รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? แต่ละชนชาติ มีวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่แตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีการศึกษาพบว่า ชนชาติเอเชียมีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากที่สุด รองลงมาได้แก่ ชนชาติละตินอเมริกา คนผิวขาว คนพื้นเมืองอินเดียแดง คนพื้นเมืองอลาสก้า คนพื้นเมืองฮาวาย และคนผิวดำ1 ซึ่งการศึกษานี้ศึกษาในสหรัฐอเมริกา มีความน่าสนใจ ขณะที่ในประเทศไทยที่ก้าวไปสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ชนชาติพื้นเมืองในประเทศไทย คนไทยเชื้อสายเวียดนาม คนไทยเชื้อสายมอญ คนไทยเชื้อสายสายจีน คนไทยชาวเขา คนไทยมุสลิม และกลุ่มคนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความเข้าใจถึงลักษณะพื้นฐานของวัฒนธรรมในแต่ละเชื้อชาติชน จะทำให้การให้คำแนะนำการมารดาในแต่ละเชื้อชาติ ทำได้อย่างเหมาะสม และนัดติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดในกลุ่มชนที่มีการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เร็ว สิ่งนี้จะทำให้การให้บริการการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำได้อย่างมีความเข้าใจในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป และไร้ขีดแบ่งกั้นด้านชนชาติใดที่มารับบริการ
เอกสารอ้างอิง
Jones KM, Power ML, Queenan JT, Schulkin J. Racial and ethnic disparities in breastfeeding. Breastfeed Med 2015;10:186-96.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? บางครั้ง คนในสังคมอาจมีคำถามในใจว่า แพทย์ได้ให้ข้อมูล คำแนะนำแก่มารดาและครอบครัวเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งของคำตอบอาจได้จากการศึกษาที่พบว่า แพทย์ได้ให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงร้อยละ 29 และช่วงเวลาเฉลี่ยที่ให้ข้อมูลสั้นเพียงแค่ 39 วินาที1 และการให้ข้อมูลหรือคำแนะนำของแพทย์ประจำบ้านทางสูตินรีเวชน้อยกว่าผดุงครรภ์หรือผู้ช่วยพยาบาล สิ่งนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญหรือการเอาใจใส่ต่อเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของแพทย์ แพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ประจำบ้าน แต่อาจเป็นเพราะภารกิจของแพทย์ที่มีหลากหลายจนทำให้การให้เวลากับผู้ป่วยอาจจะมีน้อย? อย่างไรก็ตาม การจัดระบบให้มีทีมงานสหสาขาร่วมมือกันโดยเฉพาะพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลและสร้างบรรยากาศให้บุคลากรทุกคนในโรงพยาบาลช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ น่าจะแสดงถึงความเอาใจใส่ในการให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในภาพรวม ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่มารดาและทารก และประเทศชาติได้
เอกสารอ้างอิง
Demirci JR, Bogen DL, Holland C, et al. Characteristics of breastfeeding discussions at the initial prenatal visit. Obstet Gynecol 2013;122:1263-70.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีปัญหาและอุปสรรคหลายด้าน ทั้งด้านความพอเพียงของผู้มีความรู้ที่จะให้คำปรึกษาด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นโยบายของสถานพยาบาล ทัศนคติของบุคลากรและแพทย์ผู้บริการ ความรู้ ทัศนคติ และความตั้งใจของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สภาวะของครอบครัว สภาพแวดล้อม สวนสาธารณะ ร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานบริการที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสถานประกอบการที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ในวันที่ 1-7 สิงหาคม 2558 นี้ เป็นสัปดาห์นมแม่โลก องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ให้ช่วยเหลือคุณแม่ที่ทำงานให้ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากสาเหตุที่สำคัญในการหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนหกเดือนคือ การกลับไปทำงานของมารดา1 ดังนั้น กำลังสำคัญที่จะสนับสนุนให้มารดาได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อยหกเดือน ได้แก่ ภาคส่วนของสถานประกอบการ ในประเทศไทยควรถือโอกาสเนื่องในวันแม่แห่งชาติ นอกจากจะมีการระลึกถึงพระคุณของแม่ที่มีมากล้นแล้ว การเชิญชวนให้ระลึกถึงคุณค่าของนมแม่และช่วยให้แม่ที่ต้องทำงานให้ได้ให้นมแม่แก่ลูกได้ น่าจะเป็นการช่วยที่ประเสริฐสุด ซึ่งการช่วยสร้างกระแส ? ช่วยแม่ทำงานให้ ให้นมลูกได้ ? น่าจะเกิดขึ้นได้ในสังคมไทยที่มีความเอื้อเฟื้อและเห็นอกเห็นใจ โดยการให้ 3 การให้ คือ ให้พื้นที่ ให้โอกาส และให้เวลาแก่มารดาที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ให้พื้นที่ คือ การจัดสถานที่ที่เหมาะสำหรับการบีบเก็บน้ำนมสำหรับแม่ที่ทำงานเก็บไว้ให้ลูกกินที่บ้าน
ให้โอกาส คือ มีนโยบายสนับสนุนช่วยให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในขณะแม่กลับมาทำงาน
ให้เวลา คือ การจัดเวลาพักให้มารดาบีบเก็บน้ำนมระหว่างวัน เพื่อช่วยคงการสร้างนมแม่
การให้สิ่งเหล่านี้จากสถานประกอบการ น่าจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสังคมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
เอกสารอ้างอิง
Puapornpong P, Manolerdthewan W, Raungrongmorakot K, Ketsuwan S, Wongin S. Factor effecting on breastfeeding success in infants up to 6 month of age in Nakhon Nayok province J Med Health Sci 2009;16:116-23.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การให้ทารกได้ใกล้ชิดกับมารดา นอกจากประโยชน์ในการช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้นแล้ว ทารกที่ใกล้ชิดกับมารดาจะรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในปัจจุบัน ยังมีความวิตกกังวลในเรื่องความเสี่ยงจากการที่ทารกเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุเฉียบพลัน (sudden infant death syndrome) ซึ่งมักพบในมารดาที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทารกที่นอนร่วมเตียงกับมารดาบนโซฟาหรือที่นั่งเบาะเอนหลัง1 ,2 ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่กินนมผสม3 ,4 และทารกที่นอนคว่ำ5 ,6 จะเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้หากมีการให้ความรู้ความเข้าใจแก่มารดา น่าจะลดปัญหาในการเกิดอันตรายแก่ทารกได้ ร่วมกับหากมารดามีผู้ช่วยที่ดี เช่นสามีหรือคนในครอบครัวช่วยแบ่งเบาภาระงานอื่นๆ ของมารดาให้มารดาได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ การให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดาในสถานที่ที่เหมาะสม เตียงที่มีความกว้างเพียงพอ? ไม่มีร่องหลืบให้ทารกพลัดตกได้ ไม่ใช้หมอนหรือผ้ารองหนุนทารกที่นุ่มเกินไป1 การนอนร่วมเตียงของมารดากับทารกในช่วงให้นมบุตรน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่ามีผลเสีย ดังนั้น สิ่งที่เรียนรู้ไม่ใช่จะสร้างให้เกิดความวิตกกังวลหรือความกลัวเพียงอย่างเดียว แต่ควรสร้างให้เกิดการเตรียมพร้อมที่จะป้องกันหรือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะสร้างให้เกิดอันตรายแก่ทารกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Blair PS, Sidebotham P, Evason-Coombe C, Edmonds M, Heckstall-Smith EM, Fleming P. Hazardous cosleeping environments and risk factors amenable to change: case-control study of SIDS in south west England. BMJ 2009;339:b3666.
Ball HL, Moya E, Fairley L, Westman J, Oddie S, Wright J. Bed- and sofa-sharing practices in a UK biethnic population. Pediatrics 2012;129:e673-81.
Hauck FR, Thompson JM, Tanabe KO, Moon RY, Vennemann MM. Breastfeeding and reduced risk of sudden infant death syndrome: a meta-analysis. Pediatrics 2011;128:103-10.
Vennemann MM, Bajanowski T, Brinkmann B, et al. Does breastfeeding reduce the risk of sudden infant death syndrome? Pediatrics 2009;123:e406-10.
Blair PS, Heron J, Fleming PJ. Relationship between bed sharing and breastfeeding: longitudinal, population-based analysis. Pediatrics 2010;126:e1119-26.
Blabey MH, Gessner BD. Infant bed-sharing practices and associated risk factors among births and infant deaths in Alaska. Public Health Rep 2009;124:527-34.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? ชีวิตมนุษย์มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มการปฏิสนธิจนคลอดออกมามีสัญญาณชีพ จึงนับเป็นการเกิดทางนิตินัย แต่ความจริงแล้วการจะสร้างให้เกิดทารกที่สมบูรณ์แข็งแรง การเตรียมตัวตั้งแต่การดูแลการตั้งครรภ์จนกระทั่งให้คลอดด้วยกลไกปกติไม่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นส่วนสำคัญเพียงส่วนหนึ่งในการเริ่มต้น การดูแลหลังการกำเนิดของทารกใน 1000 วันแรกก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญ เนื่องจากเป็นจุดที่สำคัญในการพัฒนาการทางด้านสมองและอารมณ์ เช่นเดียวกันกับขณะการตั้งครรภ์ ทารกได้รับสารอาหารจากมารดาผ่านทางสายสะดือ หลังคลอดทารกก็ได้รับสารอาหารจากมารดาผ่านทางนมแม่ ซึ่งมารดาจำเป็นดูแลตนเองให้สมบูรณ์ หลีกเลี่ยงอาหารหรือการรับสารต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่อทารก หลังหกเดือนแรก การเสริมให้อาหารตามวัยอย่างเหมาะสม ร่วมกับการให้นมแม่ต่อจนกระทั่งครบ 2 ปีหรือนานกว่านั้น ร่วมกับการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีที่เอื้อต่อการพัฒนาการของทารก จะส่งเสริมให้ผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ช่วยให้ทารกมีไอคิวและทักษะการเรียนรู้ที่ดีกว่าการให้สารอาหารอื่นๆ1 ส่งผลชัดเจนขึ้นตามความสำคัญของ 1000 วันแรกของชีวิต
เอกสารอ้างอิง
Belfort MB, Rifas-Shiman SL, Kleinman KP, et al. Infant feeding and childhood cognition at ages 3 and 7 years: Effects of breastfeeding duration and exclusivity. JAMA Pediatr 2013;167:836-44.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)