleep Location in a Cohort of Volunteer Breastfeeding Counselors. J Hum Lact 2020;36:354-64.

ภาวะเครียดของมารดาส่งผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในระยะหลังคลอด มารดาจะมีการเปลี่ยนแปลงของทางร่างกายและระดับฮอร์โมน ซึ่งมีผลต่อจิตใจและภาวะเครียดที่ต้องการการปรับตัวรับการทำหน้าที่แม่ที่ต้องให้นมลูก และยังมีหน้าที่ภรรยาที่ต้องดูแลและจัดการงานในบ้าน ภาวะเครียดที่เกิดขึ้นนั้นจะมีผลลบต่อความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และส่งผลเสียต่อความต่อเนื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า หากมีการดูแลและจัดการลดภาวะเครียดของมารดาที่ให้นมลูก จะช่วยเรื่องความเชื่อมั่นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา และช่วยให้มารดามีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องได้ดีขึ้น1 ดังนั้น นอกจากการที่บุคลากรทางการแพทย์จะดูแลปัญหาทางด้านร่างกายของมารดาในช่วงที่ให้นมลูกแล้ว ยังต้องใส่ใจในการดูแลใส่ใจปัญหาทางด้านจิตใจและสังคมที่ส่งผลต่อภาวะเครียดของมารดา ซึ่งก็คือควรให้การดูแลแบบองค์รวม (holistic approach) นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

1.        Azizi E, Maleki A, Mazloomzadeh S, Pirzeh R. Effect of Stress Management Counseling on Self-Efficacy and Continuity of Exclusive Breastfeeding. Breastfeed Med 2020;15:501-8.

ความสำคัญของการให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงก่อนและหลังคลอด

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การให้คำปรึกษาแก่มารดาและครอบครัวในช่วงก่อนคลอดในระยะฝากครรภ์โดยจะให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้มารดาได้เลือก ตัดสินใจ และมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สิ่งนี้ก่อให้เกิดผลดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยหากมารดาไม่ได้รับการให้คำปรึกษาในช่วงก่อนคลอดจะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงถึงร้อยละ 90 สำหรับการให้คำปรึกษาในช่วงหลังคลอดก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยพบว่ามีผลดีต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นประมาณ 5 เท่า1 จะเห็นว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงว่า หากมารดามีความรู้ความเข้าใจและมีที่ปรึกษาที่จะคอยช่วยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่พบระหว่างการให้ลูกกินนมแม่ มารดาก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามที่ตั้งใจไว้มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Awoke N, Tekalign T, Lemma T. Predictors of optimal breastfeeding practices in Worabe town, Silte zone, South Ethiopia. PLoS One 2020;15:e0232316.

การให้ลูกกินนมผงเสี่ยงต่อการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร

 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

กลไกการกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกที่ชงใส่ขวดนมนั้นมีความแตกต่างจากกลไกการเกิดนมแม่  การดูดกินนมจากขวดนม ทารกจะออกแรงเพียงเล็กน้อยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของลิ้นเนื่องจากนมจากขวดจะไหลลงรูของจุกนมตามแรงโน้มถ่วงของโลกอยู่แล้วจากการจับขวดนมที่ตั้งขึ้นเหนือทารก ขณะที่การดูดนมจากเต้า ทารกต้องยื่นลิ้นออกมาเพื่อกดท่อน้ำนมบริเวณลานนม พร้อมกับออกแรงดูดในช่องปากมากกว่า โดยเมื่อมีการไหลของน้ำนม จะมีการหดตัวของกล้ามเนื้อลิ้นเป็นคลื่นจากด้านนอกเข้าไปในปากและลงไปในลำคอทารก ดังนั้น ทารกที่กินนมจากขวดนม อาจจะติดความสบายที่ไม่ต้องออกแรงดูดนม ทำให้เมื่อมารดาให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกจากขวดแล้ว และกลับมากินนมแม่จากเต้า ทารกอาจเกิดอาการหงุดหงิดจากการที่น้ำนมไหลช้าไม่ทันใจ และเกิดการปฏิเสธนมแม่ได้ ซึ่งมีการพบว่าการให้ทารกกินนมผงดัดแปลงสำหรับทารกในช่วงหกเดือนแรก จะมีความเสี่ยงที่ทารกจะหยุดการกินนมแม่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า1 นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงหลีกเลี่ยงการให้ทารกกินนมจากขวดนม และงดหรือจำกัดการขายขวดนมไม่ให้มีในโรงพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

1.        Avila-Ortiz MN, Castro-Sanchez AE, Martinez-Gonzalez EA, Nunez-Rocha GM, Zambrano-Moreno A. Factors associated with abandoning exclusive breastfeeding in Mexican mothers at two private hospitals. Int Breastfeed J 2020;15:73.

การกินนมแม่ช่วยลดภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็งในวัยทอง


 รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (atherosclerosis) เป็นภาวะที่ผนังหลอดเลือดหนาตัว อักเสบ ตีบตัน เกิดการไหลเวียนของเลือดลดลง ทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะที่สำคัญ ได้แก่ หัวใจ และสมองขาดเลือด เกิดโรคหัวใจ อัมพฤกษ์และอัมพาต เกิดผลเสียต่อคุณภาพชีวิต มีการศึกษาในสตรีวัยทองพบว่า สตรีวัยทองที่มีประวัติกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนจะพบภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็งที่ไม่มีอาการน้อยกว่าสตรีวัยทองที่กินนมแม่ในช่วงเวลาที่น้อยกว่า 6 เดือน1 ซึ่งข้อสังเกตนี้น่าสนใจ และควรจะมีการศึกษาต่อยอดในรายละเอียด เพื่อยืนยันผลดีอีกข้อหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวของการกินนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Augoulea A, Armeni E, Paschou SA, Georgiopoulos G, Stamatelopoulos K, Lambrinoudaki I. Breastfeeding is associated with lower subclinical atherosclerosis in postmenopausal women. Gynecol Endocrinol 2020;36:796-9.