รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
แม้ว่าปกติแล้วร่างกายของมารดาจะผลิตน้ำนมได้ตามธรรมชาติของการดำรงเผ่าพันธุ์
แต่เทคนิคการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นทักษะที่ได้จากการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและมีการฝึกฝน
บิดามารดาส่วนมากต้องการการช่วยเหลือโดยการสนับสนุนข้อมูลในเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์
และต้องการที่จะทราบโอกาสที่มารดาจะสามารถเข้าเต้าพร้อมกับมีความสามารถในประเมินการกินนมแม่อย่างมีประสิทธิภาพของทารกได้ในระยะหลังคลอด
การช่วยให้บิดามารดามีความรู้และทักษะเหล่านี้จะทำให้ครอบครัวมีความเชื่อมั่นที่จะให้นมลูกด้วยความสบายใจและมีความพร้อมที่จะสัมผัสกับความรู้สึกของการเป็นพ่อแม่ที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ทั้งบิดามารดาจะได้รับ
กุญแจสำคัญในการช่วยเหลือครอบครัวใหม่ที่เริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับกายวิภาคพื้นฐานของเต้านม สรีรวิทยาของกระบวนการสร้างและระบายน้ำนม โดยที่การให้ความรู้นี้จะมุ่งเน้นไปที่ศาสตร์ของการให้นมบุตรและทักษะทางคลินิกในทางปฏิบัติที่จะทำให้มารดาสามารถจะเริ่มต้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ พร้อมกับมีการประสานของความรู้ทั้งทางด้านสูติศาสตร์และกุมารเวชศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อจัดการให้การดูแลมารดาในระยะหลังคลอดและทารกแรกเกิด ซึ่งผลของการดูแลนั้นจะกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะแรกและผลลัพธ์ที่ตามมาของความสำเร็จหรือการหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับข้อที่ควรคำนึงถึงเสมอเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็คือ “มารดาและทารกเป็นหน่วยเดียวกันทางชีววิทยา เมื่อเกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดกับมารดาก็ย่อมเกิดผลต่อการให้นมทารกด้วยรวมทั้งผลกระทบในทางกลับกัน” 1
เอกสารอ้างอิง
1. Naylor AJ, Wester RA. Lactation management self-study
modules, level 1,
fourth edition. In: International
W, ed.2014.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
เป็นที่ทราบกันดีว่า
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
และในมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่จะมีความเสี่ยงที่จะหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร
โดยในมารดาที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักพบว่ามีปัญหาการเข้าเต้ายากได้บ่อย
ซึ่งจะส่งกระทบต่อสุขภาพทางด้านจิตใจของมารดามากขึ้น
การที่บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปช่วยให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหา
ทำให้มารดาสามารถเข้าเต้าและให้นมลูกได้ พบว่าช่วยส่งผลดีต่อภาวะซึมเศร้าของมารดา1
ซึ่งข้อมูลนี้ช่วยย้ำความสัมพันธ์ที่แปรผกผันระหว่างการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของมารดามากขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. Da Silva Tanganhito D, Bick D, Chang YS. Breastfeeding
experiences and perspectives among women with postnatal depression: A
qualitative evidence synthesis. Women Birth 2020;33:231-9.
รศ.นพ.ภาวิน
พัวพรพงษ์
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดนอกจากจะมีความเสี่ยงในการเกิดการหายใจเร็วจากการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์ของปอด
การเกิดเลือดออกในสมอง และภาวะอักเสบของลำไส้แล้ว ยังพบว่ามีความสัมพันธ์การสบฟันที่มีความผิดปกติระดับปานนกลางถึงรุนแรงเพิ่มขึ้น
โดยพบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะช่วยป้องกันและลดการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติได้1 ขณะที่การใช้หัวนมหลอก
(pacifiers) จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดการสบฟันที่ผิดปกติ
ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรสนับสนุนให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดกินนมแม่ เพื่อช่วยในเรื่องภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ทารก
ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดจำนวนวันที่ต้องนอนโรงพยาบาลแล้ว
ยังช่วยป้องกันการสบฟันที่ผิดปกติด้วย
เอกสารอ้างอิง
1. da Rosa DP, Bonow MLM, Goettems ML, et al. The
influence of breastfeeding and pacifier use on the association between preterm
birth and primary-dentition malocclusion: A population-based birth cohort
study. Am J Orthod Dentofacial Orthop 2020;157:754-63.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
ขั้นตอนการให้การดูแลมารดาและทารกมีส่วนสำคัญต่อการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เริ่มตั้งแต่กระบวนการการให้ความรู้แก่มารดาตั้งแต่ในระยะฝากครรภ์ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ในระหว่างการคลอด การให้มารดามีการโอบกอดทารกเนื้อแนบเนื้อและเริ่มต้นการให้ลูกกินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด
และในระยะหลังคลอด การให้มารดาอยู่ร่วมกับทารกตลอด 24 ชั่วโมง การมีการสอนการจัดท่าให้นมลูกที่เหมาะสม
การสอนการบีบเก็บน้ำนมด้วยมือและการเก็บรักษาน้ำนม โดยแนวทางเหล่านี้ จะสัมพันธ์กับการช่วยสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่1
ซึ่งแนวทางการปฏิบัติเหล่านี้จะมีอยู่ในโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก
ดังนั้น หากมารดามีความตั้งใจในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ควรมีการวางแผนที่จะฝากครรภ์และคลอดในโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
เอกสารอ้างอิง
1. Crenshaw JT, Budin WD. Hospital
Care Practices Associated With Exclusive Breastfeeding 3 and 6 Months After
Discharge: A Multisite Study. J Perinat Educ 2020;29:143-51.
รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์
มีการศึกษาในประเทศอิตาลีที่ศึกษาถึงผลในระยะยาวของการอบรมออนไลน์ที่มีต่อทัศนคติและการปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
โดยทำการเก็บข้อมูลจากการออกแบบสอบถามออนไลน์ให้บุคลากรทางการแพทย์ตอบ โดยจะมี 3 ช่วงเวลาของการตอบแบบสอบถามคือ
ก่อนการอบรม หลังการอบรมทันที และหลังการอบรม 1 ปี จากการสำรวจในบุคลากรทางการแพทย์จำนวนทั้งหมด
26009 ราย โดยมีผู้ที่ให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง 3 ช่วงเวลาจำนวน 4582 ราย
ซึ่งผู้ที่ตอบแบบสอบถามอายุเฉลี่ย 37 ปี ส่วนใหญ่ร้อยละ 87 และเป็นพยาบาลและผดุงครรภ์มากที่สุดร้อยละ
62 รองลงมาเป็นแพทย์ร้อยละ 14 เภสัชกรร้อยละ 4
ที่เหลือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาอื่น ๆ
ผลการศึกษาพบว่า การอบรมให้ความรู้ทางออนไลน์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สามารถช่วยเพิ่มทัศนคติและการปฏิบัติในการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของบุคลากรทางการแพทย์ได้ 1 อย่างไรก็ตาม พบว่าทัศนคติและการปฏิบัติในการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่เพิ่มขึ้นหลังการอบรมจะลดลงตามระยะเวลา ดังนั้น ควรมีการกระตุ้นเตือนเพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์คงทัศนคติที่ดีและให้การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยอาจจัดเป็นการให้ความรู้ทุก 2-3 เดือนในลักษณะที่มีรางวัลตอบแทนจากการตอบแบบทดสอบ (quiz) หรือทำเป็นเกมส์ต่อคำ (crossword) ก็น่าจะช่วยได้ และควรจัดให้มีการฟื้นความรู้สม่ำเสมอทุกปี (refresher course)
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจถึงหัวข้อเรื่องที่ต้องการให้มีการจัดอบรมและรูปแบบที่ต้องการให้จัดอบรม พบว่า เรื่องที่ต้องการให้มีการจัดอบรมมากที่สุด (training need) ได้แก่ การใช้ยาในระหว่างการให้นมบุตร ร้อยละ 97 รองลงมา ได้แก่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคลอดก่อนกำหนดร้อยละ 90 และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในมารดาที่ต้องกลับไปทำงานร้อยละ 86 โดยเกือบทุกหัวข้อบุคลากรทางการแพทย์ต้องการให้จัดอบรมออนไลน์ ยกเว้นหัวข้อการจัดท่าให้นมลูก การเข้าเต้า และการดูดนมที่มีประสิทธิภาพของทารก ที่บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องการให้จัดประชุมในรูปแบบเดิม สิ่งนี้สะท้อนถึง ความจำเป็นที่ควรจะต้องจัดรูปแบบการเรียนการสอนหัวข้อ “การจัดท่าให้นมลูก การเข้าเต้า และการดูดนมที่มีประสิทธิภาพของทารก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องมีการฝึกทักษะที่การเรียนออนไลน์ไม่ได้ตอบโจทย์การสร้างทักษะเหล่านี้ให้แก่บุคลากร”
เอกสารอ้างอิง
1. Colaceci S, Zambri F, D’Amore C,
et al. Long-Term Effectiveness of an E-Learning Program in Improving Health
Care Professionals’ Attitudes and Practices on Breastfeeding: A 1-Year Follow-Up
Study. Breastfeed Med 2020;15:254-60.
เรื่องนำทาง
แหล่งความรู้ เกี่ยวกับสูติ-นรีเวช (Obstetrics-Gynecology)