คลังเก็บหมวดหมู่: ความรู้สำหรับนักศึกษา

ความรู้สำหรับนักศึกษา

การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับความปลอดภัยของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

แม้ว่าการดำเนินการตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้  แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการในการดูแลความปลอดภัยของมารดาและทารกอย่างเหมาะสมด้วย โดยเฉพาะในระหว่างการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีการรายงานการพบการเสียชีวิตของทารกจากภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงร่างกายแบบเฉียบพลัน (sudden unexpected postnatal collapse) ซึ่งพบน้อย แต่จะส่งผลต่อมารดา ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก รวมถึงในระหว่างการจัดให้มารดาอยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมง หากมีการนอนร่วมเตียงเดียวกันของมารดาและทารก ก็อาจจะพบภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน (sudden unexplained infant death) ได้1 ดังนั้น สถานพยาบาล ควรมีมาตรการในการลดหรือป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้ โดยการจัดการให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะหลังคลอด และควรมีการดึงมารดาและครอบครัวให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทารก โดยแจ้งให้มารดาตระหนักว่า หน้าที่ในการดูแลทารกไม่ใช่หน้าที่ของพยาบาลอย่างเดียว มารดาและครอบครัวเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมงจำเป็นต้องร่วมสังเกตอาการผิดปกติของทารก และรายงานให้พยาบาลทราบตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนลงได้

โดยอีกมาตรการหนึ่งในการบริหารจัดการดูแลมารดาและทารก ควรมีการคัดกรองมารดาและทารกตามหลักเกณฑ์ความเสี่ยงในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อจัดการให้คำแนะนำและมีการดูแลที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น หากมารดาเป็นมารดาวัยรุ่น ควรหลีกเลี่ยงการให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดา เพราะอาจเกิดภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน และแนะนำให้มารดาหลีกเลี่ยงการจับทารกนอนคว่ำ จะเห็นว่า หากสถานพยาบาลมีนโยบายเน้นเรื่องความปลอดภัยหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม บุคลากรที่ทำงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยความสบายใจ ลดปัญหาเรื่องการฟ้องร้อง และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของสถานพยาบาล

เอกสารอ้างอิง

1.        Steinhorn RH. Breastfeeding, Baby-Friendly, and Safety: Getting the Balance Right. J Pediatr 2020;218:7-8.

การใช้สัปดาห์นมแม่โลกในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรเรื่องนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมเป็นสัปดาห์นมแม่โลกเพื่อรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปัจจุบัน อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 41 โดยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กรยูนิเซฟปี พ.ศ. 2558-2559 อยู่ที่ร้อยละ 23 แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า การที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดำเนินการตามแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมีความสำคัญ แต่ในสถานพยาบาลหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย สิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ขาดการปฏิบัติหรือปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนหรือขาดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนซึมซับเป็นวัฒนธรรมองค์กร การใช้กลไกสัปดาห์นมแม่โลกที่อยู่ใกล้กับช่วงวันแม่แห่งชาติมาใช้กระตุ้นเตือน เพื่อใช้ปรับปรุงระบบการจัดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาล ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรนมแม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยจัดให้มีการนำเสนอข้อมูลตัวชี้วัดต่าง ๆ ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป จัดให้มีการมอบประกาศนียบัตรชื่นชมบุคลากรหรือหน่วยงานที่มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี การเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เสนอปัญหาหรือเสนอคำถามวิจัยที่จะใช้แก้ปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลที่เอื้อต่อการศึกษาวิจัยความรู้ใหม่ หรือเพื่อรับทราบและแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เมื่อมีการจัดให้มีการทบทวนระบบการพัฒนาตนเองเช่นนี้ทุกปีในช่วงสัปดาห์นมแม่โลกหรือในช่วงวันแม่แห่งชาติ วัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเกิดขึ้นโดยที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน1

เอกสารอ้างอิง

1.        Spatz DL. Using World Breastfeeding Week to Transform Institutional Culture. MCN Am J Matern Child Nurs 2020;45:126.

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 19

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ในปัจจุบัน ทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 บางประเทศยังไม่ผ่านการระบาดรอบแรก ขณะที่บางประเทศมีการระบาดรอบสองที่มีความรุนแรงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจไปด้วยพร้อม ๆ กัน ปัญหาการขาดรายได้ คนตกงาน สินค้าบางประเภทขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังคงได้รับการแนะนำให้มีการปฏิบัติ เนื่องจากประโยชน์หรือคุณค่าที่จะได้รับจากการที่ทารกกินนมแม่ยังคงสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่ทารก ดังนั้น ควรถือเป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในช่วงระยะฝากครรภ์ โดยมีการอธิบายมากขึ้นถึงความรู้เรื่องนมแม่ สารอาหารและภูมิคุ้มกันในนมแม่ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการกินนมแม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในมารดาและทารก การปฏิบัติที่จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ในระหว่างการให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งความรู้เหล่านี้ควรให้ทั้งแก่มารดาและครอบครัว เพื่อให้มารดาได้มีครอบครัวที่จะช่วยเสริมแรงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรกที่มารดาจะต้องมีการปรับตัวร่วมกับทารกในการที่จะรู้ใจกันและให้นมแม่ได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของทารก1

เอกสารอ้างอิง

1.        Spatz DL. Using the Coronavirus Pandemic as an Opportunity to Address the Use of Human Milk and Breastfeeding as Lifesaving Medical Interventions. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2020;49:225-6.

การกินนมแม่ช่วยลดนิสัยการกินน้ำหวานในวัยเด็ก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

ปัญหาโรคอ้วนเป็นปัญหาที่พบเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน ปัญหานี้ไม่เพียงพบในวัยผู้ใหญ่แต่ยังมีข้อมูลว่าพบในวัยเด็กด้วย และนิสัยการกินหวานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งการกินนมแม่จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคอ้วนในวัยเด็ก และยังพบว่าช่วยลดนิสัยการกินน้ำหวานในวัยเด็กด้วย1 ดังนั้น การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากจะช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วนและมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ยังช่วยเรื่องนิสัยการกินที่ดีคือ ลดการกินหวาน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคที่มีผลจากการกินที่ไม่ถูกลักษณะ ได้แก่ กลุ่มอาการเมตาบอลิก โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง เมื่อทารกเจริญวัยขึ้น โดยจะส่งผลต่อคุญภาพชีวิตที่ดีหากไม่มีโรคและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเหล่านี้

เอกสารอ้างอิง

1.        Spaniol AM, da Costa THM, Bortolini GA, Gubert MB. Breastfeeding reduces ultra-processed foods and sweetened beverages consumption among children under two years old. BMC Public Health 2020;20:330.

ยาที่ใช้ในระหว่างการคลอดบุตรเป็นผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

มีข้อสงสัยหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ระหว่างที่มารดาไปคลอดบุตร ได้รับยาหลากหลายชนิด ยาที่มารดาได้รับระหว่างการคลอดบุตรมีผลเสียต่อการรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ สิ่งที่พบคือ การใช้ยากลุ่มมอร์ฟีน จะมีการใช้ยาบ่อยในระหว่างการคลอดบุตรและพบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แม้จะทราบว่ายามอร์ฟืนจะมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่แพทย์ยังขาดความตระหนักถึงผลเสียนี้ และไม่ได้มีการให้คำปรึกษาถึงทางเลือกในการลดความเจ็บครรภ์ระหว่างการคลอด ซึ่งจะช่วยลดการใช้ยามอร์ฟีนลงด้วย สำหรับยาอื่น ๆ ที่พบว่ามีการใช้บ่อย ๆ ด้วย ได้แก่ ออกซิโตซิน, lidocaine, ketoprofen และ diclofenac ไม่พบว่ามีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1 ดังนั้น การสื่อสารที่เหมาะสมในเรื่องยาที่จะให้แก่มารดาและการสร้างความตระหนักในการใช้ยาให้แก่แพทย์จึงเป็นสิ่งที่ควรมีการให้ความสำคัญ เพื่อเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

1.        Silveira MPT, Possignollo J, Miranda VIA, et al. Breastfeeding and risk classification of medications used during hospitalization for delivery: 2015 Pelotas Birth Cohort. Rev Bras Epidemiol 2020;23:e200026.