รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีการศึกษาในประเทศอิตาลีที่ศึกษาถึงผลในระยะยาวของการอบรมออนไลน์ที่มีต่อทัศนคติและการปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยทำการเก็บข้อมูลจากการออกแบบสอบถามออนไลน์ให้บุคลากรทางการแพทย์ตอบ โดยจะมี 3 ช่วงเวลาของการตอบแบบสอบถามคือ
ก่อนการอบรม หลังการอบรมทันที และหลังการอบรม 1 ปี จากการสำรวจในบุคลากรทางการแพทย์จำนวนทั้งหมด
26009 ราย โดยมีผู้ที่ให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 3 ช่วงเวลาจำนวน 4582 ราย
ซึ่งผู้ที่ตอบแบบสอบถามอายุเฉลี่ย 37 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 87 และเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์มากที่สุดร้อยละ
62 รองลงมาเป็นแพทย์ร้อยละ 14 เภสัชกรร้อยละ 4
ที่เหลือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่น ๆ
ผลการศึกษาพบว่า การอบรมให้ความรู้ทางออนไลน์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยเพิ่มทัศนคติและการปฏิบัติในการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรทางการแพทย์ได้ 1 อย่างไรก็ตาม พบว่าทัศนคติและการปฏิบัติในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้นหลังการอบรมจะลดลงตามระยะเวลา ดังนั้น ควรมีการกระตุ้นเตือนเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์คงทัศนคติที่ดีและให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยอาจจัดเป็นการให้ความรู้ทุก 2-3 เดือนในลักษณะที่มีรางวัลตอบแทนจากการตอบแบบทดสอบ (quiz) หรือทำเป็นเกมส์ต่อคำ (crossword) ก็น่าจะช่วยได้ และควรจัดให้มีการฟื้นความรู้สม่ำเสมอทุกปี (refresher course)
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจถึงหัวข้อเรื่องที่ต้องการให้มีการจัดอบรมและรูปแบบที่ต้องการให้จัดอบรม พบว่า เรื่องที่ต้องการให้มีการจัดอบรมมากที่สุด (training need) ได้แก่ การใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร ร้อยละ 97 รองลงมา ได้แก่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 90 และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ต้องกลับไปทำงานร้อยละ 86 โดยเกือบทุกหัวข้อบุคลากรทางการแพทย์ต้องการให้จัดอบรมออนไลน์ ยกเว้นหัวข้อการจัดท่าให้นมลูก การเข้าเต้า และการดูดนมที่มีประสิทธิภาพของทารก ที่บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องการให้จัดประชุมในรูปแบบเดิม สิ่งนี้สะท้อนถึง ความจำเป็นที่ควรจะต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนหัวข้อ “การจัดท่าให้นมลูก การเข้าเต้า และการดูดนมที่มีประสิทธิภาพของทารก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีการฝึกทักษะที่การเรียนออนไลน์ไม่ได้ตอบโจทย์การสร้างทักษะเหล่านี้ให้แก่บุคลากร”
เอกสารอ้างอิง
1. Colaceci S, Zambri F, D’Amore C,
et al. Long-Term Effectiveness of an E-Learning Program in Improving Health
Care Professionals’ Attitudes and Practices on Breastfeeding: A 1-Year Follow-Up
Study. Breastfeed Med 2020;15:254-60.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ในประเทศไทย ข้อมูลของการดูแลการคลอดจะอยู่ในสมุดฝากครรภ์และคลอดของมารดา
ข้อมูลของทารกจะอยู่ในสมุดดูแลเรื่องวัคซีนและติดตามการเจริญเติบโตของทารก
ซึ่งข้อมูลจะแยกส่วนกันและการติดตามดูข้อมูลของทั้งมารดาและทารกจะมีข้อจำกัดและมีโอกาสที่จะมีการสูญหายหรือขาดความสมบูรณ์ของข้อมูลได้
ปัจจุบัน เมื่อเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสารผ่านดิจิทัล ควรมีการพัฒนาข้อมูลของการดูแลทารกให้มีข้อมูลของการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดโดยเชื่อมโยงกับข้อมูลของมารดา
ซึ่งอาจจะทำเป็นข้อมูลในสูติบัตรที่เป็นบัตรคล้ายบัตรประชาชนที่สามารถเก็บข้อมูลทะเบียนราษฎร์ไปพร้อมกับข้อมูลด้านสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์และคลอด
ข้อมูลการกินนมแม่ อาหารทารก การเจริญเติบโตและพัฒนาการ การฉีดวัคซีน และการเจ็บป่วยของทารกโดยมีความเชื่อมโยงกับข้อมูลของมารดา
ซึ่งมีการศึกษาพบว่า การสรุปข้อมูลของทารกขณะอยู่โรงพยาบาลและข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนกลับบ้านอย่างครบถ้วนจะช่วยในการดูแลทารกต่อเนื่อง
ลดความซ้ำซ้อนของการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์1 จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งแก่ตัวทารกและระบบสาธารณสุข
และยังมีส่วนในการช่วยส่งต่อข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่จะช่วยในการวางแนวทางการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
1. Colaceci S, Chapin EM, Zambri F, et al. Verba volant,
scripta manent: breastfeeding information and health messages provided to
parents in the neonatal discharge summary in the Lazio Region, Italy. Ann Ist
Super Sanita 2020;56:142-9.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
การที่จะบอกว่ามารดามีน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั้น
ต้องดูจากค่าดัชนีมวลกาย ซึ่งต้องใช้น้ำหนักของมารดาก่อนการตั้งครรภ์มาคำนวณ
ในกรณีที่พบว่ามารดามีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วน
จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด
รวมถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพบว่ามารดาที่มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์อ้วนจะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควรเพิ่มขึ้น1 แต่ปัจจัยที่จะมีผลดีต่อระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ได้แก่ การที่มารดามีอายุมากขึ้น หรือมารดาที่เป็นครรภ์หลังจะลดความเสี่ยงที่จะมีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร
เนื่องจากการที่มารดามีประสบการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาก่อน ดังนั้น
การส่งเสริมให้ความรู้แก่สตรีที่มีการวางแผนที่จะมีบุตรให้มีการดูแลให้มีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในการที่จะป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และคลอด
และยังเป็นการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. Claesson IM, Myrgard M, Wallberg M, Blomberg M. The
Association Between Covariates, with Emphasis on Maternal Body Mass Index, and
Duration of Exclusive and Total Breastfeeding. Breastfeed Med 2020.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ปัจจุบันเครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงหรือเครื่องอัลตร้าซาวด์
(ultrasound) มีบทบาทเพิ่มขึ้นในการช่วยการวินิจฉัยโรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับเต้านมในระหว่างที่มารดาอยู่ในช่วงให้นมบุตร
โดยที่โรคหรือภาวะแทรกซ้อนที่เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถจะใช้ช่วยในการวินิจฉัย
ได้แก่ เต้านมอักเสบ ฝีและเต้านม และมะเร็งเต้านม
ซึ่งในการให้การวินิจฉัยมะเร็งเต้านมนั้นพบว่า การใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจมะเร็งเต้านมในสตรีที่ให้นมบุตรมีประสิทธิภาพดีในกรณีที่คลำพบก้อนที่เต้านมมารดาร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีความจำเป็นในการตรวจเพิ่มเติมโดยใช้การเอ็กซเรย์เต้านม (mammogram) เนื่องจากจะมีการพบผลบวกลวงเพิ่มขึ้น1 ดังนั้น การจัดอบรมให้มีการเรียนรู้ศึกษาถึงการใช้เครื่องคลื่นเสียงความถี่สูงในการตรวจเต้านมสำหรับแพทย์ที่มีหน้าที่ในการดูแลมารดาหลังคลอดหรือมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการดูแลมารดากลุ่มนี้
เอกสารอ้างอิง
1. Chung M, Hayward JH, Woodard GA, et al. US as the
Primary Imaging Modality in the Evaluation of Palpable Breast Masses in
Breastfeeding Women, Including Those of Advanced Maternal Age. Radiology 2020:201036.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ในคัมภีร์อัลกุลาอานของศาสนาอิสลามจะมีบทที่พูดถึงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยที่การสื่อสารมักเป็นการสื่อสารและอธิบายจะเป็นระหว่างคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่ง ซึ่งจะมีโอกาสที่จะมีการสื่อสารที่ขาดตกบกพร่องหรืออาจมีคำอธิบายที่จำกัด
ทำให้ขาดการเข้าใจในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสม การพัฒนาความเข้าใจในเนื้อหาของบทที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ให้มีการแปลที่เป็นมาตรฐานโดยครอบคลุมแนวคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว
ความเสี่ยงของการที่ทารกไม่ได้กินนมแม่อย่างเดียว และแนวทางการจัดการตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์จนถึงคลอดให้มารดาสามารถเที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
จะช่วยในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว1 ดังนั้น หากชุมชนที่บุคลาการทางการแพทย์ดูแลมีมารดาที่นับถือศาสนาอิสลาม
การกระตุ้นให้อิหม่ามที่เป็นผู้ที่ให้ความรู้และให้คำอธิบายในเรื่องศาสนา ได้ช่วยอธิบายในรายละเอียดเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เหมาะสมแก่มารดาในขณะที่เข้าสมรส
จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมารดาตั้งครรภ์และคลอด
เอกสารอ้างอิง
1. Citrakesumasari, Fadhilah, Suriah, Mesra R. Based
cultural and religion to education of exclusive breastfeeding for bride. Enferm
Clin 2020;30 Suppl 4:127-30.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)