คลังเก็บหมวดหมู่: คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

ปัจจัยที่สัมพันธ์กับแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

การที่ทารกมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้จะช่วยในการป้องกันการติดเชื้อที่เป็นอันตรายและยังช่วยในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันหลังคลอดด้วย การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยส่งเสริมการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิด1 สำหรับวิธีการคลอด ก่อนหน้านี้มีรายงานการศึกษาที่พบว่า การคลอดทางช่องคลอดจะช่วยส่งเสริมการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิด ขณะที่การผ่าตัดคลอดจะมีผลเสียต่อการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ของทารก แต่มีบางรายงานที่ไม่พบความสัมพันธ์ของการมีแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้ทารกแรกเกิดกับวิธีการคลอด จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม บุคลากรทางการแพทย์ควรช่วยให้ทารกได้รับประโยชน์จาการมีแบคทีเรียในลำไส้ทารกโดยการสนับสนุนให้มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแนะนำให้มารดามีการคลอดปกติ โดยการผ่าตัดคลอดจะพิจารณาเมื่อมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Cioffi CC, Tavalire HF, Neiderhiser JM, Bohannan B, Leve LD. History of breastfeeding but not mode of delivery shapes the gut microbiome in childhood. PLoS One 2020;15:e0235223.

ช่วงเวลาที่เงียบสงบหลังคลอดช่วยสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

หลังคลอดมารดาจะมีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลียจากการคลอด แม้ว่าการเฝ้าดูแลภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยหลังคลอดจะเป็นสิ่งจำเป็น แต่หากมารดามีความเสี่ยงต่ำ เมื่อพ้นระยะเฝ้าระวังเบื้องต้นแล้ว การเฝ้าระวังโดยเว้นระยะห่างขึ้น เปิดโอกาสให้มารดาได้พักผ่อน และให้มารดาได้อยู่กับทารกในบรรยากาศที่เงียบสงบ จะช่วยสร้างสายสัมพันธ์แม่ลูก และช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดแนวทางการดูแลหลังคลอดตามความเสี่ยง และเปิดโอกาสให้มารดาและทารกอยู่อย่างสงบในมารดาที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งแก่มารดาและทารก และเป็นการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

1.        Church L. Quiet Time During Postpartum Hospitalization Can Improve Rest, Bonding, and Breastfeeding. Nurs Womens Health 2020;24:197-201.

การใช้พื้นฐานความรู้เชิงทฤษฎีช่วยให้มารดามีความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในการเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น กระบวนการที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจะต้องส่งผลต่อทัศนคติ ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิบัติ โดยมีหลายทฤษฎีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ได้แก่ การใช้พื้นฐานความรู้เชิงทฤษฏี (theory-based educational intervention) คือ การสร้างให้เกิดพฤติกรรมโดยการเปลี่ยนแปลงทัศนคติจากการจัดการอบรมให้ความรู้หรือการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ และทฤษฏีการวางแผนการกำหนดพฤติกรรม (theory of planned behavior) ซึ่งจะมีการกำหนดหรือควบคุมโดยมีการวางแผนให้เกิดพฤติกรรมตามที่ต้องการ มีการศึกษาพบว่า การใช้พื้นฐานความรู้เชิงทฤษฏีจะช่วยให้มารดามีความตั้งใจ มีความเชื่อมั่น และมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนสูงกว่าการใช้ทฤษฏีการวางแผนการกำหนดพฤติกรรม1 สิ่งนี้น่าจะสะท้อนว่า การรับรู้ความรู้และประโยชน์ของนมแม่นั้นมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดา ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรจัดกระบวนการอบรมให้ความรู้แก่มารดา เพื่อช่วยให้มารดามีความเข้าใจในเรื่องนมแม่ มีความตั้งใจ และเชื่อมั่นว่าสามารถการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ก็จะส่งผลให้มารดามีพฤติกรรมที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น

เอกสารอ้างอิง

1.        Chipojola R, Chiu HY, Huda MH, Lin YM, Kuo SY. Effectiveness of theory-based educational interventions on breastfeeding self-efficacy and exclusive breastfeeding: A systematic review and meta-analysis. Int J Nurs Stud 2020;109:103675.

มารดาที่เป็นพาหะเชื้อไวรัสตับอักเสบบีสามารถให้นมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โรคไวรัสตับอักเสบบีมาการติดต่อกันได้ง่ายผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกายของผู้ที่เป็นพาหะ ซึ่งในมารดาที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีจะเกิดความวิตกกังวลว่าลูกในครรภ์จะติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์หรือหลังคลอดหากทารกกินนมแม่จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังโชคดีที่การติดเชื้อในระหว่างการตั้งครรภ์พบได้น้อย ส่วนใหญ่การติดเชื้อจะเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอดมากกว่า และในปัจจุบันมีการพบภูมิคุ้มกันที่ให้ทารกเพื่อป้องกันการติดเชื้อในทารกและมีการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายทารกสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเองและส่วนใหญ่หากทารกได้รับการฉีดฉีดวัคซีนครบตามจำนวนที่ต้องการการกระตุ้น ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะคงอยู่ตลอดชีวิต สำหรับการให้ลูกกินนมแม่จากการทบทวนอย่างเป็นระบบพบว่า การให้ลูกกินนมแม่จากมารดาที่เป็นภาหะไวรัสตับอักเสบบีนั้น ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อของทารกหากทารกได้รับการให้ภูมิคุ้มกันและวัคซีนที่หมาะสม1 จากที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์นี้ น่าจะช่วยลดความวิตกกังวลของมารดที่เป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีที่ต้องการจะให้ลูกได้กินนแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Xiao F, Lan A, Mo W. Breastfeeding from mothers carrying HBV would not increase the risk of HBV infection in infants after proper immunoprophylaxis. Minerva Pediatr 2020;72:109-15.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยเรื่องคุณภาพของกระดูก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ประโยชน์ของการกินนมแม่ของทารกที่มีการศึกษาพบเพิ่มเติมได้แก่ ประโยชน์ในเรื่องคุณภาพของกระดูก โดยมีการศึกษาติดตามทารกที่กินนมแม่จนถึงวัยผู้ใหญ่เทียบกับทารกที่ไม่ได้กินนมแม่พบว่า เมื่อทารกเจริญเติบโตถึงวัยผู้ใหญ่ ทารกที่กินนมแม่จะมีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักในกระดูกขาลดลง ขณะที่ทารกที่มีมารดาสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์จะมีความเสี่ยงในการเกิดกระดูกหักในกระดูกขาเพิ่มขึ้น1 จะเห็นว่า ปัจจัยในขณะตั้งครรภ์และอาหารในระยะแรกคลอดของทารกจะส่งผลต่อคุณภาพความแข็งแรงของกระดูก อย่างไรก็ตาม กลไกของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นยังขาดรายละเอียดของคำอธิบาย จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

1.            Yang Y, Wu F, Dwyer T, Antony B, Winzenberg T, Jones G. Associations of Breastfeeding, Maternal Smoking, and Birth Weight With Bone Density and Microarchitecture in Young Adulthood: a 25-Year Birth-Cohort Study. J Bone Miner Res 2020.