คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

จำนวนไวรัสเอชไอวีสะสมในมารดามีผลเสียต่อการพัฒนาการของระบบประสาทของทารก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มารดาที่มีการติดเชื้อเอชไอวีจะมีไวรัสเอชไอวีในกระแสเลือดของมารดาตลอดชีวิต จำนวนไวรัสเอชไอวีที่อยู่ในกระแสเลือดของมารดามีผลต่อการเลือกการใช้ยา ระยะเวลาในการรักษา วิธีการคลอด และการให้ยาต้านไวรัสหลังคลอดแก่ทารก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า จำนวนไวรัสเอชไอวีสะสมในมารดามีผลเสียต่อการพัฒนาการของระบบประสาทของทารกในเรื่องการเรียนรู้ ภาษาและการทำงานของกล้ามเนื้อ 2.2-3.7 เท่า1 ดังนั้น นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่แสดงความจำเป็นที่จะต้องดูแลให้มารดาในระยะตั้งครรภ์และระหว่างการคลอดมีจำนวนไวรัสเอชไอวีสะสมในกระแสเลือดต่ำ ซึ่งจะช่วยลดผลเสียที่จะเกิดกับการพัฒนาของระบบประสาทในทารกได้

เอกสารอ้างอิง

  1. le Roux SM, Donald KA, Kroon M, et al. HIV Viremia During Pregnancy and Neurodevelopment of HIV-Exposed Uninfected Children in the Context of Universal Antiretroviral Therapy and Breastfeeding: A Prospective Study. Pediatr Infect Dis J 2019;38:70-5.

 

การให้ลูกกินนมแม่ช่วยมารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             การที่มารดาเป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์พบว่าเมื่อติดตามมารดาอย่างต่อเนื่องไปในอนาคต มารดาราวครึ่งหนึ่งมีโอกาสที่จะพบเป็นเบาหวานได้ การให้ลูกได้กินนมแม่พบว่ามีผลกระทบต่อมารดาในการเผาพลาญอาหารและเมตาบอลิซึ่ม รวมทั้งเบาหวานของมารดาด้วย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาพบว่า การให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนจะช่วยเรื่องการเผาพลาญอาหารและเมตาบอลิซึ่ม พร้อมทั้งป้องกันระดับน้ำตาลที่ผิดปกติของมารดาในอนาคต1 ซึ่งหมายถึงน่าจะป้องกันการเกิดเบาหวานของมารดาด้วย ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรละเลยที่จะให้คำแนะนำแก่มารดาที่เป็นเบาหวานระหว่างการตั้งครรภ์ในการที่จะให้ลูกได้กินนมแม่อย่างน้อย 3 เดือนเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานในอนาคตให้น้อยที่สุด

เอกสารอ้างอิง

  1. Corrado F, Giunta L, Granese R, et al. Metabolic effects of breastfeeding in women with previous gestational diabetes diagnosed according to the IADPSG criteria. J Matern Fetal Neonatal Med 2019;32:225-8.

 

การกินโฟลิกก่อนและระหว่างตั้งครรภ์อาจป้องกันความผิดปกติหลอดประสาททารกเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                เป็นที่ทราบกันดีว่า การกินโฟลิกก่อนตั้งครรภ์สามเดือนและระหว่างตั้งครรภ์สามเดือนแรกจะช่วยป้องกันความผิดปกติของระบบหลอดประสาทในทารก (neural tube defect) ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่มารดาและครอบครัวอาจสับสนในเรื่องจะกินอย่างไรก่อนการตั้งครรภ์ เนื่องจากมักไม่ทราบว่าจะกินโฟลิกอย่างไรให้ก่อนการตั้งครรภ์สามเดือนหรือในสามเดือนของการตั้งครรภ์ นั่นคือมารดาต้องรู้ว่าจะตั้งครรภ์เมื่อไร ในขณะที่ความเป็นจริงนั้นมารดาไม่สามารถกำหนดว่าจะต้องครรภ์ได้เมื่อไร ดังนั้น การแนะนำที่ควรให้แก่มารดาคือ หากมารดาวางแผนจะมีบุตร ควรรับประทานโฟลิก (4 mg) หนึ่งเม็ดวันละครั้ง ซึ่งจะป้องกันทั้งในส่วนมารดาที่ไม่มีและมีประวัติที่มีความเสี่ยงต่อความผิดปกติของระบบหลอดประสาทในทารกอย่างต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ  และทำการตรวจทดสอบการตั้งครรภ์เมื่อมีประจำเดือนขาดหรือมีอาการที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ร่วมกับไปฝากครรภ์เพื่อให้แพทย์กำหนดระยะเวลาการตั้งครรภ์ที่แน่นอน เพื่อจะได้วางแผนรับประทานโฟลิกได้อย่างเหมาะสม โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า การกินโฟลิกอาจจะช่วยลดการเกิดความผิดปกติของระบบหลอดประสาทในทารกเพศหญิงมากกว่าเพศชาย1 ซึ่งความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ยังคงต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Zheng X, Pei L, Chen G, Song X, Wu J, Ji Y. Periconceptional Multivitamin Supplementation Containing Folic Acid and Sex Ratio at Birth in a Chinese Population: a Prospective Cohort Study. Paediatr Perinat Epidemiol 2015;29:299-306.

 

 

ลูกชายที่กินนมแม่ เมื่อชรามีความสามารถในการรู้คิดสูงกว่า

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            ผลดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ส่งผ่านการพัฒนาการของระบบประสาทและสมอง ซึ่งพบว่าทารกที่กินนมแม่มีเชาว์ปัญญา (IQ) ที่สูงกว่าเมื่อเข้าสู่วัยเด็ก แต่ผลระยะยาวเมื่อเข้าสู่วัยชรายังมีการศึกษาน้อย อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาแบบสังเกตในผู้ชายที่ย่างเข้าวัยชราที่มีประวัติการกินนมแม่พบมีความสามารถในการรู้คิด (cognitive ability) สูงกว่า1 ซึ่งผลจากการศึกษานี้ แสดงแนวโน้มประโยชน์ของนมแม่ที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของทารกตลอดอายุขัย ดังนั้น จึงสนับสนุนคำกล่าวที่ว่า “นมแม่เป็นรากฐานของสุขภาพและชีวิต”

เอกสารอ้างอิง

  1. Rantalainen V, Lahti J, Henriksson M, et al. Association between breastfeeding and better preserved cognitive ability in an elderly cohort of Finnish men. Psychol Med 2018;48:939-51.