คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การผ่าตัดคลอด อุปสรรคของการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               วิธีการคลอดบุตรเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มารดาที่คลอดปกติทางช่องคลอดจะสามารถเริ่มกระบวนการส่งเสริมให้ลูกได้กินนมแม่ได้เร็วกว่ามารดาที่ผ่าตัดคลอด ดังนั้นเมื่อมีการผ่าตัดคลอดเพิ่มขึ้น การผ่าตัดคลอดจึงถือเป็นอุปสรรคที่พบบ่อยในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ควรหลีกเลี่ยงการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น เนื่องจากกระบวนการในการดูแลการผ่าตัดคลอดมักทำให้การเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำได้ช้ากว่า1 และต้องการการช่วยเหลือในการจัดท่าให้นมลูกมากกว่ามารดาที่คลอดทางช่องคลอด นอกจากนี้การผ่าตัดคลอดยังมีความเสี่ยงในการมีน้ำนมมาช้า 2.40 เท่า (95%CI 1.28-4.51)2 อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดาสามารถเริ่มให้นมลูกได้แล้ว วิธีการคลอดพบว่าไม่มีผลต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่3-5

เอกสารอ้างอิง

  1. Chen C, Yan Y, Gao X, et al. Influences of Cesarean Delivery on Breastfeeding Practices and Duration: A Prospective Cohort Study. J Hum Lact 2018;34:526-34.
  2. Scott JA, Binns CW, Oddy WH. Predictors of delayed onset of lactation. Matern Child Nutr 2007;3:186-93.
  3. Dennis CL. Breastfeeding initiation and duration: a 1990-2000 literature review. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2002;31:12-32.
  4. Scott JA, Landers MC, Hughes RM, Binns CW. Factors associated with breastfeeding at discharge and duration of breastfeeding. J Paediatr Child Health 2001;37:254-61.
  5. Cernadas JM, Noceda G, Barrera L, Martinez AM, Garsd A. Maternal and perinatal factors influencing the duration of exclusive breastfeeding during the first 6 months of life. J Hum Lact 2003;19:136-44.

การตรวจหัวนมและเต้านมของมารดา

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              ในระหว่างฝากครรภ์ควรมีการตรวจเต้านมและหัวนมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยทั่วไปแล้วแม้ว่าเต้านมของมารดาจะมีความแตกต่างกันในขนาด ความยาวของหัวนม และความกว้างของลานนม แต่มารดาส่วนใหญ่สามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ หากมารดากังวลว่าเต้านมหรือหัวนมจะเหมาะสมสำหรับการให้นมแม่หรือไม่? บุคลากรทางการแพทย์ควรตรวจเต้านมและหัวนมพร้อมให้ความมั่นใจกับมารดาถึงขั้นตอนการดูแลและส่งเสริมให้มารดาให้นมลูกได้

             องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำในเรื่องการตรวจความยาวหัวนมในระหว่างการฝากครรภ์เนื่องจากการตัดสินว่ามารดามีความยาวหัวนมสั้นอาจลดความเชื่อมั่นของมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความยาวของหัวนมมารดาสามารถเพิ่มขึ้นได้ระหว่างการเริ่มตั้งครรภ์จนถึงใกล้คลอดประมาณ 2 มิลลิเมตร1 ร่วมกับในการดูดนมทารกจะอ้าปากอมหัวนมและลานนมซึ่งลานนมที่นุ่มจะยืดยาวเข้าไปในปากทารก ทำให้ทารกสามารถดูดนมแม่จากเต้าได้แม้จะมีหัวนมที่สั้น      แต่ในประเทศไทยยังมีการตรวจประเมินเต้านมและความยาวหัวนมในขั้นตอนมาตรฐานของการฝากครรภ์ของกระทรวงสาธารณสุข   ซึ่งมีการศึกษาพบว่า    หากหัวนมมารดาในระยะหลังคลอดมากกว่า 7 มิลลิเมตรจะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่า2     การใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม (nipple puller) สามารถเพิ่มความยาวหัวนมได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มความยาวหัวนมจากในไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์จนถึงระยะหลังคลอดได้ราว 4 เซนติเมตรโดยไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม3      นอกจากนี้ การใช้ปทุมแก้วใส่ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์ในมารดาที่มีหัวนมสั้นกว่า 7 มิลลิเมตรจะทำให้ความยาวหัวนมเพิ่มขึ้นได้โดยมีความปลอดภัยและมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงขึ้น4 และ ดังนั้นการตรวจเต้านมและหัวนมทำได้ในระหว่างการฝากครรภ์ แต่ไม่ควรตัดสินมารดาว่ามารดามีปัญหาหรือความผิดปกติของหัวนม ควรให้ความเห็นว่ามารดาอาจสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้       แต่จะมีโอกาสสำเร็จสูงขึ้นหากมีการเตรียมตัวและการปฏิบัติที่เหมาะสมหากพบมารดาที่มีหัวนมสั้นหรือหัวนมบอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Thanaboonyawat I, Chanprapaph P, Lattalapkul J, Rongluen S. Pilot study of normal development of nipples during pregnancy. J Hum Lact 2013;29:480-3.
  2. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.
  3. Baiya N, Ketsuwan S, Thana S, Puapompong P. Outcome of nipple puller use during antenatal care in short nipple pregnant women. Thai J Obstet and Gynaecol 2018;26:96-102.
  4. Chanprapaph P, Luttarapakul J, Siribariruck S, Boonyawanichkul S. Outcome of non-protractile nipple correction with breast cups in pregnant women: a randomized controlled trial. Breastfeed Med 2013;8:408-12.

การเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  คำถามที่คุณแม่ต้องตอบก่อนที่จะเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือ คุณแม่ต้องรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่? และควรเริ่มการเรียนรู้และมีการดูแลส่งเสริมการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่เมื่อไร?  สิ่งนี้แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์อาจจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือให้คำตอบกับมารดาได้ มารดาควรเริ่มมาพบแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์เมื่อตั้งทราบว่าตั้งครรภ์ และมีการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องในระยะฝากครรภ์  มารดาต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายและการปฏิบัติตัวให้เหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์ แต่สิ่งที่ต้องเริ่มเตรียมมารดาสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คือควรมีการเริ่มอธิบายให้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์  อย่างไรก็ตาม ควรมีการสอบถามมารดา โดยเปิดโอกาสให้มารดาได้ตัดสินใจในเรื่องของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเตรียมขั้นตอนต่าง ๆ  เพื่อให้มารดามีความพร้อมในการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 

น้ำนมเหลืองดีไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                 น้ำนมเหลือง (colostrum) ฟังจากชื่อแล้วดูไม่ค่อยดี ทั้งที่จริง ๆ แล้วน้ำนมเหลือง ควรจะใช้คำเรียกที่เหมาะสมกว่าคือ หัวน้ำนม เพราะเป็นน้ำนมในระยะแรกที่แม้มีปริมาณน้อยแต่มีภูมิคุ้มกันสูง ซึ่งหัวน้ำนมจะพบใน 1-3 วันแรกหลังคลอดเท่านั้น หลังจากนั้นองค์ประกอบของน้ำนมจะเปลี่ยนแปลงไป มีปริมาณน้ำตาลแลคโตสสูงขึ้น เปลี่ยนเป็นสีขาวและเป็นน้ำนมปกติประมาณ 10-14 วันหลังคลอด การสร้างน้ำนมในระยะแรกจะสัมพันธ์กับฮอร์โมนเป็นหลัก1 แต่เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นน้ำนมปกติแล้ว การสร้างน้ำนมจะขึ้นอยู่กับการดูดนมจนเกลี้ยงเต้าของทารก การที่มีระดับอินซูลินที่สูงซึ่งจะควบคุมเมตาบอริซึมของน้ำตาลได้ดีเป็นปัจจัยที่ทำให้การสร้างน้ำนมระยะแรกเกิดได้เร็วกว่า2 ขณะที่มารดาที่มีความเครียดในระหว่างการคลอดมีผลต่อการน้ำนมมาช้า3

เอกสารอ้างอิง

  1. Kulski JK, Hartmann PE, Martin JD, Smith M. Effects of bromocriptine mesylate on the composition of the mammary secretion in non-breast-feeding women. Obstet Gynecol 1978;52:38-42.
  2. Nommsen-Rivers LA, Dolan LM, Huang B. Timing of stage II lactogenesis is predicted by antenatal metabolic health in a cohort of primiparas. Breastfeed Med 2012;7:43-9.
  3. Dewey KG. Maternal and fetal stress are associated with impaired lactogenesis in humans. J Nutr 2001;131:3012S-5S.

ขนาดของเต้านมนั้นสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไหม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า ขนาดของเต้านมนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เต้านม ส่วนในการสร้างน้ำนมนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณต่อมสร้างน้ำนม โดยทั่วไปต่อมน้ำนมในมารดาที่เต้านมเล็กหรือใหญ่มักเริ่มต้นเท่ากัน และเต้านมของมารดามักดีและเหมาะสมที่สุดสำหรับลูกตนเองเสมอในการให้นมแม่ จากการเต้านมของมารดามีความหลากหลายในเรื่องขนาด มารดาที่มีขนาดเต้านมเล็กอาจมีความวิตกกังวลว่าตนเองจะให้นมลูกเพียงพอไหม การให้ความเข้าใจกับมารดาในเรื่องเต้านมนั้นมีความสำคัญ ควรชี้ให้เห็นว่า ปริมาณของน้ำนมของมารดาไม่ได้ขึ้นกับขนาดของเต้านม และขนาดของเต้านมที่เล็กไม่มีผลต่อการมาช้าของน้ำนม1 และไม่ควรใช้คำพูดที่วิพากย์ว่า “เต้านมเป็นปัญหา” จะทำให้มารดาตื่นตระหนกและวิตกกังวลได้ 2

เอกสารอ้างอิง

  1. Nommsen-Rivers LA, Chantry CJ, Peerson JM, Cohen RJ, Dewey KG. Delayed onset of lactogenesis among first-time mothers is related to maternal obesity and factors associated with ineffective breastfeeding. Am J Clin Nutr 2010;92:574-84.
  2. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.