รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
? ? ? ? ? ? ? ทารกที่พบมีปัญหาภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อยที่พบได้บ่อย ได้แก่ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และทารกกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) สำหรับขั้นตอนในการดูแลทารกที่มีภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย ได้แก่?
ในระยะฝากครรภ์ หากมารดามีความเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนด หรือตรวจวินิจฉัยก่อนการคลอดพบทารกกลุ่มอาการดาวน์ที่มารดาต้องการดูแลการตั้งครรภ์ต่อ ควรมีการให้คำปรึกษาถึงความจำเป็น ความสำคัญและประโยชน์ของนมแม่ในทารกเหล่านี้ ซึ่งการอธิบายเบื้องต้นให้มารดาเข้าใจถึงปัญหากล้ามเนื้อตึงตัวน้อยในทารกเหล่านี้? มารดาจะเป็นผู้ช่วยอย่างดีในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ในระยะคลอด ให้ความรู้ถึงกระบวนการที่จะช่วยให้ทารกได้กินนมแม่ได้ดีขึ้น โดยการใช้การโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและกระตุ้นการดูดนมตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอด โดยควรเริ่มต้นภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด การเริ่มต้นควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่เร็วได้เมื่อทารกอยู่ในสภาวะคงที่ และทำในขณะที่มารดาตื่นตัว ไม่ง่วงซึมจากฤทธิ์ของยาสลบหรือยาแก้ปวด
ในระยะหลังคลอด ควรมีการประเมินทารกว่ามีความพร้อมในการดูดนมจากเต้านมเองหรือไม่ โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในการดูแลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประเมิน โดยหากมีความพร้อม จึงจัดท่าและช่วยมารดาขณะให้นม แต่หากทารกยังไม่มีความพร้อม การสอนมารดาให้บีบเก็บน้ำนมด้วยมือหรือปั๊มนมอาจมีความจำเป็น และใช้การป้อนนมทารกด้วยถ้วยหรือใช้อุปกรณ์ป้อนนมที่ประกอบด้วยสายยางต่อกับหลอดฉีดยาช่วยในการให้นมทารก
เอกสารอ้างอิง
Thomas J, Marinelli KA, Academy of Breastfeeding M. ABM Clinical Protocol #16: Breastfeeding the Hypotonic Infant, Revision 2016. Breastfeed Med 2016.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย (hypotonia) ก่อนที่จะอธิบายเรื่องภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย ควรต้องเข้าใจความหมายของแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อก่อน (muscle tone) ซึ่งแรงตึงตัวของกล้ามเนื้อนั้น คือแรงต้านทานการออกแรงยืดกล้ามเนื้อในขณะที่กล้ามเนื้ออยู่ในระยะพัก โดยแรงต้านของกล้ามเนื้อจะมีขนาดพอเหมาะในสภาวะปกติเพื่อให้การคงอยู่ของตำแหน่งของกล้ามเนื้อทำได้ดี เมื่อแรงต้านของกล้ามเนื้อนี้มีน้อยกว่าปกติจะถือว่ามีภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย ซึ่งในการให้ทารกกินนมแม่ ทารกอาจมีแรงดูดที่อ่อนแรง หรือต้องพึ่งพามารดาในการประคองคอหรือศีรษะมากขึ้น เพื่อช่วยให้ตำแหน่งการกินและดูดนมทารกทำให้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
Thomas J, Marinelli KA, Academy of Breastfeeding M. ABM Clinical Protocol #16: Breastfeeding the Hypotonic Infant, Revision 2016. Breastfeed Med 2016.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????? ในช่วงระยะหลังคลอด ทารกจะได้รับการเจาะเลือดตรวจและฉีดวัคซีน? ซึ่งความเจ็บปวดจากการเจาะเลือดหรือฉีดวัคซีนจะทำให้ทารกร้องไห้และอาจทำให้เกิดความวิตกกังวลของมารดาและครอบครัว มีการศึกษาที่ให้ทารกได้กลิ่นนมแม่ก่อนการเจาะเลือดที่ปลายเท้าพบว่า ทารกมีอาการแสดงถึงความเจ็บปวดน้อยลง1 เช่นเดียวกันกับการให้ทารกกินนมแม่ขณะฉีดวัคซีนทารกจะช่วยลดความเจ็บปวดของทารกได้2 ดังนั้น การที่บุคลากรทางการแพทย์ใส่ใจกับความวิตกกังวลของมารดา โดยช่วยลดไม่ให้มารดามีความเครียด จะทำให้น้ำนมมารดามาได้ดีและป้องกันปัญหาการเกิดภาวะน้ำนมไม่พอได้ด้วย
เอกสารอ้างอิง
Akcan E, Polat S. Comparative Effect of the Smells of Amniotic Fluid, Breast Milk, and Lavender on Newborns’ Pain During Heel Lance. Breastfeed Med 2016.
Thomas T, Shetty AP, Bagali PV. Role of breastfeeding in pain response during injectable immunisation among infants. Nurs J India 2011;102:184-6.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)