คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การให้ญาติช่วยดูแลมารดาขณะรอคลอด มีประโยชน์หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                    การจัดให้สามีหรือญาติที่ใกล้ชิดสามารถอยู่ให้กำลังใจและดูแลในระยะแรกของการคลอดได้ จะส่งผลดีต่อการคลอด โดยการให้มีเพื่อนอยู่ด้วยระหว่างการรอคลอดและคลอด มีประโยชน์ต่อมารดาโดยอาจช่วยนวดซึ่งสามารถลดความเจ็บปวดที่รุนแรงจากการคลอด1  ช่วยสนับสนุนในการเคลื่อนไหวของมารดาซึ่งจะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้น2 ลดความเครียดของมารดา ลดความจำเป็นในความต้องการในการใช้หัตถการทางการแพทย์ ช่วยให้การรอคลอดและการคลอดเร็วขึ้น และเพิ่มความมั่นใจในตนเองของมารดาในด้านร่างกายและในด้านความสามารถในการคลอด และช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดแก่ทารก ได้แก่ เพิ่มการตื่นตัวของทารกจากการที่มารดาได้รับยาแก้ปวดลดลง และลดอาการตัวเย็น (hypothermia) และภาวะน้ำตาลต่ำของทารกเนื่องจากทารกมีความเครียดน้อยกว่าจึงใช้พลังงานน้อยกว่า ซึ่งจะช่วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกและช่วยในการให้นมแม่ได้บ่อยขึ้น พร้อมทั้งสร้างความผูกพันระหว่างมารดากับทารกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม การเตรียมความพร้อมให้ญาติที่อยู่ช่วยดูแลในขณะรอคลอดให้มีทักษะและความรู้ที่จะช่วยเหลือมารดาได้อย่างเหมาะสม ก็ยังมีความจำเป็นด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. Taghinejad H, Delpisheh A, Suhrabi Z. Comparison between massage and music therapies to relieve the severity of labor pain. Womens Health (Lond Engl) 2010;6:377-81.
  2. Read JA, Miller FC, Paul RH. Randomized trial of ambulation versus oxytocin for labor enhancement: a preliminary report. Am J Obstet Gynecol 1981;139:669-72.

 

การให้น้ำเกลือแก่มารดาขณะรอคลอด จำเป็นหรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การให้น้ำเกลือแก่มารดาขณะรอคลอดนั้น จะได้ประโยชน์ในมารดาที่ต้องงดน้ำงดอาหาร เนื่องจากน้ำเกลือที่ให้มักมีส่วนผสมของน้ำตาลที่ช่วยให้พลังงานแก่มารดา อย่างไรก็ตาม หากงดน้ำงดอาหารนาน พลังงานที่ได้จากน้ำตาลที่มีอยู่ในน้ำเกลือมักไม่เพียงพอ จึงอาจเกิดผลเสียต่อมารดาได้ ประโยชน์อีกส่วนหนึ่งคือในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงสูง อาจจำเป็นต้องมีการให้ยาหรือให้สารน้ำกรณีที่มีภาวะฉุกเฉิน ซึ่งการมีสายน้ำเกลือจะช่วยให้สามารถให้ยาหรือสารน้ำได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีสารน้ำเกลือที่ต่อกับเส้นเลือดอยู่แล้ว แต่ข้อเสียของการมีสายน้ำเกลือคือ การจำกัดการเคลื่อนไหวของมารดา ทำให้เคลื่อนไหวลำบาก และอาจเพิ่มความเครียดให้กับมารดาได้ ดังนั้น ข้อแนะนำจึงควรพิจารณาตามความเสี่ยงของมารดา หากมารดามีความเสี่ยงต่ำ อยู่ในระยะเริ่มต้นของการคลอดต้องใช้เวลาอีกนาน การรับประทานอาหารว่างและน้ำทำได้ การให้น้ำเกลืออาจไม่มีความจำเป็น สำหรับมารดาที่มีความเสี่ยงในการคลอดสูงอาจพิจารณาเปิดเส้นเลือดโดยมีสายหล่อสารละลายลิ่มเลือด (heparin lock) ไว้เนื่องจากจะรบกวนการเคลื่อนไหวของมารดาน้อยกว่า หรือาจพิจารณาให้น้ำเกลือหรือให้สารที่ช่วยให้พลังงานแก่มารดาในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงสูง และต้องงดน้ำงดอาหารชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเป็นการดูแลมารดาตามความจำเป็นอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าการให้สารน้ำที่มากเกินไปอาจเกิดภาวะไม่สมดุลของอิเล็คโตรไลท์ ทำให้เกิดภาวะน้ำเกินของทารกในครรภ์และน้ำหนักทารกลดลงมากจากการที่ร่างกายขับน้ำที่เกินออกในช่วงหลังการคลอดได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. ภาวิน พัวพรพงษ์. รอบรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. นครนายก: ซี.ที. ดอทคอม; 2558.

การให้มารดารับประทานอาหารว่างและน้ำในระหว่างการรอคลอด ทำได้หรือไม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                  โดยทั่วไป ในห้องคลอดมักจะให้มารดางดน้ำและอาหารระหว่างการรอคลอด การปฏิบัติเช่นนี้จำเป็นหรือไม่ เนื่องจากระหว่างการรอคลอด หากใช้เวลานาน มารดาที่ไม่ได้รับประทานอาหารหรือได้รับเพียงน้ำเกลือที่ให้ที่อาจมีน้ำตาล แต่ก็มักมีพลังงานต่ำ ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของมารดา โดยเฉพาะเมื่อต้องเบ่งคลอด มารดาอาจอ่อนเพลีย เป็นลม หรือหน้ามืดได้ง่าย ตามข้อมูลทางการแพทย์ อัตราการผ่าตัดคลอดที่ควรเป็นคือร้อยละ 15 หากเรางดน้ำและอาหารเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดในมารดา 100 คน จะมีมารดาถึง 85 คนที่ต้องงดน้ำงดอาหารโดยไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้มารดาอ่อนเพลีย มีผลเสียต่อการคลอดและการเริ่มเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ดังนั้น เมื่อการดูแลการคลอดมักพิจารณาดูแลมารดาตามความเสี่ยง ในมารดาที่มีความเสี่ยงต่ำ การจัดบริการอาหารว่างและน้ำ หากมารดาอยู่ในระยะรอคลอดระยะแรก (latent phase) การอนุญาตให้มารดารับประทานอาหารว่างเล็กน้อยหรือน้ำสามารถทำได้1 เนื่องจากการงดน้ำงดอาหารจะสร้างความเครียดให้กับมารดา ห้องคลอดจึงมีความจำเป็นต้องมีการจัดบริการอาหารว่างและน้ำสำหรับมารดาในกรณีนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

เอกสารอ้างอิง

  1. O’Sullivan G, Scrutton M. NPO during labor. Is there any scientific validation? Anesthesiol Clin North America 2003;21:87-98.

บรรยากาศในห้องคลอดที่ช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            สมัยก่อน ห้องคลอดเป็นห้องที่น่ากลัว เพราะนอกจากจะมีเสียงร้องที่เจ็บปวดจากการเจ็บครรภ์ของมารดาแล้ว ยังมีกลิ่นคาวของน้ำคร่ำ และกลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งล้วนแล้วส่งเสริมให้มารดาเกิดความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวลเมื่อต้องเข้าห้องคลอดเพื่อรอคลอด ปัจจุบัน โรงพยาบาลมักมีการปรับปรุงสร้างบรรยากาศ และสร้างความคุ้นเคยให้กับมารดาและครอบครัวโดยการจัดทัวร์ห้องคลอดเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลของมารดาที่ต้องมาคลอด การสร้างบรรยากาศในห้องคลอด ห้องรอคลอดควรมีบรรยากาศที่สงบ เงียบ การเปิดเพลงควรให้เป็นทางเลือกสำหรับมารดาเนื่องจากอาจช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการรอคลอดได้1,2 แสงไฟควรจัดให้สามารถปรับระดับความสว่างได้ หากมารดาต้องการการพักผ่อน อากาศควรอยู่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่ร้อนหรือเย็นจัดเกินไป3 ในห้องรอคลอดไม่ควรมีกลิ่นคาวน้ำคร่ำหรือคาวเลือด สำหรับการใช้กลิ่นเครื่องหอมหรือกลิ่นเทียนหอม ควรเป็นทางเลือกเนื่องจากประโยชน์ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ยังไม่ชัดเจน เมื่อมารดารู้สึกผ่อนคลายจากบรรยากาศที่ดีในห้องคลอด การใช้ยาแก้ปวดระหว่างการคลอดจะลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกหลังคลอด

เอกสารอ้างอิง

  1. Hosseini SE, Bagheri M, Honarparvaran N. Investigating the effect of music on labor pain and progress in the active stage of first labor. Eur Rev Med Pharmacol Sci 2013;17:1479-87.
  2. Phumdoung S, Good M. Music reduces sensation and distress of labor pain. Pain Manag Nurs 2003;4:54-61.
  3. Laptook AR, Watkinson M. Temperature management in the delivery room. Semin Fetal Neonatal Med 2008;13:383-91.

 

 

 

การจัดสถานที่ในห้องคลอดที่ผ่อนคลายช่วยลดสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

               การจัดสถานที่ของห้องคลอดมีความสำคัญต่อการคลอดและการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งพื้นที่ของห้องคลอดควรมีพื้นที่ที่เหมาะสมในการที่บุคลากรทางการแพทย์จะสามารถช่วยเหลือให้มารดาคลอดอย่างปลอดภัยและสามารถช่วยเหลือมารดาและทารกหากพบภาวะแทรกซ้อนได้ โดยมารดาควรอยู่ในห้องคลอดหรือห้องที่จัดไว้สำหรับการรอคลอดและการคลอดในห้องเดียวกัน หากสามารถจัดสถานที่ให้มีการแยกสัดส่วนที่เฉพาะ เป็นส่วนตัว หรือมีบรรยากาศคล้ายที่บ้านทำให้มารดาสงบและผ่อนคลายจะช่วยให้มารดารู้สึกดี จะช่วยให้มารดาผ่อนคลาย และอาจช่วยลดการใช้ยากระตุ้นการหดรัดตัวของมดลูกหรือออกซิโตซินขณะคลอดได้1,2 ซึ่งการที่มารดาผ่อนคลาย สามารถคลอดปกติทางช่องคลอดได้ จะช่วยในการเริ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

เอกสารอ้างอิง

  1. Hodnett ED, Stremler R, Weston JA, McKeever P. Re-conceptualizing the hospital labor room: the PLACE (pregnant and laboring in an ambient clinical environment) pilot trial. Birth 2009;36:159-66.
  2. Nikodem C. Review: a home-like birth environment has beneficial effects on labor and delivery. ACP J Club 2002;137:29.