คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การรักษากลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การใช้ยาในการรักษา จะขึ้นอยู่กับเป้าประสงค์ในการรักษา ซึ่งจะแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ สตรีที่ยังไม่ต้องการมีบุตร กับสตรีที่ต้องการมีบุตร รายละเอียดมีดังนี้

  • สตรีที่ไม่ต้องการมีบุตร จะให้การรักษาเพื่อเป้าประสงค์ในการลดการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมาก อาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ช่วยคุมกำเนิด และช่วยป้องกันการมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนา และการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก โดยการรักษาในกลุ่มนี้จะใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานในการรักษา เนื่องจากสามารถตอบสนองต่อเป้าประสงค์ได้ดี
  • สตรีที่ต้องการมีบุตร จะให้การรักษาเพื่อให้สตรีมีการตกไข่และตั้งครรภ์ได้ ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้จะใช้ยากระตุ้นไข่ตก ได้แก่ letrozole, clomiphene และ gonadotropin และอาจใช้ metformin ร่วมในการรักษาด้วยในกรณีที่มารดามีความต้านทานอินซูลิน มีกลุ่มอาการเมตาบอลิก หรืออ้วน1-3 นอกจากนี้ในบางรายอาจเลือกใช้การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อเจาะหรือจี้ไฟฟ้าที่ถุงน้ำของรังไข่ (ovarian drilling)4

เอกสารอ้างอิง

  1. Banaszewska B, Pawelczyk L, Spaczynski R. Current and future aspects of several adjunctive treatment strategies in polycystic ovary syndrome. Reprod Biol 2019;19:309-15.
  2. Gadalla MA, Norman RJ, Tay CT, et al. Medical and Surgical Treatment of Reproductive Outcomes in Polycystic Ovary Syndrome: An Overview of Systematic Reviews. Int J Fertil Steril 2020;13:257-70.
  3. Jin P, Xie Y. Treatment strategies for women with polycystic ovary syndrome. Gynecol Endocrinol 2018;34:272-7.
  4. Artini PG, Obino MER, Sergiampietri C, et al. PCOS and pregnancy: a review of available therapies to improve the outcome of pregnancy in women with polycystic ovary syndrome. Expert Rev Endocrinol Metab 2018;13:87-98.

การรักษากลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 2

       การคำนวณค่าพลังงานเผาพลาญพื้นฐานต่อวันสามารถคำนวณจากสูตร Harris-Benedict Equation โดยสูตรการคำนวณจะแตกต่างกันตามเพศ สำหรับในสตรีจะใช้สูตร

BMR ในสตรี = 655 + (9.6 X น้ำหนัก (กิโลกรัม)) + (1.8 x ความสูง (เซนติเมตร)) – (4.7 x อายุ (ปี))

สำหรับค่าพลังงานที่ใช้ทั้งหมดต่อวัน จะขึ้นอยู่กับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยมีการศึกษากำหนดค่าเป็นจำนวนเท่าของค่าพลังงานเผาพลาญพื้นฐานต่อวันเป็นตัวคูณสำหรับแต่ละลักษณะของกิจกรรม ตัวอย่างเช่น

หากทำงานนั่งโต๊ะ                                   TDEE = BMR x1.2

หากออกกำลังกายระดับเบา                      TDEE = BMR x1.375

หากออกกำลังกายระดับปานกลาง             TDEE = BMR x1.55

หากออกกำลังกายระดับหนัก                   TDEE = BMR x1.725

             สำหรับการออกกำลังกายนั้น ไม่มีได้การกำหนดรูปแบบที่ชัดเจน1 แต่หากต้องการให้การออกกำลังกายช่วยในเรื่องความต้านทานอินซูลิน ควรให้สตรีออกกำลังกายชนิดแอโรบิกที่มีระดับความหนักปานกลาง โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์

             การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตจะช่วยลดการมีฮอร์โมนเพศชายสูง ช่วยให้มีการตกไข่และประจำเดือนมาดีขึ้น ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และช่วยลดความอ้วน1,2 ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงมักใช้เป็นวิธีการรักษาเริ่มต้นและใช้ร่วมกับการใช้ยาในการรักษา

เอกสารอ้างอิง

  1. Harrison CL, Lombard CB, Moran LJ, Teede HJ. Exercise therapy in polycystic ovary syndrome: a systematic review. Hum Reprod Update 2011;17:171-83.
  2. Lim SS, Hutchison SK, Van Ryswyk E, Norman RJ, Teede HJ, Moran LJ. Lifestyle changes in women with polycystic ovary syndrome. Cochrane Database Syst Rev 2019;3:CD007506.

การรักษากลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต ซึ่งประกอบด้วยการลด/ควบคุมน้ำหนัก และการออกกำลังกาย ซึ่งการควบคุมน้ำหนักต้องคำนวณค่าพลังงานเผาพลาญพื้นฐานต่อวัน (basal metabolic rate หรือ BMR) และค่าพลังงานที่ใช้ทั้งหมดต่อวัน (total daily energy expenditure หรือ TDEE) และวางแผนการลดน้ำหนักโดยรับประทานอาหารไม่ต่ำกว่าค่าค่าพลังงานเผาพลาญพื้นฐานต่อวัน แต่ไม่ควรจะเกินค่าพลังงานที่ใช้ทั้งหมดต่อวัน ซึ่งก็คือการที่จะไม่รับประทานอาหารมากกว่ากิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน โดยหากคุมอาหารใกล้กับค่าพลังงานเผาพลาญพื้นฐานต่อวัน น้ำหนักจะลดลงตามกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน โดยหากมีกิจกรรมในระหว่างวันมากหรือมีการออกกำลังกายมาก น้ำหนักก็จะลดลงมากด้วย ซึ่งเมื่อลดน้ำหนักได้ดัชนีมวลกายที่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว การควบคุมน้ำหนักต้องอาศัยวินัยและความต่อเนื่องจนเกิดเป็นนิสัยในการเลือกชนิดและปริมาณอาหารให้มีความเหมาะสมกับค่าพลังงานที่ใช้ทั้งหมดต่อวัน โดยเมื่อรับประทานอาหารเท่ากับพลังงานที่ใช้ไปในระหว่างวัน น้ำหนักของสตรีจะคงที่ (1, 2)

เอกสารอ้างอิง

  1. Harrison CL, Lombard CB, Moran LJ, Teede HJ. Exercise therapy in polycystic ovary syndrome: a systematic review. Hum Reprod Update 2011;17:171-83.
  2. Lim SS, Hutchison SK, Van Ryswyk E, Norman RJ, Teede HJ, Moran LJ. Lifestyle changes in women with polycystic ovary syndrome. Cochrane Database Syst Rev 2019;3:CD007506.

 

เป้าประสงค์ของการรักษากลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                การดูแลและให้การรักษา จะประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต และการใช้ยาในการรักษา โดยเป้าประสงค์ของการรักษาจะเป็นตัวกำหนดแนวทางในการดูแลและให้การรักษา ซึ่งเป้าประสงค์ของการรักษามีดังนี้

  • การลดอาการที่เป็นผลจากการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
  • การป้องกันการเกิดการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • การดูแลให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอและการคุมกำเนิด
  • การแก้ไขการมีบุตรยาก
  • การป้องกันการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด

เอกสารอ้างอิง

  1. Lim SS, Hutchison SK, Van Ryswyk E, Norman RJ, Teede HJ, Moran LJ. Lifestyle changes in women with polycystic ovary syndrome. Cochrane Database Syst Rev 2019;3:CD007506.

เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในผู้ใหญ่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในผู้ใหญ่1 จะแบ่งชนิดของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ตามความรุนแรงของการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากจากน้อยไปมาก ซึ่งเกณฑ์การวินิจฉัยจะมีรายละเอียดตามแต่ละหัวข้อ ดังนี้  

  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่ไม่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายมาก (non-hyperandrogenic PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
    • การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่มีการตกไข่ (ovulatory PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
    • การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ที่มีภาวะฮอร์โมนเพศชายมาก (hyperandrogenic PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
    • การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่แบบดั้งเดิม (classic PCOS) จะประกอบด้วย
    • การมีอาการและ/หรือการตรวจพบการมีฮอร์โมนเพศชายมาก
    • การมีอาการหรือลักษณะของการตกไข่น้อยหรือไม่มีการตกไข่
    • การตรวจพบถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จากคลื่นเสียงความเสี่ยงสูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Escobar-Morreale HF. Polycystic ovary syndrome: definition, aetiology, diagnosis and treatment. Nat Rev Endocrinol 2018;14:270-84.