คลังเก็บหมวดหมู่: การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การดูแลการคลอดโดยใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์

การตรวจพิเศษของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

              การตรวจรังไข่ด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง ลักษณะที่บ่งถึงกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะพบรังไข่มีถุงน้ำจำนวนมากโดยที่ไม่พบ dominant follicle ซึ่งจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 มิลลิลิตร หรือตรวจไม่พบ corpus luteum จากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด แต่ลักษณะเหล่านี้อาจพบได้ในวัยรุ่นที่ปกติด้วย จึงไม่ใช้เป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ในวัยรุ่น1

            การตรวจพบฮอร์โมนเพศชายสูง ทำได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยการเจาะเลือดตรวจฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งจะตรวจค่าระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ได้แก่ total testosterone และ free testosterone ซึ่งค่า free testosterone จะช่วยในการวินิจฉัยได้หากค่า total testosterone ไม่สูง

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.

อาการและอาการแสดงของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 3

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

           การมีบุตรยาก การที่สตรีที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะส่งผลทำให้การทำงานของรังไข่ผิดปกติจากการที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง ทำให้การตกไข่ผิดปกติหรือไม่มีการตกไข่ ซึ่งทำให้การมีบุตรยาก

          การมีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก การที่รังไข่ทำงานผิดปกติ ไม่มีการตกไข่ จะส่งผลต่อการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกของสตรีได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว (endometrial hyperplasia) ซึ่งหากไม่มีการปรับสมดุลย์จากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่สร้างจาก corpus luteum จากการตกไข่ จะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้1

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.

อาการและอาการแสดงของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 2

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

          การมีสิว (acne) ลักษณะของการมีสิวที่บ่งถึงการมีภาวะฮอร์โมนเพศชายมากจะเป็นสิวลักษณะที่มีการอุดตัน หรือสิวอักเสบ (acne vulgaris) โดยพบมากกว่า 10 จุดขึ้นไปบนใบหน้า1,2

        การมีประจำเดือนผิดปกติ โดยลักษณะที่ผิดปกติของประจำเดือนที่แสดงการไม่มีไข่ตก ได้แก่ การมีประจำเดือนมาห่าง (oligomenorrhea) คือมีประจำเดือนมาน้อยกว่าปีละ 9 ครั้ง หรือการมีประจำเดือนขาด (amenorrhea) คือมีประจำเดือนขาดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีแรกของการมีประจำเดือนจะพบมีความผิดปกติของประจำเดือนได้บ่อย ดังนั้น ในวัยรุ่นลักษณะของประจำเดือนที่ผิดปกติที่ทำให้สงสัยกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ควรจะมีความผิดปกติของประจำเดือนที่ต่อเนื่องนานสองปี หรือนานหนึ่งปีหากมีอาการร่วมอย่างอื่นที่บ่งถึงกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosenfield RL. The Diagnosis of Polycystic Ovary Syndrome in Adolescents. Pediatrics 2015;136:1154-65.
  2. Ibanez L, Oberfield SE, Witchel S, et al. An International Consortium Update: Pathophysiology, Diagnosis, and Treatment of Polycystic Ovarian Syndrome in Adolescence. Horm Res Paediatr 2017;88:371-95.

อาการและอาการแสดงของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ตอนที่ 1

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

             อาการและลักษณะที่ตรวจพบทางคลินิกของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่จะพบอาการที่แสดงถึงการมีฮอร์โมนเพศชายมาก และ/หรือลักษณะที่บ่งถึงการทำงานของรังไข่ที่ผิดปกติ โดยที่อาการนำที่สตรีจะมาพบแพทย์ ได้แก่

             การมีขนดก (hirsutism) การที่จะให้การวินิจฉัยว่ามีขนดกที่แสดงถึงการมีฮอร์โมนเพศชายมากนั้น จะมีความแตกต่างกันในเกณฑ์การวินิจฉัยในแต่ละเชื้อชาติ โดยจะใช้การให้คะแนนการมีขนดกของเฟอร์ริแมนและกอลล์เวย์ที่มีการปรับแต่ง (modified Ferriman-Gallwey hirsutism scoring system) ในการตัดสิน ซึ่งจะมีบริเวณที่ประเมินการมีขนดก 9 แห่ง ประกอบด้วย บริเวณเหนือริมฝีปากบน คาง หลังส่วนบน หลังส่วนล่าง หน้าอก หน้าท้องส่วนบน หน้าท้องส่วนล่าง ท่อนแขนส่วนบน และต้นขา โดยแต่ละบริเวณจะมีการให้คะแนนตั้งแต่ 0 ถึง 4  ซึ่งคะแนน 0 หมายถึงไม่พบขนเส้นใหญ่และหยาบ (terminal hair) เลย ขณะที่คะแนน 4 หมายถึงมีขนเส้นใหญ่และหยาบจำนวนมาก คะแนนเต็มของเกณฑ์คือ 36 ในสหรัฐอเมริกาใช้จุดตัดการมีขนดกคือคะแนนตั้งแต่ 8 ขึ้นไป สำหรับในคนไทยและจีนใช้จุดตัดคะแนนตั้งแต่ 3 ขึ้นไป1

เอกสารอ้างอิง

  1. Escobar-Morreale HF, Carmina E, Dewailly D, et al. Epidemiology, diagnosis and management of hirsutism: a consensus statement by the Androgen Excess and Polycystic Ovary Syndrome Society. Hum Reprod Update 2012;18:146-70.

กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์

            มีการศึกษาว่าปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการเกิดกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ด้วย ซึ่งจะแบ่งรายละเอียดเป็น

  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในครรภ์ การรบกวนหรือมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อการแสดงออกของยีนเมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการเหนือพันธุกรรม (epigenetic) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมในครรภ์ที่ส่งผลต่อการเกิดกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ได้แก่
    • การที่ทารกเพศหญิงได้รับฮอร์โมนเพศชายตั้งแต่อยู่ในครรภ์ (congenital virilization) ซึ่งตัวอย่างของการเกิดสภาวะนี้จะพบได้ในทารกเพศหญิงที่มี congenital adrenal hyperplasia โดยการที่ทารกได้รับสภาพแวดล้อมที่มีฮอร์โมนเพศชายสูง จะกระตุ้นกระบวนการเหนือพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้พบทารกที่มีกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่เมื่อทารกเจริญย่างเข้าสู่วัยรุ่น1-3
    • ทารกที่ขาดสารอาหารในครรภ์ การที่ทารกขาดสารอาหารในครรภ์จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการเมตาบอลิก โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่4-6
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมหลังการเกิด ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นส่วนที่ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ซึ่งได้แก่ ภาวะการมีอินซูลินมากจากการมีความต้านทานต่ออินซูลิน (insulin resistant hyperinsulinism)1 การมีฮอร์โมนเพศชายสูง (hyperandrogenism)5,7 และการได้รับสาร Bisphenol A ซึ่งได้รับสารนี้จากการปนเปื้อนในภาชนะพลาสติกที่ใส่อาหารหรือน้ำดื่ม8,9

เอกสารอ้างอิง

  1. Rosenfield RL, Ehrmann DA. The Pathogenesis of Polycystic Ovary Syndrome (PCOS): The Hypothesis of PCOS as Functional Ovarian Hyperandrogenism Revisited. Endocr Rev 2016;37:467-520.
  2. Homburg R, Gudi A, Shah A, A ML. A novel method to demonstrate that pregnant women with polycystic ovary syndrome hyper-expose their fetus to androgens as a possible stepping stone for the developmental theory of PCOS. A pilot study. Reprod Biol Endocrinol 2017;15:61.
  3. Kosidou K, Dalman C, Widman L, et al. Maternal polycystic ovary syndrome and the risk of autism spectrum disorders in the offspring: a population-based nationwide study in Sweden. Mol Psychiatry 2016;21:1441-8.
  4. Escobar-Morreale HF. Polycystic ovary syndrome: definition, aetiology, diagnosis and treatment. Nat Rev Endocrinol 2018;14:270-84.
  5. Ibanez L, Potau N, Francois I, de Zegher F. Precocious pubarche, hyperinsulinism, and ovarian hyperandrogenism in girls: relation to reduced fetal growth. J Clin Endocrinol Metab 1998;83:3558-62.
  6. Fulghesu AM, Manca R, Loi S, Fruzzetti F. Insulin resistance and hyperandrogenism have no substantive association with birth weight in adolescents with polycystic ovary syndrome. Fertil Steril 2015;103:808-14.
  7. De Bortoli J, Amir LH. Is onset of lactation delayed in women with diabetes in pregnancy? A systematic review. Diabet Med 2016;33:17-24.
  8. Rutkowska AZ, Diamanti-Kandarakis E. Polycystic ovary syndrome and environmental toxins. Fertil Steril 2016;106:948-58.
  9. Hewlett M, Chow E, Aschengrau A, Mahalingaiah S. Prenatal Exposure to Endocrine Disruptors: A Developmental Etiology for Polycystic Ovary Syndrome. Reprod Sci 2017;24:19-27.