คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

โรคเบาหวานชนิดที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (type 1 diabetes mellitus)

                สาเหตุเกิดจากมีการทำลายเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ในการสร้างอินซูลิน ทำให้เกิดภาวะขาดอินซูลิน  โดยอาจมีการแบ่งชนิดของโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ละเอียดมากขึ้นเป็นชนิดที่มีการทำลายเซลล์ของตับอ่อนเกิดจากภูมิคุ้มที่ต่อต้านตนเอง (autoimmune) และชนิดที่เกิดการทำลายของเซลล์ตับอ่อนที่ไม่ทราบสาเหตุ  ซึ่งอาการของผู้ป่วยหากพบในช่วงวัยเด็กจะมีอาการนำที่รุนแรงคือ ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวาน (diabetic ketoacidosis หรือ DKA) พบได้บ่อยกว่า โดยอาการของภาวะแทรกซ้อนนี้ ได้แก่ อาเจียน ร่างกายขาดน้ำ หายใจลึกเร็ว สับสน และหมดสติ ร่วมกับตรวจพบภาวะน้ำตาลในเลือดสูง แต่หากผู้ป่วยพบมีอาการครั้งแรกในช่วงวัยผู้ใหญ่ อาการนำที่รุนแรงจะพบน้อยกว่า โดยอาการอาจเหมือนกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้แก่ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางคืน ตามัว และน้ำหนักลด1

เอกสารอ้างอิง

  1. American Diabetes A. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S14-S31.

ชนิดของโรคเบาหวานที่มีมาก่อนการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                       โรคเบาหวานที่มารดาเป็นมาก่อนการตั้งครรภ์ จะแบ่งได้เป็นสองชนิดใหญ่ คือ

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 1
  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2

              ซึ่งในระหว่างการตั้งครรภ์อาจพบได้ในมารดาทั้งที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 ที่เป็นมาก่อนการตั้งครรภ์  มารดาที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีประวัติพบและได้รับการวินิจฉัยในขณะที่มารดามีอายุน้อย ขณะที่มารดาที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะพบและได้รับการวินิจฉัยในมารดาที่มีอายุมาก เนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 1 จะมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมมากกว่า จึงมักพบในมารดาที่มีอายุน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบสัดส่วนอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานที่พบในผู้ใหญ่แล้ว โรคเบาหวานชนิดที่ 2 จะพบมากกว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 1 1

เอกสารอ้างอิง

  1. American Diabetes A. 2. Classification and Diagnosis of Diabetes: Standards of Medical Care in Diabetes-2020. Diabetes Care 2020;43:S14-S31.

การป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดาที่มีโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

                โรคเบาหวานที่มีมาก่อนตั้งครรภ์ หากมีการวางแผนสำหรับการตั้งครรภ์ร่วมกันระหว่างมารดา ครอบครัว และแพทย์ผู้ดูแล จะทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ลงได้ เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมของมารดาให้มีการควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเหมาะสมก่อนการตั้งครรภ์ แต่ในทางปฏิบัติ การดูแลอาจไม่เชื่อมโยงกัน เนื่องจากมารดามักจะได้รับการดูแลโรคเบาหวานจากอายุรแพทย์ ขณะที่หากจะปรึกษาเรื่องการตั้งครรภ์หรือการวางแผนการคุมกำเนิดมักได้รับการดูแลโดยสูติแพทย์ ทำให้ขาดการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ขาดความใส่ใจในการสอบถามมารดาถึงเรื่องการตั้งครรภ์หรือการวางแผนคุมกำเนิดในระหว่างการรักษาโรคเบาหวาน จึงมักพบว่ามารดาที่เป็นโรคเบาหวาน เมื่อมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี มารดาจะเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้มีการวางแผน เนื่องจากโอกาสของการตั้งครรภ์ของมารดาจะเพิ่มขึ้นหากมีการควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี  ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมจึงควรมีการเน้นย้ำในการดูแลสตรีที่มีโรคประจำตัวเสมอว่าสตรีนั้นมีการวางแผนการมีบุตรหรือการตั้งครรภ์ไว้อย่างไร เพื่อให้การตั้งครรภ์เกิดขึ้นเมื่อมีความพร้อม1

เอกสารอ้างอิง

  1. Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดาที่มีโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์ ตอนที่ 4

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

สำหรับผลเสียที่เกิดกับมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์1-3 ได้แก่

  • การแท้ง ซึ่งจะสัมพันธ์กับความผิดปกติและความพิการแต่กำเนิด
  • การคลอดก่อนกำหนด จะเป็นผลมาจากการที่มารดามีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นที่พบในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ภาวะน้ำคร่ำมาก ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า เป็นต้น
  • ความผิดปกติของน้ำคร่ำ จะพบได้ทั้งภาวะน้ำคร่ำมากจากมารดามีน้ำตาลในเลือดสูง และในกรณีที่ทารกมีน้ำคร่ำน้อยจากการที่มารดามีภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงทารก
  • ภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์และภาวะครรภ์เป็นพิษ จะเป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือดที่เกิดจากโรคเบาหวาน
  • การผ่าตัดคลอด ซึ่งจะเพิ่มขึ้นทั้งจากกรณีทารกแรกเกิดตัวโต และกรณีที่ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า
  • การตกเลือดหลังคลอด จะเป็นผลมาจากทารกแรกเกิดตัวโต และมีการคลอดยาก

เอกสารอ้างอิง

  1. Ornoy A. Biomarkers of maternal diabetes and its complication in pregnancy. Reprod Toxicol 2012;34:174-9.
  2. Dixon BR, Nankervis A, Hopkins SC, Cade TJ. Pregnancy outcomes among women with type 1 diabetes mellitus using continuous subcutaneous insulin infusion versus multiple daily injections: A retrospective cohort study. Obstet Med 2019;12:136-42.
  3. Kapur A, McIntyre HD, Hod M. Type 2 Diabetes in Pregnancy. Endocrinol Metab Clin North Am 2019;48:511-31.

 

ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ของมารดาที่มีโรคเบาหวานมาก่อนการตั้งครรภ์ ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

  • ทารกบาดเจ็บจากการคลอดยาก เนื่องจากทารกแรกเกิดตัวโต นอกจากนี้ยังพบทารกคลอดติดไหล่ และพบกระดูกไหปลาร้าหักจากการคลอดยากได้
  • ทารกมีน้ำตาลต่ำ จะพบได้ทั้งในกรณีที่ทารกแรกเกิดตัวโต และทารกที่มีน้ำหนักจากการเจริญเติบโตช้าในครรภ์ การเริ่มให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะแรกหลังคลอดจะช่วยป้องกันภาวะนี้
  • ทารกมีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ (neonatal polycythemia) พบในทารกที่เป็นเบาหวาน และเกิดภาวะการขาดออกซิเจนในครรภ์จากภาวะแทรกซ้อนของหลอดเลือด ทำให้ทารกมีการปรับตัวโดยมีการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้นมาก จะทำให้การไหลเวียนของเลือดจะผิดปกติและเกิดการขาดเลือดได้ ในกรณีที่มีความเข้มข้นของเลือดสูงจนเลือดหนืดมาก นอกจากนี้ การที่ทารกมีเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการตัวเหลืองเพิ่มขึ้นด้วย
  • ทารกต้องย้ายไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤต จากการที่ทารกมีภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่างดังกล่าวแล้วข้างต้น ทำให้มีความเสี่ยงที่ทารกจะได้รับการย้ายไปดูแลที่หอผู้ป่วยทารกวิกฤตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการการดูแลที่ใกล้ชิดหรือสังเกตอาการเฉพาะของภาวะแทรกซ้อนบางอย่าง1

เอกสารอ้างอิง

  1. Mitanchez D, Yzydorczyk C, Siddeek B, Boubred F, Benahmed M, Simeoni U. The offspring of the diabetic mother–short- and long-term implications. Best Pract Res Clin Obstet Gynaecol 2015;29:256-69.