คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

หลังคลอดมารดาที่ให้นมลูก ควรลดน้ำหนักไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 การมีน้ำหนักที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดีจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเมตาบอลิกต่าง ๆ  ดังนั้น คำตอบของคำถามที่เป็นหัวเรื่องจะขึ้นอยู่กับว่า มารดาหลังคลอดมีน้ำหนักที่เหมาะสมในขณะนั้นหรือยัง หากมารดามีน้ำหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น การลดหรือควบคุมน้ำหนักก็เป็นสิ่งที่จำเป็น การที่มารดาจะมีน้ำหนักหลังคลอดที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับสองส่วน คือ น้ำหนักเดิมของมารดาก่อนการตั้งครรภ์ และน้ำหนักของมารดาที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม แต่ในความรู้สึกหรือค่านิยมที่พบในคนไทยคือ เมื่อมารดาที่ตั้งครรภ์จะบำรุงโดยคนในครอบครัวมักเน้นให้มารดากินเยอะ ๆ   ทั้ง ๆ ที่มารดาควรเลือกที่จะบำรุงในส่วนที่จำเป็นสำหรับการตั้งครรภ์ มากกว่าจะเน้นในเรื่องปริมาณอาหารที่มาก ซึ่งจะเกิดผลเสียที่ตามมาคือ มารดามีน้ำหนักที่เกินในช่วงหลังคลอด

 ดังนั้น เมื่อถึงระยะหลังคลอด แม้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยให้มารดามีน้ำหนักลดลงได้ แต่หากมารดามีน้ำหนักที่เกินมาก การควบคุมอาหารให้มีความเหมาะสมและการออกกำลังกายเพื่อให้มีการเผาพลาญพลังงานส่วนที่เกินจะช่วยให้น้ำหนักมารดากลับมาเป็นปกติได้ คำถามที่ตามมาคือ มารดาสามารถกินยาลดน้ำหนักได้ไหมขณะให้นมลูก คำตอบคือ มารดาควรหลีกเลี่ยงการกินยาลดน้ำหนัก เนื่องจากยาลดน้ำหนักที่ออกฤทธิ์ทำให้มารดาไม่หิว มักจะมีผลทำให้ปริมาณน้ำนมลดลง ขณะที่ยาลดน้ำหนักที่ทำให้มารดารู้สึกอิ่มจะเป็นยาในกลุ่มยารักษาอาการซึมเศร้า ซึ่งการพิจารณาเลือกใช้ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียเปรียบเทียบกัน สำหรับยาในกลุ่มที่ยับยั้งการดูดซึมของไขมันนั้น แม้ว่าจะผ่านน้ำนมน้อย แต่การที่มารดาขาดการดูดซึมของไขมัน อาจทำให้มารดาขาดวิตามินในกลุ่มที่ละลายในไขมัน1 ซึ่งอาจเกิดอันตรายแก่มารดาและทารกที่กินนมแม่ก็อาจมีการขาดวิตามินเหล่านี้ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Anderson PO. Drug Therapy for Weight Loss: Effects on Lactation and Breastfeeding. Breastfeed Med 2020.

 

การใช้ลููกประคบลดการตึงคัดเต้านม

        มารดาที่มีอาการตึงคัดเต้านม จะรู้สึกตึง คัด แน่น ปวด และอาจมีไข้ต่ำ ๆ การระบายน้ำนมโดยการบีบน้ำนมด้วยมือ และการใช้ลูกประคบประคบร้อนที่เต้านม จะช่วยลดการตึงคัดและอาการปวด ทำให้มารดารู้สึกสบายขึ้นได้

ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษา COVID-19 กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่พบยาที่ได้รับการยืนยันว่าใช้รักษาโรค COVID-19 ได้ แต่ก็มีความพยายามจะใช้ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสตัวอื่นมาใช้ในการรักษาในผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง ในประเทศไทยมีการใช้ยา Darunavir ร่วมกับ Ritonavir หรือ Lopinavir ซึ่งหากมองถึงผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ยา Darunavir นี้ได้ใช้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งในประเทศที่มีความพร้อมจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นพบว่า จึงขาดข้อมูลของระดับยาในทารกที่มารดารับประทานยานี้ในระหว่างการให้นมลูก แต่ในประเทศที่ยังมีการแนะนำให้มารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีกินนมแม่ ก็ไม่พบรายงานอันตรายหรือผลเสียจากการใช้ยานี้ในทารก แต่พบว่าในผู้ป่วยเอชไอวีเพศชายที่ได้รับยานี้จะพบมีเต้านมขยายขึ้น (gynecomastia) ได้1,2 เช่นเดียวกับ Darunavir ยา Ritonavir หรือ Lopinavir ก็ใช้ในผู้ป่วยเอชไอวีเช่นกัน และผู้ป่วยเอชไอวีเพศชายที่ได้รับยานี้จะพบมีเต้านมขยายขึ้นเช่นกัน ยานี้ผ่านน้ำนมในปริมาณที่ต่ำ ไม่พบรายงานอันตรายหรือผลเสียจากการใช้ยานี้ในทารก1-3 นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริกายังมีการใช้ยา Remdesivir, Oseltamivir, Peramivir,  Zanamivir และ Baloxavir ที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ก็ไม่พบรายงานอันตรายหรือผลเสียจากการใช้ยานี้ในทารก4  อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลน้อย การใช้จึงต้องมีการติดตามและเลือกใช้ด้วยความระมัดระวัง

เอกสารอ้างอิง

  1. Garcia-Benayas T, Blanco F, Martin-Carbonero L, et al. Gynecomastia in HIV-infected patients receiving antiretroviral therapy. AIDS Res Hum Retroviruses 2003;19:739-41.
  2. Pantanowitz L, Evans D, Gross PD, Dezube BJ. HIV-related gynecomastia. Breast J 2003;9:131-2.
  3. Rezk NL, White N, Bridges AS, et al. Studies on antiretroviral drug concentrations in breast milk: validation of a liquid chromatography-tandem mass spectrometric method for the determination of 7 anti-human immunodeficiency virus medications. Ther Drug Monit 2008;30:611-9.
  4. Anderson PO. Breastfeeding and Respiratory Antivirals: Coronavirus and Influenza. Breastfeed Med 2020;15:128.

ทารกตัวเหลืองมีผลต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            หลังคลอด หากมีการตรวจพบว่า ทารกตัวเหลืองมักมีผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เนื่องจากสาเหตุของทารกตัวเหลือง อาจเกิดการมีหมู่เลือดของแม่และลูกไม่เข้ากัน โรค G6PD ความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกที่มีภาวะอุดตันของทางเดินน้ำดีหรือทางเดินอาหาร การที่ทารกกินนมแม่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นอันตราย และทารกตัวเหลืองจากนมแม่ที่ไม่มีอันตราย โดยในการดูแลรักษาต้องตรวจสอบว่า อาการตัวเหลืองของทารกเกิดจากสาเหตุที่เป็นอันตรายหรือไม่ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยของทารก และหากพบทารกมีอาการตัวเหลืองมาก จะมีแนวทางการรักษาโดยการส่องไฟ หรือทำการถ่ายเลือดเพื่อลดสารเหลือง โดยมีการศึกษาพบว่า ถ้าทารกมีค่าสารเหลืองมากกว่า 12 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร จะสัมพันธ์กับการเกิดผลเสียต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1  ซึ่งน่าจะเป็นการแยกทารกไปรักษาหรือการมีกระบวนการที่ต้องถ่ายเลือดนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง

  1. Altuntas N. Is There Any Effect of Hyperbilirubinemia on Breastfeeding? If Any, at Which Level? Breastfeed Med 2020;15:29-34.

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาที่มีอายุมาก

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                มารดาที่มีอายุมากจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีโรคประจำตัว ซึ่งโรคประจำตัวที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งการที่มารดามีโรคประจำตัวจะทำให้มารดามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนในระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอดได้สูงขึ้น โดยระหว่างการตั้งครรภ์มารดาจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตร ความพิการของทารก และภาวะครรภ์เป็นพิษสูงขึ้น ผลของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อย ทารกแรกเกิดคลอดยากจากทารกแรกเกิดตัวโต โอกาสที่ต้องมีความจำเป็นในการใช้หัตถการในการช่วยคลอด คือ การใช้คีมช่วยคลอดหรือการใช้เครื่องดูดสุญญากาศ และการผ่าตัดคลอดสูงขึ้น ทำให้โอกาสในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช้า1,2 ส่งผลเสียต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

                อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสำคัญและมีผลต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า ดังนั้น การที่มารดามีความตั้งใจ เอาใจใส่ในการวางแผนดูแลโรคประจำตัวให้มีความพร้อมที่จะตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มโดยได้รับการดูแลระหว่างแพทย์ที่ดูแลโรคประจำตัวของมารดาและสูติแพทย์ ซึ่งจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์และการคลอด ลดการผ่าตัดคลอดและการใช้หัตถการที่ไม่จำเป็น ทำให้การเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอดเริ่มต้นได้เร็ว ซึ่งจะมีผลดีต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

                ในตัวปัจจัยเรื่องอายุของมารดาที่อายุมากขึ้น จะมีข้อที่เป็นส่วนดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เหมือนกัน ได้แก่ มารดามักจะมีความพร้อมทางด้านเศรษฐานะและมีการวางแผนที่ดีสำหรับการตั้งครรภ์และการคลอด มีความรู้ความใส่ใจและทัศนคติที่ดีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความเป็นผู้ใหญ่ที่อดทน พยายามและมีความเชื่อมั่นในตนเองว่าสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ในส่วนนี้จะส่งผลดีต่ออัตราและระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย3 แต่ในส่วนที่ต้องคำนึงถึงไปพร้อม ๆ กันคือ ขณะที่อายุที่มากขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการมีโรคประจำตัวดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น4

เอกสารอ้างอิง

  1. Woldeamanuel BT. Trends and factors associated to early initiation of breastfeeding, exclusive breastfeeding and duration of breastfeeding in Ethiopia: evidence from the Ethiopia Demographic and Health Survey 2016. Int Breastfeed J 2020;15:3.
  2. Taha Z, Ali Hassan A, Wikkeling-Scott L, Papandreou D. Prevalence and Associated Factors of Caesarean Section and its Impact on Early Initiation of Breastfeeding in Abu Dhabi, United Arab Emirates. Nutrients 2019;11.
  3. Hegazi MA, Allebdi M, Almohammadi M, Alnafie A, Al-Hazmi L, Alyoubi S. Factors associated with exclusive breastfeeding in relation to knowledge, attitude and practice of breastfeeding mothers in Rabigh community, Western Saudi Arabia. World J Pediatr 2019;15:601-9.
  4. Alzaheb RA. A Review of the Factors Associated With the Timely Initiation of Breastfeeding and Exclusive Breastfeeding in the Middle East. Clin Med Insights Pediatr 2017;11:1179556517748912.