คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การเจ็บหัวนมจากการติดเชื้อรา

00026-1-1-o-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การเจ็บหัวนมจากการติดเชื้อราที่หัวนมและลานนม ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จะเห็นลักษณะผิวหนังบริเวณหัวนมหรือลานนมเป็นแผ่นหรือสะเก็ด เป็นมัน โดยอาจพบร่วมกับการพบฝ้าขาวในปาก กระพุ้งแก้ม หรือลิ้นของทารก ลักษณะของอาการเจ็บหัวนมจากการติดเชื้อราจะเกิดขณะหรือหลังทารกดูดนม ในมารดาที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อรา อย่างไรก็ตาม ช่องทางที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อราอาจพบในอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บน้ำนมให้ทารก เช่น หัวนมหลอก ขวดนม สายยาง หรือฝาขวดของเครื่องปั๊มนม ซึ่งการแช่ช่องแข็งของตู้เย็นไม่ได้ทำลายเชื้อราที่อยู่ในรูปยีสต์ แต่โดยทั่วไป การติดเชื้อราจะเกิดผลเสียที่รุนแรงเฉพาะต่อทารกที่คลอดก่อนกำหนดและอ่อนแอเท่านั้น ในกรณีที่มารดามีอาการเจ็บหัวนมร้าวไปที่เต้านมด้วย ควรระมัดระวังการติดเชื้อแบคทีเรียมากกว่า

??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยตรวจสอบว่ามารดามีท่าให้นมที่เหมาะสมก่อนเสมอ เนื่องจากอาการเจ็บหัวนมส่วนใหญ่เป็นจากท่าที่ไม่เหมาะสมมากกว่า แม้ว่าจะมีการติดเชื้อราร่วมด้วย ซึ่งการเห็นแผ่นผิวหนังเป็นมันที่หัวนมและลานนมแล้วสรุปว่ามารดาเจ็บหัวนมจากการติดเชื้อราและรักษาแต่เชื้อราโดยไม่จัดท่าให้นมให้เหมาะสม มารดาจะไม่หายเจ็บหัวนม สำหรับการรักษาเชื้อรา อาจใช้ยา Nystatin หรือ Fluconazole ในการรักษา ร่วมกับกำจัดปัจจัยเสี่ยงจากแหล่งสะสมเชื้อรา โดยการต้มอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับทารกในน้ำเดือดนาน 20 นาที ซึ่งหากรักษาอย่างเหมาะสม อาการเจ็บหัวนมจะหายไปใน 1-2 วัน

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

 

 

 

การเจ็บหัวนมจากเส้นเลือดหดรัดตัวและหัวนมขาดเลือด

breast stimulation2-1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การเจ็บหัวนมจากเส้นเลือดหดรัดตัวและหัวนมขาดเลือด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Raynuad?s phenomenon ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เส้นเลือดที่หัวนมหดรัดตัวและขาดเลือดไปเลี้ยง จึงเกิดอาการปวดจี๊ดขึ้นมาที่หัวนม มักเกิดขึ้นในช่วงหลังจากการให้นม บีบน้ำนมด้วยมือ หรือปั๊มนม ขณะที่หัวเปียกและเย็น มักสังเกตเห็นว่า หัวนมจะเปลี่ยนสีเป็นสีซีดหรือเขียวคล้ำในช่วงสั้นๆ ไม่เป็นสีชมพูเหมือนปกติ อาการปวดส่วนใหญ่จะเกิดที่หัวนมและใกล้หัวนม แต่บางครั้งอาจพบมีอาการปวดร้าวไปที่เต้านมตามเส้นประสาทได้ ในมารดาบางคน อาจเคยมีอาการเจ็บหัวนมลักษณะเดียวกันนี้หลังจากการอาบน้ำเสร็จใหม่ๆ การสังเกตเห็นหัวนมที่ซีดขณะมารดาปวดจะช่วยในการวินิจฉัย และการช่วยให้หัวนมแห้งและอุ่นขึ้นช่วยลดอาการปวดหัวนมลงได้

??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยตรวจสอบว่ามารดามีท่าให้นมที่เหมาะสม หลังจากนั้น แนะนำให้มารดาใส่เสื้อผ้าอุ่นๆ ที่สะดวกจะช่วยให้หัวนมอุ่นหลังให้นมเสร็จ เช็ดหัวนมให้แห้ง หากการแนะนำเบื้องต้น ไม่ดีขึ้น อาการปวดยังเป็นบ่อยและเป็นปัญหา ควรปรึกษาแพทย์ โดยอาจพิจารณาการใช้ยา nifedipine อย่างไรก็ตาม กว่าอาการปวดจะหายไปจะใช้เวลาหลายวัน สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการตรวจสอบสาเหตุของอาการเจ็บหัวนม คือ มีสาเหตุอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เนื่องจากอาการเจ็บหัวนมอาจมีหลายสาเหตุร่วมกันได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

 

 

 

การเจ็บหัวนมจากน้ำนมไหลมากหรือเร็วเกินไป

00024-2-1-o-small

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? การเจ็บหัวนมขณะที่ทารกดูดนม อาจเกิดจากน้ำนมไหลมากหรือเร็วเกินไปได้ โดยทารกจะพยายามควบคุมให้น้ำนมไหลช้าลงด้วยการออกแรงในการงับหัวนมมากขึ้นเพื่อชะลอการไหลของน้ำนม ซึ่งจะทำให้มารดาเจ็บหัวนม อาการนี้มักเกิดเมื่อมีน้ำนมมาดีหรือมากแล้ว โดยทั่วไปจะอยู่ในช่วง 3-4 วันหลังคลอด อาการเจ็บหัวนมมักเป็นมากในช่วงเริ่มกินนมที่น้ำนมในเต้ายังมีมาก ผู้ดูแลหรือมารดาจะสังเกตได้จาก มารดามีน้ำนมมามาก ทารกอาจมีอาการของการกินนมที่มากเกินไป ได้แก่ สำรอกหรือแหวะนม ขับถ่ายบ่อย และน้ำหนักขึ้นเร็ว

??????????????? การช่วยเหลือสำหรับปัญหานี้ เริ่มต้นด้วยการจัดท่าให้นมที่เหมาะสม โดยให้ศีรษะทารกสามารถขยับได้อย่างเหมาะสมเพื่อช่วยควบคุมปริมาณน้ำนมที่ไหลเร็วเกินไป การจัดท่าที่มารดาเอนหลัง นอนเอนหลังหรือนอนราบขณะให้นมจะช่วยไม่ให้น้ำนมไหลเข้าปากทารกเร็วเกินไป หรือการบีบน้ำนมออกก่อนการให้นมและเก็บน้ำนมไว้ก็ช่วยลดความเร็วในการไหลของน้ำนมได้ โดยน้ำนมที่เก็บไว้ อาจนำมาให้ทารกกินได้ เมื่อมารดาไม่สะดวกจะให้นม ซึ่งมารดาสามารถเลือกใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้ เมื่อควบคุมให้น้ำนมไม่ไหลเร็วเกินไปแล้ว การเจ็บหัวนมขณะทารกดูดนมควรหายไป

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

 

 

 

หากหัวนมบอด ทำอย่างไรถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

breast--1

 

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

??????????????? มารดาที่มีหัวนมบอดจะสังเกตได้ว่า หัวนมจะบุ๋มลึกลงไปในเต้านม ซึ่งได้มีการแบ่งลักษณะของหัวนมบอดเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่

? ? ? ? ? ?1.หัวนมบอดจะสามารถจะกระตุ้นให้หัวนมโผล่ออกมาได้ง่ายโดยการให้ทารกดูดนมหรือใช้การปั๊มนม

? ? ? ? ? ?2.หัวนมบอดที่สามารถกระตุ้นให้หัวนมให้หัวนมโผล่ออกมาได้ง่ายโดยการให้ทารกดูดนมหรือจากการปั๊มนม แต่หลังจากหยุดดูดนมหรือปั๊มนม หัวนมจะกลับบุ๋มลงไปเหมือนเดิม

? ? ? ? ? ?3.หัวนมบอดที่การกระตุ้นให้หัวนมโผล่ออกมาทำไม่ได้หรือทำได้ยาก

? ? ? ? ? ? ?ลักษณะของหัวนมในลักษณะที่ 1 และที่ 2 การจัดให้ทารกเข้าเต้าโดยการให้ทารกอมหัวนมและลานนมในลักษณะที่อมหัวนมและลานนมด้านล่างมากกว่าด้านบนจะสามารถช่วยในการให้นมทารกได้ แต่ลักษณะหัวนมบอดในลักษณะที่ 3 การดูดนมของทารกอาจทำไม่ได้ดี การบีบน้ำนมหรือการปั๊มนมอาจมีความจำเป็น ร่วมกับควรมีการประเมินการเจริญเติบโตของทารกร่วมด้วย เพื่อประเมินว่าทารกได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่ จะเห็นว่าลักษณะหัวนมบอดในลักษณะที่ 1และที่ 2 มารดายังสามารถให้นมทารกได้โดยต้องฝึกทักษะการเข้าเต้าที่เหมาะสม ขณะที่หัวนมบอดในลักษณะที่ 3 เป็นลักษณะที่มีความเสี่ยงในการที่ทารกจะได้รับนมไม่เพียงพอและมีเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ควรใส่ใจว่ามารดาให้นมได้หรือไม่และให้นมได้เพียงพอไหม การติดตามน้ำหนักของทารกเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตจะทำให้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและการวางแผนการแก้ไขปัญหาจะทำได้ง่ายกว่า เมื่อทารกเกิดภาวะที่มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเกณฑ์ขั้นรุนแรง

เอกสารอ้างอิง

  1. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.

 

 

หัวนมแบน ลูกจะดูดได้ไหม

milk

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

? ? ? ? ? ? การตรวจเต้านมในมารดาระหว่างการตั้งครรภ์ อาจพบว่ามารดาบางคนมีหัวนมแบนราบไปกับเต้านม ซึ่งมารดาและบุคลากรทางการแพทย์อาจวิตกกังวลว่าจะให้นมลูกได้หรือไม่ แม้ว่าความยาวของหัวนมจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นได้บ้างในระหว่างตั้งครรภ์จนถึงระยะคลอดและหลังคลอด และความยาวหัวนมที่ 7 มิลลิเมตรในระยะหลังคลอดอาจมีความสัมพันธ์กับการเข้าเต้าได้ง่ายกว่า1 แต่หากมารดาเข้าใจถึงลักษณะการเข้าเต้าที่เหมาะ เรียนรู้ และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เรื่องของหัวนมที่แบนราบจะไม่เป็นอุปสรรคในการให้นมแม่
? ? ? ? ? ? ? เริ่มต้นด้วย มารดาลองสังเกตว่าหัวนมที่แบนราบนั้น จะยืดออกอากาศเย็นหรือมีการกระตุ้นหรือไม่ หากยืดออกได้บ้างและความยาวหัวนมเพิ่มได้ถึง 3 มิลลิเมตร ทางเลือกหนึ่งในการช่วยให้ความยาวหัวนมเพิ่มขึ้นคือ การใช้อุปกรณ์ช่วยดึงหัวนม (nipple puller) โดยอุปกรณ์นี้หากมารดาใช้กระตุ้นหัวนมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงไตรมาสสอง เมื่อถึงหลังคลอด ความยาวหัวนมจะเพิ่มขึ้นได้ราว 4 มิลลิเมตร
? ? ? ? ? ? ? แต่หากมารดาไม่ได้ทำการช่วยกระตุ้นความยาวหัวนม การจัดลักษณะการเข้าเต้าที่เหมาะสมก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากในขณะที่ทารกดูดนมแม่ ทารกจะไม่ได้ดูดนมเฉพาะหัวนม แต่จะงับทั้งส่วนของลานนมเข้าไปในปากด้วย การนำที่ทารกเข้าเต้าจากด้านล่างของเต้านมในลักษณะที่ส่งเสริมให้การอมส่วนของลานนมด้านล่างมากกว่าด้านบน (asymmetrical latch) เหงือกและเพดานปากของทารกจะรีดส่วนของหัวนมและลานนมให้ยาวออก ทารกจะงับลานนมและหัวนมได้ติด และทำให้การดูดนมเกิดขึ้นได้2 อีกส่วนหนึ่งคือหากลานนมมีน้ำนมคัดตึง ทารกจะงับส่วนของลานนมได้ยาก การที่มารดาบีบน้ำนมออกก่อนบางส่วนและทำให้ลานนมนุ่มขึ้น การอมหัวนมและลานนมก็จะเกิดได้ดีขึ้น
? ? ? ? ? ? ?ดังนั้น ในมารดาที่มีหัวนมแบนราบสามารถให้นมแม่ได้ หากมีการเตรียมตัวที่ดีและฝึกทักษะปฏิบัติเรื่องการเข้าเต้าที่เหมาะสม
?

เอกสารอ้างอิง
1. Puapornpong P, Raungrongmorakot K, Paritakul P, Ketsuwan S, Wongin S. Nipple length and its relation to success in breastfeeding. J Med Assoc Thai 2013;96 Suppl 1:S1-4.
2. Cadwell K, Turner-Maffei C. Pocket guide for lactation management. 2nd ed. Burlington: Jones & Bartlett Learning 2014.