คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การให้ญาติช่วยดูแลมารดาขณะรอคลอด มีประโยชน์หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    การจัดให้สามีหรือญาติที่ใกล้ชิดสามารถอยู่ให้กำลังใจและดูแลในระยะแรกของการคลอดได้ จะส่งผลดีต่อการคลอด โดยการให้มีเพื่อนอยู่ด้วยระหว่างการรอคลอดและคลอด มีประโยชน์ต่อมารดาโดยอาจช่วยนวดซึ่งสามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงจากการคลอด1  ช่วยสนับสนุนในการเคลื่อนไหวของมารดาซึ่งจะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น2 ลดความเครียดของมารดา ลดความจำเป็นในความต้องการในการใช้หัตถการทางการแพทย์ ช่วยให้การรอคลอดและการคลอดเร็วขึ้น และเพิ่มความมั่นใจในตนเองของมารดาในด้านร่างกายและในด้านความสามารถในการคลอด และช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดแก่ทารก ได้แก่ เพิ่มการตื่นตัวของทารกจากการที่มารดาได้รับยาแก้ปวดลดลง และลดอาการตัวเย็น (hypothermia) และภาวะน้ำตาลต่ำของทารกเนื่องจากทารกมีความเครียดน้อยกว่าจึงใช้พลังงานน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกและช่วยในการให้นมแม่ได้บ่อยขึ้น พร้อมทั้งสร้างความผูกพันระหว่างมารดากับทารกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมให้ญาติที่อยู่ช่วยดูแลในขณะรอคลอดให้มีทักษะและความรู้ที่จะช่วยเหลือมารดาได้อย่างเหมาะสม ก็ยังมีความจำเป็นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Taghinejad H, Delpisheh A, Suhrabi Z. Comparison between massage and music therapies to relieve the severity of labor pain. Womens Health (Lond Engl) 2010;6:377-81.
  2. Read JA, Miller FC, Paul RH. Randomized trial of ambulation versus oxytocin for labor enhancement: a preliminary report. Am J Obstet Gynecol 1981;139:669-72.

 

นมแม่อาจมีวิตามินเอต่ำในมารดาที่ผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดความอ้วน

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                   ปัจจุบันโรคอ้วนเป็นโรคที่พบบ่อยขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากพฤติกรรมการกินและกิจกรรมในชีวิตประจำวันของคนในชุมชนเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป การรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะ (bariatric surgery) เริ่มมีการใช้เพิ่มมากขึ้น วิตามินเอเป็นวิตามินที่มีโอกาสจะขาดได้ในสตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โดยในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดเหล่านี้ หากมีการตั้งครรภ์ทำให้มีข้อสงสัยว่าจะพบภาวะการขาดแคลนวิตามินเอหรือไม่ มีการศึกษาเกี่ยวกับปริมาณวิตามินเอในนมแม่ของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะพบว่า ในนมแม่ของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะมีปริมาณวิตามินเอต่ำกว่ามารดากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ1 ดังนั้น การเอาใจใส่ในเรื่องภาวะโภชนาการของมารดาที่ได้รับการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะจึงมีความสำคัญและจำเป็นเพื่อป้องกันการขาดสารอาหารบางอย่างที่จำเป็นในทารกที่กินนมแม่ทำให้ทารกได้รับประโยชน์จากการกินนมแม่ไม่เต็มที่ ซึ่งความจำเป็นในการเสริมสารอาหารที่ขาดแคลนในมารดาเหล่านี้ควรต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Garretto D, Kim YK, Quadro L, et al. Vitamin A and beta-carotene in pregnant and breastfeeding post-bariatric women in an urban population. J Perinat Med 2019;47:183-9.

 

 

 

 

การให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดาต้องระวังในมารดาที่มีความเสี่ยง

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การที่ให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดาในระยะหลังคลอดมีรายงานการศึกษาว่าช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีขึ้น เนื่องจากมารดาสามารถจะสังเกตอาการหิวของทารกได้ดีกว่า และทำการให้นมแม่ได้ตามที่ทารกต้องการ อย่างไรก็ตามในระยะหลังมีการศึกษาพบว่าในมารดาที่มีความเสี่ยง ได้แก่ มารดาวัยรุ่น มารดาที่มีการใช้ยาเสพติดหรือติดบุหรี่ มารดาที่มีความเจ็บป่วยหรือใช้ยานอนหลับ และหากเตียงที่ให้ทารกมีความไม่ปลอดภัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหรือมีพื้นที่คับแคบเกินไปเสี่ยงต่อการที่มารดาจะเบียดทับทารก1 ในกรณีเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่บุคลาการทางการแพทย์ควรให้ความสนใจและหากไม่สามารถให้การดูแลได้อย่างใกล้ชิด ควรหลีกเลี่ยงที่จะให้มารดาและทารกนอนเตียงเดียว เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกจะตกเตียง ตกร่องข้างเตียง หรือถูกมารดาทับจนเกิดอันตรายได้ ซึ่งการพิจารณาควรชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้รับและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยทางการแพทย์มักดูแลตามหลักความปลอดภัยไว้ก่อนอันเป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ควรคำนึงถึงเสมอ

เอกสารอ้างอิง

  1. Hughes Driscoll CA, Pereira N, Lichenstein R. In-hospital Neonatal Falls: An Unintended Consequence of Efforts to Improve Breastfeeding. Pediatrics 2019;143.

Breastfeeding case study 15

Breastfeeding case study 15