รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคเบาหวานที่มารดาเป็นมาก่อนการตั้งครรภ์ จะแบ่งได้เป็นสองชนิดใหญ่ คือ
โรคเบาหวานชนิดที่ 1
โรคเบาหวานชนิดที่ 2
ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์อาจพบได้ในมารดาทั้งที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ที่เป็นมาก่อนการตั้งครรภ์ มารดาที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีประวัติพบและได้รับการวินิจฉัยในขณะที่มารดามีอายุน้อย ขณะที่มารดาที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะพบและได้รับการวินิจฉัยในมารดาที่มีอายุมาก เนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมมากกว่า จึงมักพบในมารดาที่มีอายุน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสัดส่วนอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานที่พบในผู้ใหญ่แล้ว โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะพบมากกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 1
เอกสารอ้างอิง
American Diabetes A. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S14-S31.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ หากมีการวางแผนสำหรับการตั้งครรภ์ร่วมกันระหว่างมารดา ครอบครัว และแพทย์ผู้ดูแล จะทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ลงได้ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมของมารดาให้มีการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมก่อนการตั้งครรภ์ แต่ในทางปฏิบัติ การดูแลอาจไม่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากมารดามักจะได้รับการดูแลโรคเบาหวานจากอายุรแพทย์ ขณะที่หากจะปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์หรือการวางแผนการคุมกำเนิดมักได้รับการดูแลโดยสูติแพทย์ ทำให้ขาดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ขาดความใส่ใจในการสอบถามมารดาถึงเรื่องการตั้งครรภ์หรือการวางแผนคุมกำเนิดในระหว่างการรักษาโรคเบาหวาน จึงมักพบว่ามารดาที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี มารดาจะเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีการวางแผน เนื่องจากโอกาสของการตั้งครรภ์ของมารดาจะเพิ่มขึ้นหากมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมจึงควรมีการเน้นย้ำในการดูแลสตรีที่มีโรคประจำตัวเสมอว่าสตรีนั้นมีการวางแผนการมีบุตรหรือการตั้งครรภ์ไว้อย่างไร เพื่อให้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นเมื่อมีความพร้อม 1
เอกสารอ้างอิง
Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ทารกบาดเจ็บจากการคลอดยาก เนื่องจากทารกแรกเกิดตัวโต นอกจากนี้ยังพบทารกคลอดติดไหล่ และพบกระดูกไหปลาร้าหักจากการคลอดยากได้
ทารกมีน้ำตาลต่ำ จะพบได้ทั้งในกรณีที่ทารกแรกเกิดตัวโต และทารกที่มีน้ำหนักจากการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ การเริ่มให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะช่วยป้องกันภาวะนี้
ทารกมีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ (neonatal polycythemia) พบในทารกที่เป็นเบาหวาน และเกิดภาวะการขาดออกซิเจนในครรภ์จากภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด ทำให้ทารกมีการปรับตัวโดยมีการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นมาก จะทำให้การไหลเวียนของเลือดจะผิดปกติและเกิดการขาดเลือดได้ ในกรณีที่มีความเข้มข้นของเลือดสูงจนเลือดหนืดมาก นอกจากนี้ การที่ทารกมีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นด้วย
ทารกต้องย้ายไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต จากการที่ทารกมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่างดังกล่าวแล้วข้างต้น ทำให้มีความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับการย้ายไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการการดูแลที่ใกล้ชิดหรือสังเกตอาการเฉพาะของภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง1
เอกสารอ้างอิง
Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ทารกแรกเกิดตัวโต พบอุบัติการณ์ของทารกแรกเกิดตัวโตสูงขึ้นถึงร้อยละ 15-25 ในบางรายงานในปัจจุบัน ซึ่งอุบัติการณ์ของทารกแรกเกิดตัวโตจะเพิ่มขึ้นตามอุบัติการณ์โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วนที่พบในมารดา โดยที่ภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนจะมีความสัมพันธ์กับโรคเบาหวานชนิดที่ 21
ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า จะมีความสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดที่พบในโรคเบาหวาน ซึ่งทำให้เลือดที่ผ่านสารอาหารไปสู่ทารกลดลง
ทารกคลอดก่อนกำหนด พบทารกมีภาวะคลอดก่อนกำหนดสูงถึงร้อยละ 25 โดยการมีความดันโลหิตสูงก่อนการตั้งครรภ์จะเป็นตัวทำนายการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดในมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 ขณะที่ค่า HbA1c ในไตรมาสที่สามจะเป็นตัวทำนายการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดในมารดาที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2
ทารกบาดเจ็บจากการคลอดยาก เนื่องจากทารกแรกเกิดตัวโต นอกจากนี้ยังพบทารกคลอดติดไหล่ และพบกระดูกไหปลาร้าหักจากการคลอดยากได้
เอกสารอ้างอิง
Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
โรคเบาหวานที่พบในมารดาก่อนการตั้งครรภ์ ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งทารกและมารดา โดยหากมารดาตั้งครรภ์จะเกิดผลเสียแก่ทารก1 ได้แก่
ทารกมีความพิการแต่กำเนิด เพิ่มขึ้น โดยความพิการของทารกที่พบบ่อยคือ ความผิดปกติของหัวใจ ซึ่งชนิดของความผิดปกติของหัวใจที่พบบ่อย ได้แก่ การมีรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องล่าง (ventricular septum defect หรือ VSD) นอกจากนี้ยังพบการมีรูรั่วของผนังกั้นหัวใจห้องบน (atrial septum defect หรือ ASD) ความผิดปกติจากการย้ายข้างของเส้นเลือดแดงใหญ่ (transposition of great arteries) การทำงานผิดปกติของหัวใจจากกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว (hypertrophic cardiomyopathy) การไม่ปิดของท่อประสาท (neural tube defect) ภาวะที่ทารกไม่มีกะโหลกศีรษะ (anencephaly) การมีลำไส้/ทวารหนักอุดตัน (duodenal, anal-rectal atresia) และความผิดปกติของท่อทางเดินปัสสาวะ แต่สำหรับลักษณะความพิการที่พบแล้ว จะแสดงบ่งถึงว่ามารดาเป็นเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์คือ กลุ่มอาการ caudal regression ที่เป็นกลุ่มอาการที่ทารกไม่มีพัฒนาการของกระดูกสันหลังส่วนปลาย ทำมีผลทำให้เกิดความผิดปกติของเชิงกราน และขาตามมา โดยหากมีความรุนแรงมากจะไม่พบการพัฒนาการของขาของทารก ทำให้ส่วนล่างของลำตัวทารกเป็นลำยาวเรียก sirenomelia หรือ mermaid syndrome ซึ่งมารดาที่เป็นเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์จะพบทารกมีความพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 1.9-10 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาปกติ ขณะที่มารดาที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะพบทารกมีความพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยคือ 1.1-1.3 เท่าเมื่อเทียบกับมารดาปกติเอกสารอ้างอิง
Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)