รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมจากการติดเชื้อราที่หัวนมและลานนม ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จะเห็นลักษณะผิวหนังบริเวณหัวนมหรือลานนมเป็นแผ่นหรือสะเก็ด เป็นมัน โดยอาจพบร่วมกับการพบฝ้าขาวในปาก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้นของทารก ลักษณะของอาการเจ็บหัวนมจากการติดเชื้อราจะเกิดขณะหรือหลังทารกดูดนม ในมารดาที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อรา อย่างไรก็ตาม ช่องทางที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราอาจพบในอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บน้ำนมให้ทารก เช่น หัวนมหลอก ขวดนม สายยาง หรือฝาขวดของเครื่องปั๊มนม ซึ่งการแช่ช่องแข็งของตู้เย็นไม่ได้ทำลายเชื้อราที่อยู่ในรูปยีสต์ แต่โดยทั่วไป การติดเชื้อราจะเกิดผลเสียที่รุนแรงเฉพาะต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดและอ่อนแอเท่านั้น ในกรณีที่มารดามีอาการเจ็บหัวนมร้าวไปที่เต้านมด้วย ควรระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่า
??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยตรวจสอบว่ามารดามีท่าให้นมที่เหมาะสมก่อนเสมอ เนื่องจากอาการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่เป็นจากท่าที่ไม่เหมาะสมมากกว่า แม้ว่าจะมีการติดเชื้อราร่วมด้วย ซึ่งการเห็นแผ่นผิวหนังเป็นมันที่หัวนมและลานนมแล้วสรุปว่ามารดาเจ็บหัวนมจากการติดเชื้อราและรักษาแต่เชื้อราโดยไม่จัดท่าให้นมให้เหมาะสม มารดาจะไม่หายเจ็บหัวนม สำหรับการรักษาเชื้อรา อาจใช้ยา Nystatin หรือ Fluconazole ในการรักษา ร่วมกับกำจัดปัจจัยเสี่ยงจากแหล่งสะสมเชื้อรา โดยการต้มอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับทารกในน้ำเดือดนาน 20 นาที ซึ่งหากรักษาอย่างเหมาะสม อาการเจ็บหัวนมจะหายไปใน 1-2 วัน
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมจากเส้นเลือดหดรัดตัวและหัวนมขาดเลือด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Raynuad?s phenomenon ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เส้นเลือดที่หัวนมหดรัดตัวและขาดเลือดไปเลี้ยง จึงเกิดอาการปวดจี๊ดขึ้นมาที่หัวนม มักเกิดขึ้นในช่วงหลังจากการให้นม บีบน้ำนมด้วยมือ หรือปั๊มนม ขณะที่หัวเปียกและเย็น มักสังเกตเห็นว่า หัวนมจะเปลี่ยนสีเป็นสีซีดหรือเขียวคล้ำในช่วงสั้นๆ ไม่เป็นสีชมพูเหมือนปกติ อาการปวดส่วนใหญ่จะเกิดที่หัวนมและใกล้หัวนม แต่บางครั้งอาจพบมีอาการปวดร้าวไปที่เต้านมตามเส้นประสาทได้ ในมารดาบางคน อาจเคยมีอาการเจ็บหัวนมลักษณะเดียวกันนี้หลังจากการอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ การสังเกตเห็นหัวนมที่ซีดขณะมารดาปวดจะช่วยในการวินิจฉัย และการช่วยให้หัวนมแห้งและอุ่นขึ้นช่วยลดอาการปวดหัวนมลงได้
??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยตรวจสอบว่ามารดามีท่าให้นมที่เหมาะสม หลังจากนั้น แนะนำให้มารดาใส่เสื้อผ้าอุ่นๆ ที่สะดวกจะช่วยให้หัวนมอุ่นหลังให้นมเสร็จ เช็ดหัวนมให้แห้ง หากการแนะนำเบื้องต้น ไม่ดีขึ้น อาการปวดยังเป็นบ่อยและเป็นปัญหา ควรปรึกษาแพทย์ โดยอาจพิจารณาการใช้ยา nifedipine อย่างไรก็ตาม กว่าอาการปวดจะหายไปจะใช้เวลาหลายวัน สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการตรวจสอบสาเหตุของอาการเจ็บหัวนม คือ มีสาเหตุอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากอาการเจ็บหัวนมอาจมีหลายสาเหตุร่วมกันได้
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมขณะที่ทารกดูดนม อาจเกิดจากน้ำนมไหลมากหรือเร็วเกินไปได้ โดยทารกจะพยายามควบคุมให้น้ำนมไหลช้าลงด้วยการออกแรงในการงับหัวนมมากขึ้นเพื่อชะลอการไหลของน้ำนม ซึ่งจะทำให้มารดาเจ็บหัวนม อาการนี้มักเกิดเมื่อมีน้ำนมมาดีหรือมากแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 3-4 วันหลังคลอด อาการเจ็บหัวนมมักเป็นมากในช่วงเริ่มกินนมที่น้ำนมในเต้ายังมีมาก ผู้ดูแลหรือมารดาจะสังเกตได้จาก มารดามีน้ำนมมามาก ทารกอาจมีอาการของการกินนมที่มากเกินไป ได้แก่ สำรอกหรือแหวะนม ขับถ่ายบ่อย และน้ำหนักขึ้นเร็ว
??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยการจัดท่าให้นมที่เหมาะสม โดยให้ศีรษะทารกสามารถขยับได้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำนมที่ไหลเร็วเกินไป การจัดท่าที่มารดาเอนหลัง นอนเอนหลังหรือนอนราบขณะให้นมจะช่วยไม่ให้น้ำนมไหลเข้าปากทารกเร็วเกินไป หรือการบีบน้ำนมออกก่อนการให้นมและเก็บน้ำนมไว้ก็ช่วยลดความเร็วในการไหลของน้ำนมได้ โดยน้ำนมที่เก็บไว้ อาจนำมาให้ทารกกินได้ เมื่อมารดาไม่สะดวกจะให้นม ซึ่งมารดาสามารถเลือกใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้ เมื่อควบคุมให้น้ำนมไม่ไหลเร็วเกินไปแล้ว การเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมควรหายไป
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เป็นจากท่าของมารดาและทารกขณะให้นมไม่เหมาะสม คำถามที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องตอบ คือ ทำไมท่าในการให้นมจึงมีผลต่อการเจ็บหัวนม ขณะที่ให้นมท่าของทารก ศีรษะ ลำตัวจะอยู่ในแนวเดียวกัน ลำตัวทารกแนบชิดติดลำตัวมารดา มีการประคองรองรับศีรษะ หัวไหล่ หรือลำตัวทารกอย่างมั่นคง และหน้าของทารกหันเข้าหาเต้านมโดยจมูกทารกจะตรงกับหัวนม ในลักษณะนี้ศีรษะทารกจะเงยเล็กน้อย หากมีการประคองออกแรงกดบริเวณหลังทารกมาก หน้าและศีรษะทารกจะเงยมากเกินไป การอมหัวนมและลานนมจะทำได้น้อย ทารกจะออกแรงในการดูดหรืองับหัวนมมาก มารดาจึงเจ็บหัวนม กลไกนี้ยังเกิดในกรณีอื่นด้วย ได้แก่ มารดาอุ้มทารกอยู่ห่างเกินไป ทารกอมเฉพาะหัวนมขณะดูดนม หรือมารดาเคลื่อนตัวเอาเต้านมเข้าหาทารกและต้องก้มตัวมาก ซึ่งทำให้การอมหัวนมและลานนมได้ไม่ลึกพอ ทารกก็ต้องออกแรงดูดหรืองับหัวนมมากเช่นกัน อีกกรณีหนึ่ง คือ ศีรษะและลำตัวทารกไม่อยู่ในแนวเดียวกัน ทำให้หน้าของทารกต้องเอียงคอขณะเข้าหาเต้านมเพื่ออมหัวนมและลานนม การกลืนของทารกจะทำไม่ได้ดี ทารกจะหงุดหงิดและออกแรงดูดหรืองับหัวนม ทำให้มารดาเจ็บหัวนม นอกจากนี้ การที่นิ้วมือของมารดาอยู่ใกล้หัวนม หรือกดเต้านมแรงเกินไป อาจขัดขวางการอมหัวนมและลานนม หรือขัดขวางการไหลของน้ำนมได้ ซึ่งผลจะทำให้ทารกดูดหรืองับหัวนมแรง ทำให้มารดาเจ็บหัวนมเช่นกัน
? ? ? ? ? ? จะเห็นว่า ลักษณะต่างๆ ที่ทำให้ทารกอมหัวนมและลานนมได้ไม่เหมาะสมสามารถเกิดจากท่าที่ไม่เหมาะสมได้หลายกรณี แล้วจะรู้หรือสังเกตได้อย่างไรว่า การเจ็บหัวนมเป็นจากท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม มารดาหรือบุคลากรทางการแพทย์อาจสังเกตหรือสอบถามอาการของมารดาได้จาก
? ? ? ? ? -อาการเจ็บหัวนมมักเจ็บมากขณะเริ่มดูดนมใหม่ และยังคงเจ็บอยู่แต่น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป
? ? ? ? ? -หากขยับศีรษะทารก หรือเปลี่ยนท่า อาการเจ็บหัวนมเป็นอย่างไร ดีขึ้นไหม
? ? ? ? ? -ขณะให้นม มารดาวางนิ้วมือใกล้หัวนมเกินไปหรือไม่ หรือกดลานนมหรือเต้านมทำให้ขัดขวางการไหลของน้ำนมไหม
?? ? ? ? ? ? หากเปลี่ยนท่าที่เหมาะสมแล้ว อาการเจ็บหัวนมดีขึ้น ส่วนหนึ่งของปัญหาน่าจะมาจากท่าที่ไม่เหมาะสม แต่หากอาการเจ็บหัวนมน้อยลง แต่ไม่หาย และยังคงต่อเนื่องอยู่นาน อาจต้องหาสาเหตุอื่นที่อาจมีร่วมด้วย ได้แก่ หัวนมแตก มีการอักเสบหรือมีการติดเชื้อราหรือแบคทีเรียร่วมด้วย
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
??????????????? การเจ็บหัวนมพบได้บ่อย แต่ไม่ใช่เรื่องปกติของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาเหตุของการเจ็บหัวนมขณะที่ให้ลูกกินนมแม่มีหลายสาเหตุ ได้แก่
??????????????? -ท่าการให้นมของมารดาและทารกไม่เหมาะสม พบส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 95
??????????????? -น้ำนมมากหรือไหลเร็วเกินไป
??????????????? -ทารกมีภาวะลิ้นติดหรือเพดานสูง
??????????????? -น้ำนมไหลไม่ดี มีการอุดตัน จากไขของน้ำนมอุดท่อน้ำนมบริเวณหัวนม (white dot หรือ bleb)
??????????????? -ติดเชื้อรา หรือร่วมกับเชื้อแบคทีเรีย
??????????????? -การหดรัดตัวของเส้นเลือดที่หัวนม ทำให้มีเลือดไปเลี้ยงน้อย (Raynuad?s phenomenon)
??????????????? การวิเคราะห์ให้ทราบถึงสาเหตุมีความจำเป็น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการเจ็บหัวนมได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่พบได้บ่อยและอาจพบร่วมกับสาเหตุอื่นๆ ด้วย คือ การจัดท่าให้นมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การเริ่มต้นในการแก้ปัญหาเรื่องการเจ็บหัวนม จึงควรเริ่มต้นด้วยการสังเกตการให้นมของมารดาว่ามีท่าให้ที่ถูกต้องหรือไม่ หากยังไม่ถูกต้อง ควรแก้ไขเรื่องท่าในการให้นมก่อนเป็นอันดับแรก
เอกสารอ้างอิง
- Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)