คลังเก็บหมวดหมู่: การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตั้งครรภ์และการคลอด ความเสี่ยงสูงที่ต้องใส่ใจ

การตัดสายสะดือทารกที่คลอด ควรตัดเมื่อไหร่ดี

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในสมัยก่อนที่ยังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบและใช้ข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์ การตัดสายสะดือทารกจะทำหลังการคลอดทารกทันที หากไม่มีภาวะเร่งด่วนอื่น ๆ แต่เมื่อมีการศึกษามากขึ้นพบว่า การชะลอการตัดสายสะดือ โดยให้มีการรัดหรือตัดสายสะดือหลังคลอดทารกราว 30 วินาทีถึง 2 นาที และจัดทำระดับตัวของทารกอยู่ต่ำกว่าระดับรก จะทำให้เลือดที่อยู่ในรกไหลเข้าสู่ตัวทารก ทารกได้รับเลือดเพิ่มขึ้นและช่วยในการสะสมของธาตุเหล็กด้วย1,2 ซึ่งจะมีประโยชน์ โดยช่วยลดการเกิดภาวะซีดของทารก และความวิตกกังวลของมารดาในเรื่องการขาดธาตุเหล็กจากการให้ลูกกินนมแม่3,4

เอกสารอ้างอิง

  1. McAdams RM. Time to implement delayed cord clamping. Obstet Gynecol 2014;123:549-52.
  2. Garofalo M, Abenhaim HA. Early versus delayed cord clamping in term and preterm births: a review. J Obstet Gynaecol Can 2012;34:525-31.
  3. Kc A, Rana N, Malqvist M, Jarawka Ranneberg L, Subedi K, Andersson O. Effects of Delayed Umbilical Cord Clamping vs Early Clamping on Anemia in Infants at 8 and 12 Months: A Randomized Clinical Trial. JAMA Pediatr 2017;171:264-70.
  4. Alzaree F, Elbohoty A, Abdellatif M. Early Versus Delayed Umbilical Cord Clamping on Physiologic Anemia of the Term Newborn Infant. Open Access Maced J Med Sci 2018;6:1399-404.

 

การใช้เครื่องดูดสุญญากาศ มีผลเสียต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               หากทารกคลอดปกติทางช่องคลอดตามเวลาที่เหมาะสมจะเป็นการดีที่สุดสำหรับการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การคลอดที่รวดเร็วหรือเนิ่นนานเกินไปไม่ว่าจะเป็นจากการชักนำให้เกิดหรือเป็นภาวะแทรกซ้อน ล้วนแล้วแต่อาจก่อให้เกิดผลเสียแก่มารดาและทารก เช่นการชักนำให้เกิดการคลอดที่เร็วขึ้นโดยการใช้ยาเร่งคลอดหรือใช้เครื่องดูดสุญญากาศทำให้ทารกคลอดเร็วขึ้นโดยขาดความจำเป็นทางการแพทย์ ช่องคลอดที่ยังไม่ได้มีการปรับตัวหรือยังไม่พร้อมจะเกิดการฉีกขาดได้มากกว่า มารดาอาจตกเลือดหลังคลอด และทารกที่ใช้เครื่องดูดสุญญากาศจะมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายแก่ศีรษะทารกได้มากกว่า โดยส่งผลต่อการเรียงตัวของกะโหลกศีรษะ เส้นประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจะมีผลต่อการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามมาได้ เช่นเดียวกับการคลอดที่ปล่อยให้เนิ่นนาน ทำให้มารดาและทารกอ่อนล้า การเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จึงเกิดได้ช้าด้วย1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

 

การตัดฝีเย็บ จำเป็นหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ในสมัยก่อน การคลอดมักคลอดที่บ้าน การดูแลการคลอดจะใช้หมอตำแย ซึ่งจะดูแลให้การเบ่งคลอดและการคลอดเป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งจะไม่มีการตัดฝีเย็บ หมอตำแยจะพยายามช่วยให้ทารกคลอดออกมาตามกลไกการคลอด แต่หากการคลอดติดขัดหรือการคลอดเนิ่นนาน หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการคลอดเกิดการฉีกขาดของฝีเย็บที่รุนแรง ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้มารดาตกเลือดมากและอาจมีการเสียชีวิตได้ ในกรณีที่มีการฉีกขาดของฝีเย็บที่รุนแรง หากสามารถดูแลการตกเลือดได้ มารดาอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับการควบคุมการเบ่งถ่ายอุจจาระ ทำให้กลั้นอุจจาระไม่ได้ เนื่องจากมีการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก เมื่อการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามา เริ่มมีการแนะนำให้มีการตัดฝีเย็บเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของการฉีกขาดของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณทวารหนัก ทำให้แพทย์แผนปัจจุบันทำการตัดฝีเย็บให้แก่ผู้คลอดทุกราย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเมื่อมีการรวบรวมเก็บข้อมูลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์พบว่า ควรพิจารณาการตัดฝีเย็บเมื่อมีความจำเป็น การตัดฝีเย็บทุกรายจะเสี่ยงต่อการเกิดการฉีกขาดของแผลที่ฝีเย็บที่มีความรุนแรงมากกว่า1,2 ทำให้มารดาปวดแผลและนั่งลำบากในช่วงแรกหลังคลอด ซึ่งส่งผลต่อการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อของมารดา การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความผูกพันของมารดากับทารก หากมารดาปวดแผลมาก การให้มารดานอนลง กอดและให้นมลูกอาจจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Sulaiman AS, Ahmad S, Ismail NA, Rahman RA, Jamil MA, Mohd Dali AZ. A randomized control trial evaluating the prevalence of obstetrical anal sphincter injuries in primigravida in routine versus selective mediolateral episiotomy. Saudi Med J 2013;34:819-23.
  2. Rodriguez A, Arenas EA, Osorio AL, Mendez O, Zuleta JJ. Selective vs routine midline episiotomy for the prevention of third- or fourth-degree lacerations in nulliparous women. Am J Obstet Gynecol 2008;198:285 e1-4.

 

การเบ่งคลอดอย่างไรเหมาะสม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                      การเบ่งคลอด ส่วนใหญ่ตามโรงพยาบาลมักสอนให้มารดาเบ่งคลอดแบบปิดกล่องเสียง คือมารดาจะต้องสูดหายใจเข้าลึก ๆ กั้น ปิดกล่องเสียง (สังเกตได้ว่ามารดาจะไม่ส่งเสียงร้องขณะออกแรงเบ่ง) แล้วเบ่งยาว ๆ ให้ได้ 2-3 ครั้งต่อการเจ็บครรภ์คลอดหรือท้องแข็ง 1 ครั้ง การสอนการเบ่งคลอดอย่างเหมาะสมจะทำให้มารดาเบ่งคลอดได้ถูกต้องดยการส่งเสียงเชียร์เบ่งคลอดจากบุคลากรทางการแพทย์หรือผู้ช่วยคลอดอาจขึ้นอยู่กับความต้องการหรือความพึงพอใจของมารดา1 เนื่องจากไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาในการคลอด คะแนะประเมินทารก Apgar score และความจำเป็นที่จะต้องย้ายทารกไปหอทารกป่วยวิกฤต หากมารดาเบ่งคลอดได้ดี จะมีโอกาสในการคลอดปกติสูงขึ้น การที่มารดาคลอดปกติทางช่องคลอดจะทำให้มารดาสามารถเคลื่อนไหวได้เร็วตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดรวมถึงการเริ่มการรับประทานอาหารหรือการดื่มน้ำ จะเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย  สำหรับท่าในการคลอดที่จะช่วยส่งเสริมในการเบ่งคลอดคือ ท่าที่ลำตัวของมารดาค่อนข้างตั้งตรงหรือเอนหลังเล็กน้อย

เอกสารอ้างอิง

  1. Sukchamnan K, Khongsin U, Sanboonsong K, Puapornpong P, Manolerdthewan W. Effect of maternal bearing-down cheering on labor outcomes. J med health sci 2010;17:22-8.

 

 

 

ผลเสียของการใช้ยาแก้ปวดในขณะคลอด

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  แม้ว่ายาแก้ปวดจะมีประโยชน์ในการลดความเจ็บปวดในระหว่างการรอคลอดได้ แต่การให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด ควรมีการอภิปรายถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ กับมารดาตั้งแต่ระยะก่อนการคลอด อธิบายถึงลักษณะการเจ็บครรภ์คลอดและทางเลือกในการลดความเจ็บปวดจากการคลอดด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยา เพื่อให้มารดาเข้าใจ ลดความกลัว ความวิตกกังวล หรือความคาดหวังถึงความรุนแรงของการเจ็บครรภ์คลอดซึ่งจะส่งผลต่อความรุนแรงต่อการเจ็บครรภ์ขณะเข้าสู่ระยะคลอด1 โดยอธิบายข้อดีของการให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวดจะทำให้มารดามีอาการปวดน้อยลง ไม่ต้องทนหรือมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดจากการคลอด สำหรับข้อเสียหรือความเสี่ยงของการให้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด ได้แก่ การคลอดยาวนานขึ้น มีโอกาสการใช้หัตถการสูงขึ้น2 การให้ทารกแรกเกิดได้รับการโอบกอดเนื้อแนบเนื้อและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เริ่มช้าลง3 เสี่ยงต่อการทำให้เกิดการแยกมารดาจากทารกหลังคลอด ทำให้ทารกง่วงซึมและปลุกตื่นยาก ลดกลไกการดูดนมของทารก น้ำนมลดลง ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเกิดอาการตัวเหลือง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำหนักตัวขึ้นน้อย การให้การช่วยเหลือหรือเวลาที่มากขึ้นอาจจำเป็นในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และการสร้างความสัมพันธ์ของมารดากับทารกเมื่อมีการใช้ยาระงับความรู้สึกหรือยาแก้ปวด

              ควรจะเสนอการลดความเจ็บปวดจากการคลอดด้วยวิธีการที่ไม่ใช้ยาก่อน ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่ การให้สามีหรือญาติที่ใกล้ชิดอยู่ให้กำลังใจหรือการกดนวดหลัง4 การเดินจงกลม การเดินไปรอบๆ หรือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนท่า การกอดลูกบอล5 การเต้นโดยการยืนขยับสะโพกไปหน้าหลังหรือเป็นวงกลมพร้อมการนวดหลัง (dance labor)6 การใช้น้ำอุ่นหรือประคบร้อนบริเวณหลังส่วนล่าง7 การประคบร้อนสลับเย็นบริเวณหลังส่วนล่าง8 การให้กำลังใจโดยภาษากายหรือการพูดจากบุคลากรทางการแพทย์ และการสร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ การมีแสงไฟที่ไม่สว่างจ้าเกินไป ควรมีทางเลือกให้มารดาได้เลือกท่าในระหว่างการรอคลอดและขณะคลอด9,10 ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมกับแต่ละโรงพยาบาล และฝึกบุคลากรให้มีความสามารถและทัศนคติที่จะช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ก็จะช่วยลดการใช้ยาแก้ปวดลงได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Chang MY, Chen SH, Chen CH. Factors related to perceived labor pain in primiparas. Kaohsiung J Med Sci 2002;18:604-9.
  2. Hwa HL, Chen LK, Chen TH, Lee CN, Shyu MK, Shih JC. Effect of availability of a parturient-elective regional labor pain relief service on the mode of delivery. J Formos Med Assoc 2006;105:722-30.
  3. Riordan J, Gross A, Angeron J, Krumwiede B, Melin J. The effect of labor pain relief medication on neonatal suckling and breastfeeding duration. J Hum Lact 2000;16:7-12.
  4. Taghinejad H, Delpisheh A, Suhrabi Z. Comparison between massage and music therapies to relieve the severity of labor pain. Womens Health (Lond Engl) 2010;6:377-81.
  5. Taavoni S, Abdolahian S, Haghani H, Neysani L. Effect of birth ball usage on pain in the active phase of labor: a randomized controlled trial. J Midwifery Womens Health 2011;56:137-40.
  6. Abdolahian S, Ghavi F, Abdollahifard S, Sheikhan F. Effect of dance labor on the management of active phase labor pain & clients’ satisfaction: a randomized controlled trial study. Glob J Health Sci 2014;6:219-26.
  7. Taavoni S, Abdolahian S, Haghani H. Effect of sacrum-perineum heat therapy on active phase labor pain and client satisfaction: a randomized, controlled trial study. Pain Med 2013;14:1301-6.
  8. Ganji Z, Shirvani MA, Rezaei-Abhari F, Danesh M. The effect of intermittent local heat and cold on labor pain and child birth outcome. Iran J Nurs Midwifery Res 2013;18:298-303.
  9. Golay J, Vedam S, Sorger L. The squatting position for the second stage of labor: effects on labor and on maternal and fetal well-being. Birth 1993;20:73-8.
  10. Souza JP, Miquelutti MA, Cecatti JG, Makuch MY. Maternal position during the first stage of labor: a systematic review. Reprod Health 2006;3:10.