คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

แม่ยิ่งอ้วนยิ่งเริ่มต้นให้ลูกกินนมแม่ได้น้อยลง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ภาวะน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนของมารดามีผลเสียต่อการตั้งครรภ์และการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยจะพบว่า มารดาที่มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าปกติ ได้แก่ มารดาที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ภาวะอ้วน หรืออาจเรียกว่ามีโรคอ้วนก็ได้ จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดสูงขึ้น ซึ่งการที่มีความเสี่ยงในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดก็จะเพิ่มโอกาสของการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น โดยการผ่าตัดคลอดนั้นจะมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของดัชนีมวลกายของมารดาก่อนการตั้งครรภ์ในดัชนีมวลกายช่วงปกติกับช่วงที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ช่วงที่มีภาวะอ้วน จนถึงช่วงที่มีภาวะอ้วนขั้นรุนแรงกับการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พบว่า ยิ่งมารดามีน้ำหนักเกินมากขึ้นหรืออ้วนเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ยิ่งมีผลเสียต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้นเท่านั้น1 สิ่งนี้บ่งชี้ให้มารดาควรใส่ใจเรื่องสุขภาพโดยการเตรียมความพร้อมของร่างกายรวมถึงดูแลค่าดัชนีมวลกายที่จะบ่งบอกถึงภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนการตั้งครรภ์จะเป็นผลดีต่อมารดาและทารกรวมถึงการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ในขณะเดียวกัน หากบุคลากรทางการแพทย์พบมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วนตั้งครรภ์ ควรให้คำปรึกษาและการดูแลอย่างใกล้ชิดเนื่องจากปัจจัยในเรื่องน้ำหนักเกินและภาวะอ้วนนั้น ถือเป็นความเสี่ยงทั้งต่อการตั้งครรภ์ การคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Ramji N, Challa S, Murphy PA, Quinlan J, Crane JMG. A comparison of breastfeeding rates by obesity class. J Matern Fetal Neonatal Med 2017:1-6.

 

ครรภ์แฝดยังคงเป็นปัญหาในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? ? ? ?ปัจจุบัน สตรีมักแต่งงานช้าลง เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ต้องการมีบุตร จึงมีโอกาสที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กันมากขึ้น ซึ่งการช่วยเหลือให้มีบุตรจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์นั้น ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดครรภ์แฝดสูงขึ้น เมื่อเกิดภาวะครรภ์แฝดก็เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการคลอดก่อนกำหนดเพิ่มขึ้น ความจำเป็นที่ทารกจะต้องอยู่ที่หอทารกป่วยวิกฤตก็เพิ่มขึ้นตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคและทำให้เกิดความยากลำบากต่อการจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งนั้น จากการศึกษาวิจัยถึงกระบวนการให้ความรู้และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวพบว่ายังไม่สามารถช่วยเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่มีครรภ์แฝดได้1 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการให้ความรู้และการให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในกลุ่มนี้จะยังไม่มีหลักฐานว่าสามารถเพิ่มระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ แต่ก็น่าจะช่วยให้มารดาและครอบครัวเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และอาจส่งผลต่อความตั้งใจในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เมื่อมีโอกาสที่ดีกว่าในครรภ์ถัดไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Whitford HM, Wallis SK, Dowswell T, West HM, Renfrew MJ. Breastfeeding education and support for women with twins or higher order multiples. Cochrane Database Syst Rev 2017;2:CD012003.

สตรีตั้งครรภ์สุขภาพดีลดความเสี่ยงในการผ่าตัดคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????? ความเชื่อดั้งเดิมในสตรีมีครรภ์ควรบำรุงมาก ๆ ไม่ควรทำงานหรือออกแรงมาก ทำให้พบสตรีตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักมีน้ำหนักเกินหรือน้ำหนักเพิ่มขึ้นไม่เหมาะสม แต่จากข้อมูลในปัจจุบันแนะนำว่า สตรีตั้งครรภ์ควรมีการควบคุมการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักให้เหมาะสม จะลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานในระหว่างตั้งครรภ์ และควรออกกำลังกายให้ร่างกายมีความแข็งแรง ซึ่งจะลดความเสี่ยงในการที่ต้องผ่าตัดคลอดได้1 โดยการออกกำลังกายควรเลือกออกกำลังกายที่เหมาะสม ไม่ควรเล่นกีฬาที่มีการประทะหรือเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม และควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุครรภ์ เนื่องจากหากเป็นช่วงไตรมาสสาม มารดาจะมีขนาดท้องหรือมดลูกใหญ่ จะถ่วงน้ำหนักมาด้านหน้าทำให้หลังแอ่นมากขึ้น จุดศูนย์ถ่วงหรือการทรงตัวของร่างกายเปลี่ยนไป การวิ่งหรือปั่นจักรยานในพื้นที่ที่ขรุขระหรือเสี่ยงต่อการกระแทกหรือล้ม จะมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายสำหรับครรภ์ การออกำลังกายที่เหมาะสม อาจเป็นการแกว่งแขน การนอนหรือนั่งยกขา หรือบริหารกล้ามเนื้อหลัง สำหรับโยคะสามารถทำได้โดยควรเลือกท่าที่ไม่เสี่ยงในการเกิดอันตราย

เอกสารอ้างอิง

  1. International Weight Management in Pregnancy Collaborative G. Effect of diet and physical activity based interventions in pregnancy on gestational weight gain and pregnancy outcomes: meta-analysis of individual participant data from randomised trials. BMJ 2017;358:j3119.