รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าในประเทศไทย ตัวเลขการติดเชื้อโควิด 19 จะต่ำ แต่ในหลายประเทศทั่วโลก อัตราการติดเชื้อโควิด 19 ยังสูง โดยในกรณีที่มารดามีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อในช่วงที่มีการให้นมบุตร ซึ่งในกรณีที่มีการสงสัยหรือมารดามีการติดเชื้อโควิด 19 โดยไม่มีอาการรุนแรง มารดาต้องมีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมในการให้ลูกกินนมแม่1 ได้แก่
มารดาควรล้างมือบ่อย ๆ ในระหว่างวัน โดยล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์ และควรล้างมือทุกครั้งก่อนการสัมผัสตัวทารก มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยในระหว่างการให้นมลูก โดยที่ ควรเปลี่ยนหน้ากากอนามัยทันทีที่รู้สึกว่าหน้ากากอนามัยชื้น หลังการใช้หน้ากากอนามัยแล้วควรทิ้งทันที และไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสด้านหน้าของหน้ากากอนามัย หากจะถอดหน้ากากอนามัยควรถอดจากบริเวณที่คล้องกับใบหู หรือเป็นแบบสายผูก ให้แก้สายผูกจากทางด้านหลัง หากมารดามีการไอหรือจามใส่กระดาษชำระ ควรทิ้งกระดาษชำระทันที และควรล้างมือทุกครั้งด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้แอลกอฮอล์ หลังการไอหรือจาม มารดาควรทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสใกล้ตัวด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้แอลกอฮอล์
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions :
Breastfeeding and COVID-19 For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด 19 สตรีที่ตั้งครรภ์หรืออยู่ในระยะคลอดอาจพบว่ามีมารดาที่มีความเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อได้ในประเทศที่ยังมีการติดเชื้อในกลุ่มประชากรทั่วไปสูง การให้คำปรึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่มารดาและครอบครัวเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากมารดาและครอบครัวมีความเข้าใจเกี่ยวกับการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโควิด 19 แล้วการตัดสินใจในการที่จะให้ทารกได้กินนมแม่ของมารดา จะมีการตัดสินใจบนความเข้าใจในเรื่องโรคและการติดเชื้อโควิด 19 อย่างเหมาะสม โดยข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกยังมีการแนะนำให้มารดาสามารถให้ลูกกินนมแม่ได้ เนื่องจากประโยชน์หรือข้อดีในการให้ลูกกินนมแม่ยังมีมากหรือสูงกว่าข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากข้อมูลของโควิด 19 ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการให้นมแม่ มารดาควรมีการป้องกันการแพร่เชื้อในระหว่างการให้นมลูกด้วย1
เอกสารอ้างอิง
1. WHO Frequently Asked Questions : Breastfeeding and
COVID-19
For health care workers. J Hum Lact 2020;36:392-6.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าการดำเนินการตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีแนวทางการบริหารจัดการในการดูแลความปลอดภัยของมารดาและทารกอย่างเหมาะสมด้วย
โดยเฉพาะในระหว่างการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อ มีการรายงานการพบการเสียชีวิตของทารกจากภาวะการขาดเลือดไปเลี้ยงร่างกายแบบเฉียบพลัน
(sudden unexpected postnatal collapse) ซึ่งพบน้อย แต่จะส่งผลต่อมารดา ครอบครัว
และบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก รวมถึงในระหว่างการจัดให้มารดาอยู่ร่วมกับทารกตลอด
24 ชั่วโมง หากมีการนอนร่วมเตียงเดียวกันของมารดาและทารก ก็อาจจะพบภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน
(sudden unexplained infant death) ได้1 ดังนั้น สถานพยาบาล
ควรมีมาตรการในการลดหรือป้องกันความเสี่ยงเหล่านี้
โดยการจัดการให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะหลังคลอด และควรมีการดึงมารดาและครอบครัวให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทารก
โดยแจ้งให้มารดาตระหนักว่า หน้าที่ในการดูแลทารกไม่ใช่หน้าที่ของพยาบาลอย่างเดียว มารดาและครอบครัวเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับทารกตลอด
24 ชั่วโมงจำเป็นต้องร่วมสังเกตอาการผิดปกติของทารก และรายงานให้พยาบาลทราบตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม
จะช่วยลดความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนลงได้
โดยอีกมาตรการหนึ่งในการบริหารจัดการดูแลมารดาและทารก
ควรมีการคัดกรองมารดาและทารกตามหลักเกณฑ์ความเสี่ยงในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เพื่อจัดการให้คำแนะนำและมีการดูแลที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น
หากมารดาเป็นมารดาวัยรุ่น ควรหลีกเลี่ยงการให้ทารกนอนร่วมเตียงกับมารดา
เพราะอาจเกิดภาวะการตายของทารกที่ไม่ทราบสาเหตุแบบเฉียบพลัน และแนะนำให้มารดาหลีกเลี่ยงการจับทารกนอนคว่ำ
จะเห็นว่า หากสถานพยาบาลมีนโยบายเน้นเรื่องความปลอดภัยหรือการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม
บุคลากรที่ทำงานในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยความสบายใจ ลดปัญหาเรื่องการฟ้องร้อง
และสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการของสถานพยาบาล
เอกสารอ้างอิง
1. Steinhorn RH. Breastfeeding, Baby-Friendly, and
Safety: Getting the Balance Right. J Pediatr 2020;218:7-8.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
องค์การอนามัยโลกได้กำหนดสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมเป็นสัปดาห์นมแม่โลกเพื่อรณรงค์เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปัจจุบัน อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนทั่วโลกอยู่ที่ร้อยละ 41 โดยอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวหกเดือนในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์กรยูนิเซฟปี พ.ศ. 2558-2559 อยู่ที่ร้อยละ 23 แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า การที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การดำเนินการตามแนวทางบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูกมีความสำคัญ แต่ในสถานพยาบาลหลาย ๆ แห่งในประเทศไทย สิ่งนี้กลับเป็นสิ่งที่ขาดการปฏิบัติหรือปฏิบัติได้ไม่ครบถ้วนหรือขาดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนซึมซับเป็นวัฒนธรรมองค์กร การใช้กลไกสัปดาห์นมแม่โลกที่อยู่ใกล้กับช่วงวันแม่แห่งชาติมาใช้กระตุ้นเตือน เพื่อใช้ปรับปรุงระบบการจัดการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานพยาบาล ซึ่งจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรนมแม่ให้เกิดขึ้นได้ โดยจัดให้มีการนำเสนอข้อมูลตัวชี้วัดต่าง ๆ ในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป จัดให้มีการมอบประกาศนียบัตรชื่นชมบุคลากรหรือหน่วยงานที่มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ดี การเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนวทางในการพัฒนาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เสนอปัญหาหรือเสนอคำถามวิจัยที่จะใช้แก้ปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาระบบการเก็บข้อมูลที่เอื้อต่อการศึกษาวิจัยความรู้ใหม่ หรือเพื่อรับทราบและแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เมื่อมีการจัดให้มีการทบทวนระบบการพัฒนาตนเองเช่นนี้ทุกปีในช่วงสัปดาห์นมแม่โลกหรือในช่วงวันแม่แห่งชาติ วัฒนธรรมองค์กรในเรื่องการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็จะเกิดขึ้นโดยที่จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน1
เอกสารอ้างอิง
1. Spatz DL. Using World Breastfeeding Week to Transform
Institutional Culture. MCN Am J Matern Child Nurs 2020;45:126.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ในปัจจุบัน
ทั่วโลกยังอยู่ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19
บางประเทศยังไม่ผ่านการระบาดรอบแรก ขณะที่บางประเทศมีการระบาดรอบสองที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจไปด้วยพร้อม ๆ กัน ปัญหาการขาดรายได้
คนตกงาน สินค้าบางประเภทขาดแคลน และมีราคาสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็ยังคงได้รับการแนะนำให้มีการปฏิบัติ
เนื่องจากประโยชน์หรือคุณค่าที่จะได้รับจากการที่ทารกกินนมแม่ยังคงสูงกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายแก่ทารก
ดังนั้น ควรถือเป็นโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในช่วงระยะฝากครรภ์
โดยมีการอธิบายมากขึ้นถึงความรู้เรื่องนมแม่ สารอาหารและภูมิคุ้มกันในนมแม่
ประโยชน์ที่จะได้รับจากการกินนมแม่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในมารดาและทารก การปฏิบัติที่จะลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด
19 ในระหว่างการให้ทารกกินนมแม่ ซึ่งความรู้เหล่านี้ควรให้ทั้งแก่มารดาและครอบครัว
เพื่อให้มารดาได้มีครอบครัวที่จะช่วยเสริมแรงสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง
2 สัปดาห์แรกที่มารดาจะต้องมีการปรับตัวร่วมกับทารกในการที่จะรู้ใจกันและให้นมแม่ได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการของทารก1
เอกสารอ้างอิง
1. Spatz DL. Using the Coronavirus Pandemic as an
Opportunity to Address the Use of Human Milk and Breastfeeding as Lifesaving
Medical Interventions. J Obstet Gynecol Neonatal Nurs 2020;49:225-6.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)